เชื่อว่าทุกครั้งที่วันรวมญาติในช่วงเทศกาลใหญ่อย่างตรุษจีนหรือสงกรานต์มาถึง คนที่เป็นลูกหลานต้องเตรียมตัวสำหรับ “ช่วงถามตอบ” กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไม่ได้พบเจอกันบ่อยนัก ไม่ว่าคำถามจากผู้อาวุโสเหล่านี้จะเป็นเช่นไร ลึก ๆ แล้วพวกเขาแค่อยากรู้สารทุกข์สุกดิบของคนในครอบครัวเพียงเท่านั้น
ภาพจำร่วมอย่างหนึ่งของพ่อแม่เอเชียทั่วโลก – ทั้งคนที่ยังอยู่ในทวีปเอเชียและคนที่ย้ายถิ่นฐานไปยังทวีปอื่น – คือความห่วงใยต่อการศึกษาของบุตรหลาน แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป พ่อแม่เอเชียยังคงคิดว่าการศึกษาที่ดีจะเป็นใบเบิกทางในชีวิตลูก และ ความสำเร็จของลูกจะเป็นการเลื่อนขั้นทางสังคมของครอบครัวอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นพ่อแม่เอเชียจึงดูจะกวดขันและคาดหวังต่อลูกหลานมากกว่าพ่อแม่ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องการเรียน
ขณะเดียวกัน พ่อแม่เอเชียก็ปลูกฝังความกตัญญูรู้คุณอันเป็นอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อ หลักคำสอนของขงจื๊อให้ความสำคัญอย่างมากต่อความกตัญญูและการอยู่ร่วมกันของคนในกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรธิดานั้นเป็นรากฐานคุณงามความดีของวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลายคนมองว่าพ่อแม่เอเชียเลี้ยงดูลูกหลานแบบ “เผด็จการ (authoritarian)” และ “ปกป้องมากเกินไป (overprotective)” เพื่อให้พวกเขาเติบโตตามครรลองที่ถูกต้อง
แต่ที่จริงแล้ว ความเป็นพ่อแม่เอเชียซับซ้อนกว่านั้น อีกทั้ง “ภาพจำ” ที่โลกมีต่อครอบครัวเอเชียก็อาจเกิดขึ้นพร้อมกับการกระจายตัวของคนเอเชียสู่ภูมิภาคต่าง ๆ
“ค่านิยม 6 ประการ” ของคนเอเชียต่อแนวทางการเลี้ยงดูลูก
การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ชาวเอเชียย่อมสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ สำหรับกลุ่มที่ยังอยู่ในทวีปเอเชีย พ่อแม่ต้องการให้ลูกหลานเชื่อฟังทำตามตั้งแต่ในบ้าน เพราะในทวีปนี้ยังคงมีลำดับชั้นและการเคารพผู้อาวุโสอยู่ ส่วนพ่อแม่เอเชียที่อพยพไปฝั่งตะวันตกนั้น พวกเขาต้องทำให้ลูกปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของเจ้าบ้าน (host culture) ให้ได้โดยที่ต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง
ดังนั้น พ่อแม่เอเชียจึงนำค่านิยมต่าง ๆ มาใช้ ได้แก่
- การทำตามกัน (conformity) เช่น ความตระหนักและการยอมรับความคาดหวังทางสังคมและบรรทัดฐานต่าง ๆ
- การยอมรับของครอบครัวผ่านความสำเร็จ (family recognition through achievements) เช่น การพิจารณาถึงความสำเร็จส่วนบุคคล สถานะทางสังคมของครอบครัว
- การควบคุมทางอารมณ์ (emotional self-control) เช่น การประพฤติตนให้เหมาะสมแทนที่จะแสดงออกทางความรู้สึก
- ความคิดคติรวมหมู่ (collectivism) เช่น การให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตน
- ความนอบน้อม (humility) เช่น มีความถ่อมตน ไม่โอ้อวดตนเอง
- ความกตัญญูกตเวที (filial piety) เช่น ความเคารพต่อบุพการีที่ยังมีชีวิตอยู่ การดูแลความต้องการของครอบครัวก่อนเรื่องส่วนตัว
แต่ในเวลาต่อมา ค่านิยมทั้ง 6 ประการนั้นกลับถูกเชื่อมโยงกับวิธีการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ อันเป็นผลจากการสร้างอคติและภาพจำต่อคนเอเชีย
อย่างไรก็ตาม บทความวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสาร Frontiers in Psychology ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ได้สำรวจครอบครัวท้องถิ่นและครอบครัวผู้อพยพชาวเอเชียใต้ในฮ่องกง ผู้จัดทำเสนอข้อโต้แย้งว่า ชุดค่านิยมดังกล่าวอาจไม่สัมพันธ์เสมอไปกับวิธีการเลี้ยงลูกที่ไม่สร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น ค่านิยมความนอบน้อมและคติรวมหมู่ซึ่งทำให้พ่อแม่ชาวเอเชียใต้เลี้ยงดูแบบ “ให้ความเชื่อใจลูก (authoritative)” โดยค่านิยมทั้งสองช่วยให้คนเหล่านี้ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่พร้อมตระหนักถึงความต้องการและอัตลักษณ์เดิมของตนเอง ขณะที่พ่อแม่ท้องถิ่นอาจเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ เพราะคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต
พร้อมกันนี้ การศึกษาชิ้นดังกล่าวยังระบุอีกว่า วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่อาจไม่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในด้านต่าง ๆ ของลูก แต่ค่านิยมและบริบทแวดล้อมต่างหากที่อาจส่งผลต่อทักษะความสามารถของเด็กในกลุ่มประชากรต่าง ๆ เช่น ค่านิยมคติรวมหมู่ที่มีสหสัมพันธ์ด้านลบ (negative correlations) ต่อความสามารถทางร่างกายและความสามารถในการเข้าสังคมในหมู่เด็กเล็กชาวเอเชียใต้ เพราะพวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับความแตกต่าง แต่ค่านิยมคติรวมหมู่กลับมีสหสัมพันธ์เชิงบวก (positive correlations) ต่อความสามารถทั้ง 2 ด้านในกลุ่มเด็กเล็กชาวจีน เนื่องจากพวกเขาคือ “คนกลุ่มใหญ่” ในสังคมฮ่องกงอยู่แล้ว
มากกว่า “ความกตัญญู” คือ “ความผูกพันทางสายเลือด”
ขณะที่แนวคิดความกตัญญูกตเวทีและภาระผูกพันทางครอบครัว (family obligation) จะเป็นลักษณะเด่นของครอบครัวเอเชีย แต่ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่แพร่หลายในครอบครัวเชื้อสายจีน แนวคิดนั้นคือ “ชิน (親: qin) ” ซึ่งถูกนิยามไว้ว่าเป็น “ความใกล้ชิดและความรักที่ลูกตอบสนองต่อการเลี้ยงดูด้วยความหวังดีของพ่อแม่” และคำว่า “ชิน” นั้นอาจแปลว่า “ความเกี่ยวพันทางสายเลือด” ได้อีกด้วย
ลักษณะพิเศษที่ทำให้ “ชิน” อยู่เหนือจากแนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับความกตัญญูและภาระต่อครอบครัวนั้น คือทั้งพ่อแม่และเด็กต่างปฏิบัติต่อกันด้วยความหวังดีจากใจจริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ชิน” เป็นความสัมพันธ์ต่างตอบแทนระหว่างคนในครอบครัว ซึ่งสามารถส่งต่อกันผ่านความตั้งใจดีและความสมัครใจ
เมื่อ 8 ปีก่อนบทความชิ้นหนึ่งจากวารสาร Asian American Journal of Psychology ได้ศึกษากลุ่มวัยรุ่นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนชั้นมัธยมปลาย 15 คนที่เป็นลูกของพ่อแม่ชาวจีนโพ้นทะเลในอเมริกา ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มองเห็นคุณสมบัติ “ชิน” ได้ในตัวพ่อแม่จากความรักที่อบอุ่น การสื่อสารพูดคุย รวมถึงความสนิทสนมผ่านการใช้เวลาร่วมกัน และส่วนใหญ่ วัยรุ่นในกลุ่มตัวอย่างก็ระบุว่าตนเองมี “ชิน” ค่อนข้างมากถึงมากต่อทั้งพ่อและแม่ ดังนั้น “ชิน” จึงอาจช่วยให้ลูกหลานชาวจีนรุ่นใหม่เข้าใจถึงความหวังดีที่บุพการีมีให้ และช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้
อย่างไรก็ตาม ความรักแบบ “ชิน” ก็มีจุดบอดเช่นกัน ประการแรก พ่อแม่ชาวจีนมักจะแสดงความรักต่อลูกหลานผ่านการกระทำมากกว่าการบอกรักหรือชื่นชมตามตรง ประการที่สอง แม้พ่อแม่จะสื่อสารกับลูกหลาน แต่เรื่องที่สนทนากันนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับผลการเรียน การวางแผนชีวิตในอนาคต หรือการอบรมสั่งสอนมากกว่าที่จะพูดคุยกันถึงเรื่องอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของลูก สถานการณ์เช่นนี้ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อเด็กได้โดยที่พ่อแม่อาจไม่รู้ตัว
“จงยง” กับแนวทางที่เป็นไปได้ในการเลี้ยงดูลูกหลาน
การที่พ่อแม่เอเชียมักจะลืมนึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของลูกหลานนั้น ทำให้นักวิชาการฝั่งตะวันตกในอดีตเคยนิยามการปกป้องลูกหลานมากเกินไปว่าเป็น “การควบคุมที่ไร้ความรักอันอ่อนโยน (affectionless control)” แม้ว่าพ่อแม่เชื้อสายเอเชียหลายคน – โดยเฉพาะคนที่ย้ายไปอาศัยในอเมริกานั้น – จะผ่อนปรนความเข้มงวดและปล่อยให้ลูกหลานดูแลตัวเองในระดับหนึ่ง แต่การปกป้องลูกมากไปยังคงเป็นปัญหาในฝั่งเอเชียจนถึงทุกวันนี้ บทความวิชาการอีกฉบับหนึ่งบนวารสาร Frontiers in Psychology เมื่อ 5 ปีก่อนเผยว่า การปฏิเสธจากพ่อแม่และการปกป้องลูกมากเกินไปส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยในมณฑลกวางตุ้งของจีน
แต่บทความชิ้นเดียวกันนั้นก็ได้ศึกษาบทบาทของแนวคิด “จงยง (中庸: Zhongyong)” ที่อาจช่วยปัญหาครอบครัวได้ คำว่า “จงยง” มาจากตำราจงยงในสำนักปรัชญาหรู และสะท้อนถึงหลักการ “ความพอดี” ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ อีกทั้ง “จงยง” ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาเอกภาพระหว่างปัจเจกบุคคล และเป็นเกราะป้องกันทางอารมณ์ให้คนในสังคมด้วย และจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักศึกษากว่า 3,900 คนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในมณฑลกวางตุ้ง พบว่า วิธีคิดแบบ “จงยง” เป็นตัวกลางสำคัญระหว่างแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานและสุขภาพจิตของนักศึกษาชาวจีน
จากการสำรวจดังกล่าว นักศึกษาจีนที่มีวิธีคิดแบบ “จงยง” นั้นจะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลน้อย อีกทั้งนักศึกษาที่ได้รับความอบอุ่นและถูกปฏิเสธจากพ่อแม่น้อยครั้ง มีแนวโน้มที่จะคิดแบบ “จงยง” มากกว่า อย่างไรก็ตาม หากได้รับความอบอุ่นจากครอบครัวในระดับเดียวกัน นักศึกษาชายอาจพัฒนาวิธีคิดแบบ “จงยง” มากกว่านักศึกษาหญิง และในกลุ่มเด็กที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคม (SES: socioeconomic status) สูงนั้น ระดับความอบอุ่นที่ได้รับจากพ่อแม่และกระบวนการคิดแบบ “จงยง” ก็ปรากฏสูงตามไปด้วย
“ความประนีประนอม” และ “ความรักที่แสดงออก” ของครอบครัวไทย
ในไทยเอง เคยมีการสำรวจพฤติกรรมและสัมพันธภาพในครอบครัวเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มผู้วิจัยได้เลือกกลุ่มตัวอย่าง 2,030 ครอบครัวครบทุกภาคจากจังหวัดขอนแก่น พิจิตร ปราจีนบุรี กระบี่ และกรุงเทพฯ พบว่าครอบครัวกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งมีสัมพันธภาพแบบสมดุล (ร้อยละ 50.7) รองลงมาเป็นสัมพันธภาพแบบระดับกลางค่อนไปทางสมดุล (ร้อยละ 41.8) เมื่อวัดจากความผูกพันทางอารมณ์และการปรับตัวของสมาชิกในครอบครัว
การสำรวจยังเผยอีกว่า ครอบครัวที่อยู่นอกเขตเทศบาลจะมีสัมพันธภาพแบบสมดุลสูงกว่าครอบครัวในเขตเทศบาล จากข้อสังเกตของกลุ่มผู้จัดทำการสำรวจ ผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลต้องดิ้นรนและเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่า แต่มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัวน้อยกว่าผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาล
ความสมดุลในครอบครัวสะท้อนให้เห็นได้ผ่านการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 59.9) เมื่อเกิดปัญหาขึ้น สมาชิกในครอบครัวจะประนีประนอมตกลงกันได้ (ร้อยละ 59.9) อีกทั้งคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน (ร้อยละ 54.7) อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกครอบครัวในกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 50.6 ที่มีส่วนช่วยกำหนดกฎระเบียบหรือข้อตกลงภายในบ้าน
ขณะที่ครอบครัวไทยต่างดูแลเอาใจใส่ต่อกันและเคารพธรรมเนียมการนับถือผู้สูงอายุเหมือนครอบครัวเอเชียเชื้อชาติอื่น ๆ แต่สมาชิกในครอบครัวไทยส่วนใหญ่นั้นแสดงออกถึงความรักและให้กำลังใจซึ่งกันและกันเป็นประจำผ่าน “คำพูด” และการกระทำอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดี (ร้อยละ 78.3) มีเพียงร้อยละ 5 ที่ไม่ได้แสดงออกถึงความรักและความห่วงใยต่อกันผ่านคำพูดหรือการปฏิบัติ ข้อสรุปเหล่านี้อาจพอแสดงถึงความแตกต่างของครอบครัวและพ่อแม่ไทยจากชาวเอเชียในประเทศอื่น ๆ
กรณีศึกษาที่นำมากล่าวถึงในบทความนี้อาจทำให้เราพอเห็นถึง “ความหวังดีอันแสนซับซ้อน” ของพ่อแม่เอเชียทั่วโลกรวมถึงพ่อแม่เชื้อสายจีนและไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักสอนดั้งเดิม ค่านิยม บริบทแวดล้อม เพศ และสถานภาพทางสังคมนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับแนวทางการเลี้ยงดูลูกในกลุ่มคนเอเชียตามภูมิภาคต่าง ๆ
ดังนั้น การทำความเข้าใจพฤติกรรม ความคิด และความตั้งใจ (ดี) ของพ่อแม่และบรรดาผู้สูงวัยจึงสำคัญ เพราะนับวันนานาประเทศก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเข้าไปทุกก้าว และคนทุกเจนเนอเรชันควรอยู่ร่วมกันโดยเกิดความไม่เข้าใจระหว่างกันให้น้อยที่สุด
อ่านเนื้อหาอื่น ๆ จากเครือ Thai PBS
- เปิดประตู “ตรุษจีน” มงคล-ต้องห้าม กับเรื่องราวที่เชื่อมโยงคนทั้งโลก I The Visual
- เรื่องน่ารู้ "เทศกาลตรุษจีน” วันสำคัญโบราณที่มีมานานกว่า 4,000 ปี I Thai PBS NOW
- เราอาจรู้จักภาษากรีกมากกว่าคำว่าเด็ก “เจนเบตา (Gen Beta)” I Thai PBS NOW
- ปี 2568 กำเนิด Gen Beta เด็กข้ามศตวรรษ I Thai PBS NOW
- รู้ไหม “สงกรานต์ไทย” มีมาตั้งแต่เมื่อใด I Thai PBS News
อ้างอิง
- Effects of Asian cultural values on parenting style and young children’s perceived competence: A cross-sectional study, Frontiers in Psychology, 13 (October 2022)
- Individualism – Collectivism : ความเป็นปัจเจกนิยม – คติรวมหมู่, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Parent–Adolescent Relationships among Chinese Immigrant Families: An Indigenous Concept of Qin, Asian American Journal of Psychology, 8(4)
- Parental overprotection in Asian American children: A psychodynamic clinical perspective, Psychotherapy: Theory, Research, Practice, Training, 38(3)
- Parenting Style and Emotional Distress Among Chinese College Students: A Potential Mediating Role of the Zhongyong Thinking Style, Frontiers in Psychology, 11 (July 2020)
- การสืบทอดความเป็นจีนสู่ลูกหลานในสังคมไทย, วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 34(2) เดือนเมษายน-มิถุนายน 2557
- ความสัมพันธ์ระหว่างตำราต้าเสฺวียกับตำราจงยง, วารสารจีนศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 15(2) กรกฎาคม-ธันวาคม 2565
- สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล, สัมพันธภาพในครอบครัวไทย