ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนไทยจะได้ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดกี่โมง ?


Insight

24 ม.ค. 68

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

คนไทยจะได้ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดกี่โมง ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2230

คนไทยจะได้ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดกี่โมง ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ฝุ่น PM2.5 กำลังเป็นปัญหาหนัก และหนักขึ้นในทุกปี ในช่วงอากาศบางเบา กระแสหลายครั้งเงียบหาย แต่ในวันที่ฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น พ.ร.บ. อากาศสะอาด ถูกหยิบยกมาพูดถึงว่าจะเป็นทางออก

Thai PBS รวบรวมเรื่องที่ควรรู้เพื่อตอบคำถามสำคัญ พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะได้บังคับใช้เมื่อไร ? ช่วยอะไรได้บ้าง ? และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ?

พ.ร.บ.อากาศสะอาดช่วยอะไรบ้าง ? ลดฝุ่น PM2.5 อย่างไร ?

พ.ร.บ.อากาศสะอาดหรือกฎหมายอากาศสะอาด หรือชื่อเต็มว่า ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... มีขึ้นเพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ 

โดยมีหลักการคือ การรองรับสิทธิในอากาศสะอาดของคนไทย มีประเด็นสำคัญคือ การให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการปัญหากับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักซึ่งอาจเป็นหน่วยงานที่มีอยู่เดิมหรือตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากปัญหามลพิษเชื่อมโยงอยู่กับหลายหน่วยงาน เช่น รถปล่อยควันดำ เป็นหน่วยงานด้านจราจรจัดการ หรือปัญหาเรื่องการเผา ก็มีหน่วยงานดูแลปัญหาการเผาแยกเป็นประเภทแตกต่างกันไปอีก

จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่กำหนดอำนาจในการจัดการกับปัญหานี้ให้ชัดเจน ถึงตอนนี้มีการเสนอเข้าพิจารณา 7 ร่างจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งพรรคการเมือง ภาคประชาชน รวมถึงรัฐบาล มีรายละเอียดโดยรวมที่มีส่วนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่น่าสนใจ ดังนี้

มีบทลงโทษเมื่อเกิดมลพิษในอากาศ เช่น การเผาในที่โล่ง การเผาของธุรกิจอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการเกษตร มีบทลงโทษผู้ก่อมลพิษฝุ่นควัน หรือมีค่าปรับในส่วนของการก่อมลพิษ โดยค่าปรับเหล่านี้จะเข้ากองทุนเพื่อนำไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ที่ลดการก่อมลพิษหรือฝุ่น PM2.5 ได้

ควบคุมและปรับปรุงคุณภาพอากาศ แต่ละพื้นที่จะมีการควบคุมคุณภาพอากาศ หากมีค่ามลพิษสูงจะต้องมีมาตรการรับมือตรวจสอบหาทางแก้ไขอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ บางร่างมีการเสนอให้ปรับปรุงสุขภาพอากาศขึ้นในทุกช่วง 2 ปีอีกด้วย

ออกมาตรการเพื่อควบคุมการก่อมลพิษ โดยมีการให้ผลตอบแทนผ่านมาตรการควบคุมต่าง ๆ อาทิ กำหนดมาตรฐานสินค้าทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า ไม่ให้กระบวนการผลิตมีส่วนของการเผาไหม้ เช่น ห้ามโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อยเผา ต้องใช้อ้อยสดเท่านั้น

กระจายอำนาจการจัดการด้านมลพิษสู่ท้องถิ่น มีการตั้งคณะกรรมการในส่วนท้องถิ่นมีเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยควบคุมคุณภาพอากาศภายในแต่ละพื้นที่เป็นการเฉพาะ

ร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย แผนการจัดการต้องมีการจัดการกับมลพิษตามแนวชายแดน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการสร้างความร่วมมือ จนถึงบทลงโทษสำหรับการก่อมลพิษข้ามพรมแดน

ภาพในวันที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM2.5 มีค่าเกินค่ามตรฐาน

พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะได้ใช้เมื่อไร ?

พ.ร.บ.อากาศสะอาด มีการเสนอมายาวนานตั้งแต่ปี 2563 ผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายให้พิจารณา โดยสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 รวมร่างกฎหมาย 7 ฉบับ มีการพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติอยู่ขั้นตอนของกระบวนการหารือ และอาจรวมเอาร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับมาร่างออกเป็นร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฉบับที่ 8 เพื่อให้คลอบคลุมทุกมิติมากขึ้น

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่าพ.ร.บ.อากาศสะอาดจะออกมาได้ภายในปี 2568 นี้ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาฝุ่นที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้กฎหมายนี้พิจารณาเร็วขึ้น

ตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง ? กับการช่วยลดการก่อฝุ่น PM2.5

การจัดการกับมลพิษหรือฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นแบบแยกส่วน วิธีในการจัดการแต่ละปัญหา ยังขึ้นอยู่กับหน่วยงานโดยมีกฎหมายแยกกันไป ยกตัวอย่าง การเผาในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นส่วนท้องถิ่นร่วมกับกรมควบคุมมลพิษดูแล ขณะที่เรื่องมลพิษจากรถยนต์ เป็นกรมขนส่งทางบกมีอำนาจลงโทษผู้กระทำผิด สำหรับการแจ้งการกระทำผิด มีช่องทางดังนี้

รถควันดำ สามารถแจ้งเบาะแสที่กรมขนส่งทางบก โดยระบุวัน เวลา สถานที่ ทะเบียนรถ พร้อมพยานรูปแบบหรือ VDO แจ้งผ่านช่องทางโทรศัพท์ 1584 LINE @1584DLT เพจ 1584 ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50 %

เผาในพื้นที่ต่าง ๆ การเผาในพื้นที่เอกชนและสาธารณะทั่วไป ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ทั้งนี้ในพื้นที่ กทม.สามารถแจ้งที่สำนักงานเขต หรือแจ้งกับสำนักงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร อาทิ LINE @traffyfondue หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร สายด่วน 1555 ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถแจ้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สายด่วน 1567

ใช้งานขนส่งมวลชน มาตรการให้ใช้ขนส่งมวลชนฟรีของกรุงเทพมหานครถือเป็นมาตรการหนึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้ขนส่งมวลชน ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ในช่วงปี 2016 ที่เผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็เคยมีการออกมาตรการลักษณะเดียวกัน โดยมีกำหนดให้ใช้งานได้ฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน

ฝุ่น PM2.5กำลังเป็นวาระสำคัญของหลายชีวิตในพื้นที่เสี่ยงภัย ผลกระทบเริ่มเห็นชัดขึ้นผ่านตัวเลขคุณภาพอากาศและอาการป่วยหลายอย่างที่เกิดขึ้นอย่างเฉียดพลัน ถึงเวลาแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังแล้วหรือยัง ? สิ่งที่ประชาชนทั่วไปทำได้ยังคงเป็นส่วนเล็กของปัญหา ยังคงมีมาตรการอื่น ๆ ในภาพใหญ่ของประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อยู่

อ้างอิง

  • กรุงเทพมหานคร
  • กรมขนส่งทางบก
  • กรมควบคุมมลพิษ
  • รัฐสภา

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่น PM 2.5ค่าฝุ่นปัญหาฝุ่นฝุ่นพิษพ.ร.บ.อากาศสะอาด
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด