เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนมกราคม 2568
1 กุมภาพันธ์ 2436 : “แบล็ค มารีอา” โรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลก ก่อสร้างเสร็จ
“Black Maria (แบล็ค มารีอา)” โรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลก ถูกสร้างและแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2436 โดย “Thomas Alva Edison (โทมัส อัลวา เอดิสัน)” นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ภาพยนตร์คนหนึ่งของโลก โรงถ่ายภาพยนตร์นี้ตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานทดลองวิทยาศาสตร์ของเขา ที่เมืองเวสต์ออเรนจ์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา
การก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ “Black Maria (แบล็ค มารีอา)” ไม่ได้ยึดหลักสถาปัตยกรรมใด ๆ โดยใช้โครงสร้างที่ทำด้วยไม้ กรุด้วยกระดาษน้ำมัน ทาสีดำทั้งหลัง ติดตั้งอยู่บนแกนหมุน มีล้อรองรับส่วนหัวและท้าย ทำให้สามารถหมุนได้รอบตัว เพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และมีหลังคาที่สามารถเปิดปิดได้ เพื่อรับแสงอาทิตย์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพยนตร์ในยุคนั้น
1 กุมภาพันธ์ 2564 : เกิดเหตุการณ์ “รัฐประหารเมียนมา”
เหตุการณ์ทางการเมือง “รัฐประหารเมียนมา” เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกองทัพเมียนมา (Tatmadaw) ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลาหนึ่งปีและถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาสู่ “พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing)” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ทั้งยังประกาศให้การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) ชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งสูงถึง 396 ที่นั่ง จากทั้งหมด 498 ที่นั่ง ให้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ ภายหลังสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉิน
เหตุการณ์ “รัฐประหารเมียนมา” นี้ เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนพิธีปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ มีการจับกุมตัว “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) รวมทั้ง “ประธานาธิบดี วี่น-มหยิ่น (Win Myint)” และผู้นำคนสำคัญของพรรค NLD
ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ “รัฐประหารเมียนมา” นานาชาติต่างออกมาแสดงท่าที มีทั้งการประณาม การแสดงความกังวล และการวางตัวเป็นกลาง ขณะที่ประชาชนในหลายเมืองทั่วเมียนมาได้ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทหาร
แม้จะมีการจัดการกับผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก บางคนถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี แต่ประชาชนก็ยังออกมาชุมนุมประท้วงและมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ กองทัพชาติพันธุ์ในเมียนมาได้ประกาศจุดยืนเพื่อเคียงข้างประชาชนและจัดตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหาร ซึ่งปัญหาความขัดแย้งในเมียนมานี้ ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
2 กุมภาพันธ์ : วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)
ด้วยการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีจึงเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)” เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการดูแลรักษา สนับสนุนและฟื้นฟูระบบนิเวศที่มีคุณค่าต่อพวกเราทุกคน
“พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands)” เป็นแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำหรือชุ่มไปด้วยน้ำตามฤดูกาล เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของพืชและสัตว์นานาชนิด เหมาะกับการเป็นพื้นที่ทำรังวางไข่ แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความหลากหลายมากที่สุด
ทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายหน้าดิน ช่วยควบคุมการไหลเวียนของน้ำไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน และคงความสมดุลของทรัพยากรทางชีวภาพไว้
นอกจากนี้ “พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands)” ยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ สามารถเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่าง นก นาก แมวดาว รวมถึง “เสือปลา” สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นบ้านหลังแรกและหลังเดียวเท่านั้น
2 กุมภาพันธ์ : วันเกษตรแห่งชาติ
ในช่วงปี 2453 - 2454 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสนับสนุนและริเริ่มการจัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชยการ ซึ่งในปัจจุบันคือ “งานเกษตรแห่งชาติ” ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อโครงการ โดยมีการจัดแสดงงานการพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มเติมเข้ามา และเปลี่ยนชื่องานเป็น “งานวันเกษตร”
ต่อมารัฐบาลได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน “วันเกษตรแห่งชาติ” ขึ้น ระหว่างวันที่ 3 - 4 มกราคม 2491 โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งส่วนราชการทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานต่อเนื่องเรื่อยมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เป็นประจำทุกปี
2 กุมภาพันธ์ : วันนักประดิษฐ์
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนลงในน้ำ
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์
ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
3 กุมภาพันธ์ : วันทหารผ่านศึก
ภายหลังปี 2488 ทหารที่ได้รับการปลดระวางหลังจากที่ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจำนวนมาก ประสบปัญหาเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้ร่วมจัดตั้งมูลนิธิองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อช่วยเหลือและให้การสงเคราะห์แก่ทหาร โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2491 จึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันทหารผ่านศึก”
ต่อมาในปี 2511 ภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่นำโดย “ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร” ได้ริเริ่มการจัดทำ “ดอกป๊อปปี้ (Poppy)” หรือ “ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก” ออกจำหน่าย เพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา โดยสีแดงของ “ดอกป๊อปปี้ (Poppy)” สื่อถึงเลือดของเหล่าทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ ปกป้องแผ่นดินด้วยความกล้าหาญ เหมือนสีแดงของกลีบดอกที่ปกคลุมผิวดิน
เรื่องราวของ “ดอกป๊อปปี้ (Poppy)” คาดว่าน่าจะมีที่มาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมรภูมิพลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ระหว่างสัมพันธมิตรและเยอรมนี ซึ่งครั้งนั้นทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด และเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ “ดอกป๊อปปี้ (Poppy)” บานสะพรั่งท่ามกลางหลุมฝังศพทหาร
“จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก” ผู้บัญชาการรบ จึงใช้ “ดอกป๊อปปี้ (Poppy)” เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก เพื่อระลึกถึงผู้เสียสละเพื่อชาติ อังกฤษจึงได้ถือเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 อันเป็นวันลงนามสงบศึกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี เป็นวันที่ระลึกถึงทหารผ่านศึก
สำหรับประเทศไทย ใน “วันทหารผ่านศึก” ของทุกปี จะมีพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อคารวะดวงวิญญาณของทหารหาญและวีรชนที่เสียชีวิตในสงครามข้อพิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส รวมทั้งทหารที่เสียชีวิตในสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) และสงครามเกาหลี
4 กุมภาพันธ์ : วันมะเร็งโลก
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)” เพื่อบรรเทาปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
“มะเร็ง” คือโรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปถึงปีละ 8,200,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนอายุระหว่าง 30 - 69 ปี ถึง 4 ล้านคน ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สะท้อนถึงแนวโน้มการเกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน อันสืบเนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิตยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
4 กุมภาพันธ์ 2488 : วินสตัน - รูสเวลล์ - สตาลิน พบกันใน “การประชุมยัลตา”
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2488 เกิดภาพประวัติศาสตร์ระหว่าง 3 ผู้นำระดับโลก ในการประชุมยัลตา (Yalta Conference) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นภาพการพูดคุยของนายกรัฐมนตรี “วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir.Winston Churchill)” นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร “แฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt)” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และ “โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต
“การประชุมยัลตา (Yalta Conference)” หรือ “การประชุมไครเมีย” มีชื่อรหัสว่า “การประชุมอาร์โกนอต (Argonaut Conference)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 11 กุมภาพันธ์ 2488 ณ พระราชวังลีวาเดีย (ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในพระราชวังของจักรพรรดิรัสเซีย) ใกล้ยัลตา ในคาบสมุทรไครเมีย เป็นการประชุมหัวหน้ารัฐบาลในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีผู้แทนของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียต เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายในเรื่องการจัดระเบียบหลังสงครามของทวีปยุโรป ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสันนิบาตแห่งชาติแบบใหม่หรือสหประชาชาติอีกด้วย
5 กุมภาพันธ์ 2404 : รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ถนนเจริญกรุง”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ถนนเจริญกรุง” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2404 แล้วเสร็จในปี 2407 นับเป็นถนนสายแรกของประเทศไทย มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร และยังถือเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก
เหตุในการริเริ่มสร้าง “ถนนเจริญกรุง” เนื่องมาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่กงสุลได้เข้าชื่อกัน เพื่อขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ ในปีระกา พ.ศ.2404
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา) เป็นนายงาน นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใต้ คือช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางคอแหลม
และในปีจอ พ.ศ.2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน)
ทั้งนี้ยังมีถนนอีกสองสายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน โดยเป็นถนนที่เชื่อมต่อถึงกันและยังมีชื่อคล้องจองกันกับ “ถนนเจริญกรุง” ด้วยคือ ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร
6 กุมภาพันธ์ : วันชาเขียว (Matcha No Hi - 抹茶の日)
6 กุมภาพันธ์ ของทุกปีที่ญี่ปุ่นถูกกำหนดให้เป็น “วันชาเขียว (Matcha No Hi - 抹茶の日)” เป็นวันสำคัญที่ชาวญี่ปุ่นทุกหมู่บ้านจะจัดพิธีการชงชาแบบดั้งเดิม อีกทั้งมีพิธีการดื่มชาในสไตล์มัทฉะ (Matcha) เพื่อรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของชาเขียวที่อยู่คู่กับชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
เพราะนอกจากมีประโยชน์สำหรับผู้ดื่มแล้ว กว่าจะมาเป็นชาเขียว ก็มีเรื่องราว ขั้นตอนและกรรมวิธีที่สอดแทรกขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้อย่างงดงาม ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนของการชงชาอันประณีต
6 กุมภาพันธ์ : วันมวยไทย
“มวยไทย” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาแต่โบราณ ในประวัติศาสตร์และพงศาวดารไทย กล่าวว่า “มวยไทย” คือการใช้อาวุธของร่างกาย 9 อย่าง เรียกว่า “นวอาวุธ” ได้แก่ มือ 2 เท้า 2 เข่า 2 ศอก 2 และศีรษะ 1 นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลก
ด้วยความสำคัญนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงประกาศขึ้นทะเบียน “มวยไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่า การยกย่ององค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ รวมถึงเห็นความสำคัญ จดจำ และรักษาให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ตลอดจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการยอมรับในทั่วโลก
ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบในวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันมวยไทย” ซึ่งตรงกับวันเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2245 เพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถทางด้านมวยไทย ซึ่งทรงคิดท่าแม่ไม้มวยไทยขึ้นมาเป็นฉบับส่วนพระองค์ เรียกว่า “มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” และได้รับการถ่ายทอดเป็นตำรามวยไทยให้อนุชนคนรุ่นหลัง
8 กุมภาพันธ์ 2517 : “ฟริตซ์ ซวิคกี” นักดาราศาสตร์ ผู้ศึกษา “ซุปเปอร์โนวา” เสียชีวิต
“ฟริตซ์ ซวิคกี (Fritz Zwicky)” เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2441 ที่เมืองวาร์นา ประเทศบัลแกเรีย เขาเป็นนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง “ซุปเปอร์โนวา (Super Nova)” หรือการระเบิดตัวของดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างกว่าดวงอาทิตย์นับร้อยล้านเท่า นอกจากนี้เขายังศึกษาเรื่อง “รังสีคอสมิค (Cosmic Rays)” และค้นพบ “กาฬสสาร” หรือ “พลังงานมืด (Dark Matter)” ที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ
“ฟริตซ์ ซวิคกี (Fritz Zwicky)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2517 ที่เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
8 กุมภาพันธ์ 2563 : เกิดเหตุการณ์ “กราดยิงโคราช”
เหตุการณ์ “กราดยิงโคราช” เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 “จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา” สังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ได้ใช้อาวุธปืนยิง “พ.อ. อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์” ผู้บังคับบัญชา และ “อนงค์ มิตรจันทร์” แม่ยายของผู้บังคับบัญชา เสียชีวิต จากปมขัดแย้งเรื่องบ้านพักทหาร ก่อนที่จะเข้าไปกราดยิงที่หน่วยของตน เพื่อเอาอาวุธที่คลังอาวุธ และยิงเจ้าหน้าที่เวรเสียชีวิต
