เป็นครั้งแรกที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ของ NASA สามารถตรวจพบและ “ชั่งน้ำหนัก” กาแล็กซีที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 600 ล้านปีหลังจากเกิดบิกแบง และยังมีมวลที่คล้ายกับทางช้างเผือก และยังเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษากาแล็กซีอายุเก่าแก่แห่งนี้ได้อย่างใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
นักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อเล่นให้กับกาแล็กซีแห่งนี้ว่า Firefly Sparkle อยู่ห่างจากโลกไปไกลแสนไกลจนใกล้เคียงกับช่วงเวลาหลังจากการเกิดบิกแบงเพียง 600 ล้านปีเท่านั้น ซึ่งด้วยระยะทางเท่านี้ไม่มีทางเลยที่จะสามารถมองเห็นกาแล็กซีแห่งนี้ได้ แม้แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีศักยภาพสูงอย่างเจมส์ เว็บบ์ก็ยังทำไม่ได้ แต่ต้องขอบคุณที่กาแล็กซีแห่งนี้มีกาแล็กซี MACS J1423 มาบดบังทำหน้าที่เป็นเลนส์ความโน้มถ่วงที่บีบแสงเข้ามาให้กล้องเจมส์ เว็บบ์สามารถถ่ายและวิเคราะห์ข้อมูลของ Firefly Sparkle ได้
ภายในกาแล็กซี Firefly Sparkle ที่เก่าแก่แห่งนี้นักดาราศาสตร์ได้ตรวจจับและพบว่ามันเหมือนกับกระจุกดาวที่กำลังก่อตัว 10 กลุ่ม ก่อตัวเป็นกาแล็กซีแห่งใหม่ ซึ่งจากการตรวจวัดมวลโดยกล้องเจมส์ เว็บบ์ก็ค้นพบว่ากาแล็กซีแห่งนี้มีมวลเท่ากับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบกาแล็กซีที่มีมวลน้อยและสามารถตรวจวัดมวลของกาแล็กซีได้ด้วยความละเอียดสูงระดับนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งหมดต้องขอบคุณเลนส์ความโน้มถ่วงของกาแล็กซีเบื้องหน้าที่บีบแสงจากกาแล็กซีแห่งนี้มายังโลกของเราด้วย
เนื่องจากแสงของกาแล็กซีนั้นผ่านเลนส์ความโน้มถ่วงจาก MACS J1423 ทำให้ภาพของกาแล็กซีเบื้องหลังเหล่านี้บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง ทางทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการจำลองรูปร่างของกาแล็กซีที่แท้จริงและไม่ถูกบิดเบือนขึ้นมา และพบว่ากาแล็กซีแห่งนี้มีลักษณะคล้ายหยดน้ำยาว ภายในมีกระจุกดาวสองกระจุกอยู่ด้านบนและอีกแปดกระจุกอยู่ด้านล่าง รวมเป็น 10 กระจุก ซึ่งแสดงการก่อตัวของกาแล็กซีในยุคแรกเริ่มที่ราวกับภาพหยุดเวลาการก่อกำเนิดของกาแล็กซีเมื่อหลายหมื่นล้านปีก่อนไว้
ข้อมูลจากเจมส์ เว็บบ์เผยว่า Firefly Sparkle เป็นกาแล็กซีขนาดเล็ก ซึ่งจะใช้เวลาอีกหลายพันล้านปีกว่าที่มันจะสร้างรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นมาพร้อมกับมวลที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งนักดาราศาสตร์ยังพบว่าข้าง ๆ กาแล็กซีแห่งนี้ยังอาจจะมีส่วนในการเพิ่มมวลสารของกาแล็กซีแห่งนี้ได้อีกในอนาคตถึงสองกาแล็กซี เพื่อนบ้านทั้งสองนี้อยู่ห่างออกไปเพียง 6,500 และ 42,000 ปีแสง ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของทางช้างเผือกเสียอีก
การค้นพบนี้ช่วยเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาและวิวัฒนาการของจักรวาลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งภาพเหล่านี้ราวกับภาพหยุดเวลาจากอดีตที่ไว้ให้เราใช้ในการศึกษาพัฒนาการก่อกำเนิดกาแล็กซีในยุคแรกเริ่มของเอกภพเทียบกับยุคปัจจุบันได้ดีอีกด้วย
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech