เป็นกระแสไม่น้อย สำหรับข่าวการเปลี่ยน “ชื่อแบรนด์” ของธุรกิจร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีอายุมายาวนาน จนกลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง โดยเฉพาะในแวดวงโลกการตลาด คำว่า Rebranding เป็นอีกหนึ่งคำที่มักถูกนำมาใช้กันอยู่เสมอ ๆ ในยามที่ต้องการให้ “สินค้า” มีการเปลี่ยนแปลง
Thai PBS ชวนทำความรู้จัก คำว่า Rebranding และทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปในวิธีการดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้อง Rebranding ? และการ Rebranding มีหลักการ ตลอดจนวิถีทางอย่างไร และความสุ่มเสี่ยงแบบไหนของการ Rebranding ที่อาจทำให้แบรนด์เปลี่ยนจาก “ปัง” เป็น “พัง”
เข้าใจความหมาย Rebranding
แบรนด์ (Brand) หรือเรียกอีกอย่างว่า ยี่ห้อ ในความเข้าใจของคนหมู่มาก นิยามได้ถึง ตราสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ในมุมมองที่กว้างกว่านั้น แบรนด์เปรียบสมือน “ประตูบานใหญ่” ที่เปิดสู่การรับรู้เกี่ยวกับสินค้า หรือแม้แต่องค์กร ซึ่ง “แบรนด์ที่ดี” คือ แบรนด์ที่สามารถเข้าไปสู่การจดจำของผู้คนได้อย่างยาวนาน
ทว่า ในมุมกลับกัน เมื่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เดินทางผ่านเวลามายาวนาน มักจะเกิดวิถีหนึ่งที่เรียกว่า Rebranding หรือ การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้า หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ขององค์กร เพื่อให้แบรนด์เกิดอัตลักษณ์ใหม่ จุดประสงค์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทำไมถึงต้อง Rebranding ?
นอกจากการเปลี่ยนผ่านของเวลา ที่เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ ๆ หนึ่ง ลุกขึ้นมาทำการ Rebranding ยังมีปัจจัยอีกหลายประการ ที่ทำให้แบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ หรือสร้างอัตลักษณ์และมุมมองใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มักเกิดจากตัวแปรเหล่านี้
- เมื่อกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เปลี่ยนไป
- เมื่อสินค้ามีความหลากหลาย ตลาดขยายตัวมากขึ้น
- เมื่อต้องการขยายฐานลูกค้าไปในระดับนานาชาติ หรือที่เรียกว่า โกอินเตอร์
- เมื่อมีธุรกิจอื่นใช้ชื่อซ้ำกับแบรนด์ จำเป็นต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่
- เมื่อตลาดถูก Disrupt หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
- เมื่อแบรนด์กำลังจะถูกลืม
- เมื่อมีการเทคโอเวอร์ หรือรวมตัวกันของสองบริษัท (หรือมากกว่านั้น)
หลักการ Rebranding มีอะไรบ้าง ?
การ Rebranding ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากหลายต่อหลายแบรนด์ ต่างเป็นที่จดจำต่อผู้คนมายาวนาน ดังนั้น การทำ Rebranding จึงต้องผ่านการคิด วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์มาเป็นอย่างดี โดยอาศัยหลักการดังนี้
- การประเมินแบรนด์ปัจจุบัน ว่ามีจุดแข็งและจุดที่ต้องพัฒนาอะไร เพื่อกำหนดทิศทางการ Rebrand อย่างชัดเจน
- ตั้งเป้าหมายการ Rebrand ให้ชัดเจน โดยให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ใหม่ที่จะพัฒนา
- ต้องปรับปรุงวิธีการทางการตลาดให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าวงกว้างมากขึ้น
- การออกแบบโลโก้และองค์ประกอบภาพลักษณ์ใหม่ ควรสอดคล้องกับทิศทางและภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อทำให้แบรนด์มีความโดดเด่นและจดจำง่าย
เรื่อง “เสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นจากการ Rebranding
การ Rebranding ไม่การันตีเสมอไปว่า แบรนด์จะประสบความสำเร็จ แถมยังมีความสุ่มเสี่ยงในหลายเรื่อง
- ผู้คนที่เคยจดจำแบรนด์เดิมอาจไม่คุ้นเคยและเกิดความสับสนในการจดจำหรือค้นหา ถ้าแบรนด์เปลี่ยนชื่อหรือโลโก้ไปอย่างมาก
- การ Rebranding มีองค์ประกอบทั้งการออกแบบ การผลิตสื่อใหม่ การโฆษณา ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง
- การ Rebranding ที่ไม่สอดคล้องกับจุดยืนเดิมของแบรนด์ เสี่ยงต่อความสับสนและไม่น่าเชื่อถือ
- นอกจากนี้ การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มลูกค้าเดิมได้
Rebranding ให้ปัง ทำอย่างไร ?
หากมุ่งหวังให้การ Rebranding เดินหน้าไปให้ถึงความสำเร็จ จำเป็นต้องระลึกถึงเรื่องเหล่านี้ไว้
- สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ใหม่ที่ชัดเจน ปรับโลโก้ สี และรูปแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่
- ข้อความของแบรนด์ การสื่อสารชัดเจน สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมโยงกับลูกค้า เพื่อทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ยาวนานขึ้น
- ภาพลักษณ์ทางสายตา เช่น การปรับปรุงโลโก้ รูปภาพ หรือกราฟิก พยายามคงความสอดคล้องในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการจดจำและเข้าใจถึงภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์
Did You Know ? เรื่องราว “การเปลี่ยน” ของแบรนด์ที่น่าสนใจ
- ผู้คนรู้จัก SCG หรือ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด แต่กว่าจะมาเป็น SCG อย่างในปัจจุบัน ในอดีต SCG มีชื่อแบรนด์ในการรับรู้ของคนทั่วไปว่า “ตราช้าง” จนเมื่อปี 2558 ได้มีการ Rebranding สินค้าวัสดุก่อสร้างแบรนด์ตราช้าง ให้กลายมาเป็น เอสซีจี (SCG) อย่างในปัจจุบัน
- ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ผู้คนคุ้นเคยกับคำว่า สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ กระทั่ง ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้บุกเบิกสวนน้ำในตำนานแห่งนี้ ส่งไม้ต่อทางธุรกิจสู่รุ่นลูกของเขา ต่อมาในปี 2562 สวนสยามทำการ Rebranding เปลี่ยนเป็น สยาม อเมซซิง พาร์ค (Siam Amazing Park) เพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับคนุร่นใหม่
- สตาร์บัคส์ (Starbucks) แบรนด์ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าขายกาแฟ เมื่อก่อนมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า Starbucks Coffee กระทั่งในปี 2019 สตาร์บัคส์ทำการ Rebranding ตัวเอง ตัดคำว่า Coffee ออก เหลือเพียงคำว่า Starbucks เพื่อไม่ให้ติดภาพจำว่าขายแต่กาแฟ และเปิดโอกาสให้เพิ่มสินค้าหลากหลายในอนาคต
- แบรนด์ ดังกิ้นโดนัท มีมาตั้งแต่ปี 1948 และผู้บริโภคคุ้นเคยในฐานะ แบรนด์ที่ขายสินค้าโดนัท แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ปัจจุบัน ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ รวมถึงเครื่องดื่มกาแฟยังมีตลาดที่เติบโตขึ้น ทำให้ในปี 2019 ดังกิ้นโดนัท ลุกขึ้นมา Rebranding ครั้งสำคัญ ด้วยการตัดคำว่า “โดนัท” ออก ซึ่งเหตุผลที่ดังกิ้นโดนัทตัดสินใจ “เปลี่ยนแปลงตัวเอง” เนื่องจากอยากรุกเข้ามายังตลาดเครื่องดื่มให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้ง “โดนัท” อันเป็นมรดกสำคัญของธุรกิจ เพียงแต่พยายามมองหา “ตลาดใหม่ๆ” เพื่อรองรับผู้คนรุ่นใหม่ ๆ ด้วยนั่นเอง
การเปลี่ยนไปสู่ “สิ่งที่ดีกว่า” ย่อมเป็นเรื่องที่ธุรกิจให้ความสำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การยังคง “รักษา” มาตรฐานของสินค้าและบริการ ตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดีเอาไว้ให้ยาวนาน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน
อ้างอิง