จากนั้น ผู้ก่อเหตุได้ขโมยรถฮัมวีขับออกมาจากหน่วย กราดยิงประชาชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย สุดท้ายจึงหลบหนีเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ทำให้มีประชาชนและพนักงานของห้างติดอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พยายามช่วยเหลือตัวประกันนานหลายชั่วโมง มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ระหว่างการต่อสู้ของเจ้าหน้าที่และคนร้าย เหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงช่วงเช้าของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาประมาณ 09.00 น. “จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา” จึงถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิต บริเวณชั้นล่างของห้าง ก่อนจะช่วยเหลือตัวประกันที่เหลือออกมาได้สำเร็จ
เหตุการณ์ “กราดยิงโคราช” มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 30 ราย (รวมคนร้าย) และบาดเจ็บอีก 58 ราย โดยภายหลังเหตุการณ์ “พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ได้กล่าวว่า “วินาทีลั่นไกสังหาร เขาเป็นอาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว” พร้อมหลั่งน้ำตาและสัญญาว่าจะปฏิรูปกองทัพใน 100 วัน
9 กุมภาพันธ์ : วันพิซซ่า (National Pizza Day)
“วันพิซซ่า (National Pizza Day)” ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ที่แน่ ๆ วันนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ในเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของพิซซ่า โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ผู้คนจะเฉลิมฉลองด้วยการออกไปรับประทานพิซซ่าหน้าโปรดของตัวเอง
9 กุมภาพันธ์ : วันกะเพราแห่งชาติ
เลือกเลย! ไม่ว่าจะหมูสับ ไก่สับ เนื้อสับ กุ้ง หมึก ทะเล ก็สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบได้ เพราะพระเอกตัวจริงของเมนูนี้คือ “ใบกะเพรา” ผักสีเขียวที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ใช่แล้ว! นี่คือเมนูอันดับหนึ่งของคนไทย ซึ่งเป็นที่มาของ “วันกะเพราแห่งชาติ”
ไม่มีใครสงสัยในความอร่อยของเมนูผัดกะเพรา แต่อาจจะข้องใจนิดหน่อยว่า ทำไมต้องเป็นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ กันนะ ? เหตุผลก็คือ เมื่อเราเขียนวันที่เป็นตัวย่อ 9 ก.พ. จะอ่านได้ว่า เก้า-กอ-พอ ซึ่งพ้องเสียงคล้ายกับคำว่า ข้าว-กะ-เพรา
ร้านอาหารหัวการตลาดหลายร้าน จึงถือเอาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันกะเพราแห่งชาติ” ไปโดยปริยาย และสร้างโปรโมชันสุดพิเศษให้ลูกค้าได้เฉลิมฉลองกับเมนูผัดกะเพราที่พวกเขารักในวันนี้ด้วยกัน
10 กุมภาพันธ์ : วันอาสารักษาดินแดน
ความเป็นมาของ “วันอาสารักษาดินแดน” มีเกี่ยวพันกับการก่อตั้ง “กองอาสารักษาดินแดน (อส.)” ซึ่งเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ สืบเนื่องจากเมื่อครั้งอดีต ชาวบ้านซึ่งไม่ใช่กำลังทหาร มักออกมารวมตัวกันต่อสู้ เพื่อปกป้องแผ่นดินในยามเกิดศึกสงคราม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 ให้เป็นกองพลอาสาสมัคร เพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ
จากความพยายามจัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาให้เป็นระบบ โดยมีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้ ในเวลาต่อมา ยุคสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มี พระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. 2484 เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการที่จะป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
ในเวลาต่อมา ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 จากการดำเนินการด้านพลเรือนอาสา มีรูปแบบและระบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนามาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันอาสารักษาดินแดน”
11 กุมภาพันธ์ 2472 : รัฐบาลอิตาลีลงนามใน “สนธิสัญญาลาเตอรัน” กับฝ่ายศาสนจักรของสำนักวาติกัน
รัฐบาลอิตาลีลงนามใน “สนธิสัญญาลาเตอรัน (The Lateran Agreement)” กับฝ่ายศาสนจักรของสำนักวาติกัน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2472 เพื่อรับรอง “นครรัฐวาติกัน (State of the Vatican City)” เป็นดินแดนนอกเหนืออำนาจการปกครองของรัฐบาลนครรัฐวาติกัน เป็นรัฐอิสระที่ปกครองโดยพระสันตะปาปา
“นครรัฐวาติกัน (State of the Vatican City)” รัฐศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งนี้ ตั้งอยู่ในกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี เป็นประเทศที่เล็กที่สุดในโลก หากแต่เป็นที่ตั้งของโบสถ์ในศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (Saint Peter's Basilica) หรือ มหาวิหารนักบุญเปโตร
12 กุมภาพันธ์ 2568 : วันมาฆบูชา
“วันมาฆบูชา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยคำว่า “มาฆะ” เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3
การกำหนด “วันมาฆบูชา” ตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง “วันมาฆบูชา” ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ในปีนี้ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568
ความสำคัญของ “วันมาฆบูชา” คือการระลึกถึงวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการและวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ สรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า
ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
“วันมาฆบูชา” ยังเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หมายถึง “การประชุมด้วยองค์ 4” เนื่องด้วยเหตุอัศจรรย์ 4 ประการที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ
- ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
- มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมด ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
- พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
ทั้งนี้ “วันมาฆบูชา” ถือว่าเป็นวันพระธรรม “วันวิสาขบูชา” ถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วน “วันอาสาฬหบูชา” ถือว่าเป็นวันพระสงฆ์
13 กุมภาพันธ์ : วันรักนกเงือก
เมื่อปี 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ “นกเงือก” ที่เป็นกลไกสำคัญในการบ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด
คลิกชมสาระน่ารู้ของ “นกเงือก” ได้ในรูปแบบ Data Visualization กับ The Visual : นกเงือก นักปลูกป่า ผู้คลั่งรัก
13 กุมภาพันธ์ : วันกาเลนไทน์ (Galentine's Day)
“วันกาเลนไทน์ (Galentine's Day)” คือ วันแห่งความรักและมิตรภาพกับเพื่อนสาว ซึ่งถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่ใช่วันหยุดแห่งชาติ แต่มันเป็นวันที่ “Leslie Knope” ตัวละครจากซีรี่ย์ Parks and Recreation ของสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติ 100% แล้วว่า ให้ใช้วันนี้เพื่อที่จะบอกกับเพื่อน ๆ ที่ดีที่สุดของคุณว่า พวกเขามีความหมายกับคุณมากขนาดไหน
14 กุมภาพันธ์ : วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)” มีขึ้นเพื่อระลึกถึงวันเสียชีวิตของ “นักบุญวาเลนไทน์” หรือ “เซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine)” นักบุญแห่งความรัก ผู้ริเริ่มการจัดงานแต่งงานในยุคที่ไม่นิยมให้แต่งงานกัน
ซึ่งก็คือยุคที่กรุงโรมของอิตาลี ต้องประสบกับภาวะสงคราม จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง จึงต้องการเกณฑ์คนไปรบ แต่มีผู้คนจำนวนมากที่มีครอบครัว ภรรยาหรือคนรัก ที่ไม่สามารถจะทิ้งไปได้ จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง จึงประกาศยกเลิกการแต่งงานและการหมั้นทั้งหมดของชาวโรมันในยุคนั้น
หากแต่ “นักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine)” กลับชักชวนคู่รักให้มาแต่งงานกัน จนในที่สุดก็ถูกจับตัวไปคุมขังไว้ในคุก ที่นั่นกลับทำให้เขาได้พบรักกับสาวตาบอดนางหนึ่ง
“นักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine)” จึงถูกนำตัวไปประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ต่อมาจึงถือเอาวันนี้เป็น “วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)” ที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญผู้อุทิศตนเพื่อความรัก
คลิกอ่านเกร็ดความรู้ “วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)” กับบทความที่น่าสนใจได้ทั้ง ช็อกโกแลตของแทนใจ ดีหรือร้ายต่อ (สุขภาพ) หัวใจคุณ ? หรือ Valentine’ s Day รวม 14 สัญลักษณ์แห่ง “ความรัก” และ ความรักที่สมหวัง หาใช่เกิดจาก “คิวปิด”
14 กุมภาพันธ์ : วันรักษ์พญาแร้ง
“วันรักษ์พญาแร้ง” มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 โดยนายพรานได้ทำการวางยาไว้ในเนื้อเก้ง หวังเพื่อจะเป็นเหยื่อล่อให้เสือโคร่งเข้ามาติดกับ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นพญาแร้งโชคร้ายฝูงหนึ่งที่ลงมากินซากเหล่านั้น ทำให้ตายยกฝูงกว่า 30 ตัว และสูญสิ้นไปจากป่าเมืองไทย นับตั้งแต่นั้น
สำหรับพญาแร้งในกรงเลี้ยง ได้มาจากการพลัดหลงฝูงในการอพยพผ่านประเทศไทย อีกส่วนก็ได้รับมอบจากสวนสัตว์เอกชน (สวนสัตว์พาต้า) รวมเป็นทั้งหมด 6 ตัว โดยถูกนำมาดูแลที่สวนสัตว์นครราชสีมา จำนวน 4 ตัว (2 คู่) คือ “พ่อแจ๊ค” กับ “แม่นุ้ย” ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกใหม่มาเพิ่มคือ “ต้าวเหม่ง” และอยู่ในกรงฟื้นฟูขนาด 20×40 เมตร สูง 20 เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 ตัว คือ ป๊อก กับ มิ่ง
“พญาแร้ง” เป็นนกจำพวกอีแร้งชนิดหนึ่ง มีความสูงจากหัวถึงเท้าประมาณ 78 - 80 เซนติเมตร ความกว้างจากปีกซ้ายไปปีกขวาประมาณ 200 - 260 เซนติเมตร เป็นสัตว์กินซาก มีหน้าที่คอยทำความสะอาดผืนป่า ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และได้รับฉายาว่า “เทศบาลประจำผืนป่า”
16 กุมภาพันธ์ 2428 : “บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์” ก่อตั้ง “โรงเรียนอัสสัมชัญ”
“บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์” ได้ทำการเปิดโรงเรียนประจำวัดอัสสัมชัญ เพื่อเปิดสอนภาษาฝรั่งเศสและไทย แก่เด็กคริสตังและลูกหลานชาวยุโรป ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2428 ได้เปลี่ยนฐานะของโรงเรียน จากโรงเรียนประจำวัด เป็น “อัสสัมชัญคอลเลจ (บางรัก)” เปิดรับเด็กทุกคนในกรุงเทพฯ โดยเป็นโรงเรียนชายล้วน
คลิกชมสาระน่ารู้ของการศึกษาผ่าน “โรงเรียนอัสสัมชัญ” ในรายการจากรากสู่เรา ตอน โรงเรียนหมอสอนศาสนา จากศาสนจักร สู่การศึกษา
18 กุมภาพันธ์ 2473 : “ไคลด์ ทอมบอก์” ค้นพบ “ดาวพลูโต”
“ไคลด์ ทอมบอก์ (Clyde W.Tombaugh)” นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory Arizona) สหรัฐอเมริกา ค้นพบ “ดาวพลูโต (Pluto)” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2473
เขาเปรียบเทียบภาพถ่ายท้องฟ้าที่บันทึกในเวลาต่างกัน จนสังเกตเห็นการเปลี่ยนตำแหน่งของ “ดาวพลูโต (Pluto)” เมื่อเทียบกับดาวดวงอื่น “ดาวพลูโต (Pluto)” อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และมีวงโคจรเป็นวงรีมากกว่าดาวเนปจูน
“ดาวพลูโต (Pluto)” เคยเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะจักรวาล แต่ต่อมาในปี 2549 สหภาพดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ (IAU) นิยามว่า “ดาวเคราะห์จะต้องมีวงโคจรที่ชัดเจน (Clear orbit)” จึงทำให้ “ดาวพลูโต (Pluto)” ไม่ถูกจัดให้อยู่ในระบบสุริยะจักรวาล และถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “134340”
20 กุมภาพันธ์ : วันสัตว์เลี้ยงโลก (Love Your Pet Day)
ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่า “วันสัตว์เลี้ยงโลก (Love Your Pet Day)” เริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไร หรือใครเป็นผู้ก่อตั้ง แต่มีการคาดการณ์ว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 จากการรวมกลุ่มของเหล่าคนรักสัตว์เลี้ยงก่อนจะขยายเป็นวงกว้าง และกลายเป็นวันสำคัญระดับสากลในที่สุด
“วันสัตว์เลี้ยงโลก (Love Your Pet Day)” ตรงกับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี มีขึ้นเพื่อให้คนรักสัตว์ทั้งหลาย ได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนที่แสนดีของเราให้มากขึ้น เพื่อใช้โอกาสนี้แสดงความรักและกระชับความสัมพันธ์ให้ซี้กันมากขึ้น
20 กุมภาพันธ์ 2512 : พิธีเปิด “อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก”
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2512 ได้มีการทำพิธีเปิด “อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก” โดยประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงความกล้าหาญของ “พระยาพิชัย” ที่ได้ต่อสู้กับ โปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) แม่ทัพพม่า จนดาบหักคามือ
21 กุมภาพันธ์ 2454 : ประกาศให้ใช้ “พุทธศักราช” เป็นปีศักราชอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2454 ได้มีการประกาศให้ใช้ “พุทธศักราช” เป็นปีศักราชอย่างเป็นทางการ แทนการใช้ “รัตนโกสินทรศก” เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีการใช้ศักราชแบบต่าง ๆ ไม่เป็นระเบียบเดียวกัน และการใช้ “รัตนโกสินทรศก” ยังไม่สะดวกในการใช้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย
22 กุมภาพันธ์ : วันแมวเหมียวแห่งชาติ (Neko No Hi - 猫の日)
น้องเหมียวเจ้าของเสียงร้องเนี้ย เนี้ย เนี้ย ที่คนญี่ปุ่นได้ยิน สามารถเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ニャー、ニャー、ニャー ซึ่งมีคำว่า ニ (นิ) ที่แปลว่าเลข 2 อยู่ในนั้น ยิ่งถ้าออกเสียงแบบสั้น ๆ จะยิ่งพ้องเข้ากับคำว่า ニ, ニ, ニ หรือ 2-2-2 แบบพอดิบพอดี
ด้วยเหตุนี้ ชาวญี่ปุ่นก็เลยถือเอาวันที่ 22 เดือน 2 หรือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันแมวเหมียวแห่งชาติ (ญี่ปุ่น) (Neko No Hi - 猫の日)” นั่นเอง
ชวนอ่านบทความน่ารู้จาก Thai PBS Sci & Tech : คัดสรรคอนเทนต์ “แมว” เอาใจเหล่า “ทาสแมว” และเกร็ดความรู้ในการ “กอดแมว” แล้วทาสจะรู้สึก... 5 สิ่งดี ๆ ที่เพื่อนซี้ขนฟูแสนขี้อ้อนของเรามอบให้
22 กุมภาพันธ์ 2514 : “โกมล คีมทอง” ครูผู้เสียชีวิตจากเหตุยิงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
“โกมล คีมทอง” บัณฑิตหนุ่มจากรั้วจุฬาฯ ซึ่งอุทิศตนให้แก่อาชีพครูและเข้าไปตั้งโรงเรียนสอนหนังสือใน จ.สุราษฎร์ธานี ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงเสียชีวิต เพราะเข้าใจผิดว่าเขาเป็นสายลับให้รัฐบาล
แม้ขณะนั้นเขาจะมีอายุเพียง 25 ปี และดำเนินชีวิตครูตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้ไม่ถึง 10 เดือน หากแต่ข้อเขียน ความคิด และอุดมคติของเขา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังจำนวนมาก กล่าวกันว่าเขาคือแบบอย่างแห่งความเสียสละ ซึ่งหาได้ยากในกลุ่มคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน
ชวนคลิกฟังเรื่องราวของ “โกมล คีมทอง” ทาง Thai PBS Podcast รายการรอยจารึก...บันทึกสยาม ตอน EP.4 : โกมล คีมทอง และคลิกชมรายการความจริงไม่ตาย ตอน อิฐก้อนแรกของ “ครูโกมล”
23 กุมภาพันธ์ 2534 : คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจจาก “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ”
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ยึดอำนาจจาก “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมกับทำการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ จากเหตุการณ์นี้จึงนำไปสู่ “เหตุการณ์พฤษภา 35 (พฤษภาทมิฬ)”
ชวนย้อนอ่านเกร็ดความรู้การเมืองไทยในบทความ 33 ปี รัฐประหาร รสช. ศึกชิงอำนาจที่นำไปสู่ “พฤษภาทมิฬ”
24 กุมภาพันธ์ : วันศิลปินแห่งชาติ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2310 เป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ หลายสาขา ทรงอุปถัมภ์บำรุงศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ตลอดจนทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์
ทั้งนี้จึงถือเอาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
24 กุมภาพันธ์ : วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า
เนื่องด้วย “ไฟป่า” เป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก (GREENHOUSE EFFECT) คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เสนอมาตรการควบคุมไฟป่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524
ต่อมาจึงเห็นชอบและอนุมัติ ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนและเกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า เพื่อลดควันไฟที่เกิดจากการเผาป่า สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า รวมถึงป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากการจุดไฟเผาป่า
คลิกอ่านสาระความรู้เกี่ยวกับ “ไฟป่า” ผ่านบทความ ข้อมูล “ไฟป่า” ในไทยย้อนหลัง 10 ปี เผาผลาญไปมากกว่า 1 ล้านไร่ และในรูปแบบอินโฟกราฟิก 7 ผลกระทบ “ไฟป่า” ไม่ได้มีแค่ฝุ่น - ควัน
24 กุมภาพันธ์ 2540 : สื่อมวลชนเสนอข่าวความสำเร็จในการโคลนนิงแกะ “ดอลลี”
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 สื่อมวลชนได้เสนอข่าวความสำเร็จในการโคลนนิงแกะที่มีชื่อว่า “ดอลลี (Dolly)” แกะโคลนตัวแรกของโลกที่เกิดจากเซลล์ต้นแบบของแกะโต หลังการแถลงข่าวโดย “ดร.เอียน วิลมุต (Ian Wilmut)” นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันรอสลิน ในสกอตแลนด์
การเสนอข่าวครั้งนี้ทำให้ “ดอลลี (Dolly)” กลายเป็นแกะที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกและถูกถ่ายรูปมากที่สุดในประวัติศาสตร์
24 กุมภาพันธ์ 2565 : “สงครามรัสเซีย - ยูเครน” ได้เริ่มต้นขึ้น
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 “รัสเซีย” เปิดฉากโจมตี “ยูเครน” นับเป็นการยกระดับความรุนแรงของความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 ภายหลัง “การปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรี” ของยูเครน เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ทั้งสถานะของไครเมียและดอนบัส ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน อุบัติการณ์ทางเรือ สงครามไซเบอร์ และความตึงเครียดทางการเมือง ตามมาด้วยการรวมตัวกันของกองทัพรัสเซียบริเวณชายแดนรัสเซีย - ยูเครน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564
การรุกรานในครั้งนี้ ทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีชาวยูเครน 6.9 ล้านคน เดินทางออกนอกประเทศ และหนึ่งในสามกลายเป็นประชากรพลัดถิ่น ขณะเดียวกัน รัสเซียก็เผชิญกับการอพยพออกนอกประเทศครั้งใหญ่สุด นับแต่การปฏิวัติเดือนตุลาคมในปี 2460
คลิกชมเรื่องราวเกี่ยวกับ “สงครามรัสเซีย - ยูเครน” ในรายการ FLASHPOINT จุดร้อนโลก ตอน ยูเครน จุดร้อนแห่งศตวรรษ และย้อนชมรายการออนไลน์ Back To Basics ตอน สงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” 2 ปี ที่แหลกลาญ ไร้วี่แววสันติภาพ
25 กุมภาพันธ์ : วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 “สถานีวิทยุฯ กรุงเทพฯ ที่พญาไท” ซึ่งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่วังพญาไท เริ่มออกอากาศโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 ที่พระราชทานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง มาถ่ายทอดเสียงทางวิทยุให้ประชาชนได้รับฟังเป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็นการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุเพื่อสาธารณะครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของ “วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ”
26 กุมภาพันธ์ : วันสหกรณ์แห่งชาติ
ต้นกำเนิดของขบวนการสหกรณ์ เริ่มมาจาก “สหกรณ์รอชเดล” ในประเทศอังกฤษ ก่อตั้งโดยช่างทอผ้า 28 คน และมีมติว่า เดือนสิงหาคม 2387 เป็นวันก่อตั้งสหกรณ์ โดยถือเอาหลักของ “สหกรณ์รอชเดล” เป็นรากฐานของหลักสหกรณ์ในปัจจุบัน
ในประเทศไทย “พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์” ทรงเผยแพร่ความรู้และทรงบัญญัติคำว่า “สหกรณ์” รวมถึงทรงรับเป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก ในการจดทะเบียนสหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย คือ “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้” ตั้งอยู่ใน ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 สหกรณ์แห่งนี้ทดลองจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินทุนของเกษตรกร โดยให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เมื่อแรกตั้งมีสมาชิก 16 คน กู้เงินจากแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) จำนวน 3,000 บาท
ภายหลังจึงถือเอาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” โดยมี “พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์” ทรงเป็นบิดาแห่งสหกรณ์ไทย
26 กุมภาพันธ์ 2553 : ศาลสั่งยึดทรัพย์ “ทักษิณ ชินวัตร” 4.6 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาตามที่องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน มีมติเสียงข้างมากให้ยึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” และครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผล รวมทั้งสิ้น 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยระบุเหตุผล เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ และเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
ศาลมีมติว่า ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รวมทั้งสิ้น 5 กรณี ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เช่น กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต และการปรับลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน
คำพิพากษาของศาลมีขึ้นหลังอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” และครอบครัว จำนวน 76,261.6 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล และคืนส่วนที่เหลือ 30,247 ล้านบาท เพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินที่มีอยู่แต่เดิม
27 กุมภาพันธ์ : วันโปเกมอน (Pokémon Day)
“โปเกมอน ฉันเลือกนาย!” ประโยคเด็ดจากการ์ตูนเกมส์สุดฮิต ที่เปิดตัวให้โลกได้รู้จักเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 ในชื่อ “Pokémon Red Version” และ “Pokémon Green Version” วิดีโอเกมสำหรับ “Game Boy” โดยคำว่า “Pokémon (โปเกมอน)” มาจากคำภาษาญี่ปุ่น “ポケットモンスター (Poketto Monsuta)” หรือ “Pocket Monsters” นั่นเอง
ผู้ให้กำเนิด “Pokémon (โปเกมอน)” คือ “ซาโตชิ ทาจิริ (田尻 智 - Satoshi Tajiri)” นักออกแบบวิดีโอเกมชาวญี่ปุ่น ผู้หลงใหลในโลกของแมลงและวิดีโอเกม ในปี 2534 เขากับ “Nintendo (นินเท็นโด)” บริษัทวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ร่วมกันทำเกมปริศนา “Yoshi (โยชิ)” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “Pokémon (โปเกมอน)” ในที่สุด
ต่อมาในปี 2540 “Pokémon (โปเกมอน)” ถูกผลิตเป็นซีรีส์แอนิเมชันออกฉายทางโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นเรื่องราวของเด็กชายชื่อซาโตชิ ผู้มุ่งมั่นที่จะเป็นปรมาจารย์โปเกมอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พร้อมการผจญภัยสุดสนุกกับ “Pikachu (ปิกาจู)” สหายของเขา และในปี 2541 “การ์ดโปเกมอน” ก็กลายเป็นกระแสความนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุค 90
“วันโปเกมอน (Pokémon Day)” ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จึงมีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองโลกของโปเกมอนที่แฟน ๆ หลงรัก โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันเกมการ์ดโปเกมอน เทรนเนอร์ทั่วโลกร่วมกันเล่นวิดีโอเกมโปเกมอนโก การจัดกลุ่มสอนวิธีการเล่นสำหรับผู้เล่นมือใหม่ เป็นต้น
28 กุมภาพันธ์ 2551 : “ทักษิณ ชินวัตร” ก้มกราบแผ่นดินไทยครั้งแรก หลังถูกรัฐประหาร 49 และลี้ภัยการเมืองในต่างแดน
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 “ทักษิณ ชินวัตร” เดินทางกลับประเทศไทยเป็นคร้ังแรก หลังต้องลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดนเป็นเวลากว่า 1 ปี 5 เดือน จากเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดย “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
หลังเดินทางมาถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ออกมาจากห้องรับรองวีไอพีของสนามบินสุวรรณภูมิ และได้คุกเข่าก้มลงกราบแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรก จนภาพวินาทีนั้นที่กองทัพสื่อมวลชนได้บันทึกไว้กลายเป็นภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากนั้น “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เข้าสวมกอดกับครอบครัว ก่อนที่จะเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหา
ต่อมา “ทักษิณ ชินวัตร” ขออนุญาตศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่า เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551 และไม่เดินทางกลับไทยอีกเลยตลอด 17 ปี
จนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เดินทางกลับประเทศไทยอีกครั้งที่สนามบินดอนเมือง โดยผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้แสดงหมายจับ รวมถึงทำบันทึกการจับกุม พร้อมส่งให้กรมราชทัณฑ์นำตัวไปศาลฎีกาฯ ตามกฎหมาย
ชวนคลิกอ่านบทความย้อนไทม์ไลน์ภาพประวัติศาสตร์ “ทักษิณ ชินวัตร” กราบแผ่นดินครั้งแรก หลังลี้ภัยในต่างแดน จากเหตุรัฐประหาร
🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day
▶️ 2566
▶️ 2567
- มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฎาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม
▶️ 2568