วันนี้ (26 ม.ค.2568) เวลา 17.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5, แม่ทัพภาคที่ 3, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, รองผู้บังคับการกองบิน 41 และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ
ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินผ่านประตูช้างเผือก ตัวแทนประชาชนชาวเชียงใหม่จำนวน 900 คน พร้อมใจกันแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยการฟ้อนเล็บรับเสด็จ เพื่อถวายพระเกียรติและถวายการต้อนรับ
เวลา 17.52 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ พญาเม็งราย พญางำเมือง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระผู้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่
พลอากาศตรี เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เจ้าแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย สูจิบัตรแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรริ้วขบวนฟ้อนเชิญบายศรีทูลพระขวัญ พร้อมเครื่องราชสักการะและพุ่มดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบด้วย กังสดาล วงกลองจุม ขบวนตุงช่อช้างนักษัตรประจำปีพระราชสมภพ, เจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายชาย 5 คู่ ฟ้อนเชิญพานพระขวัญ ต้นบายศรี 9 ชั้น เชิญพระขวัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายหญิง 8 คู่ ฟ้อนเชิญพานพระขวัญ ต้นบายศรี 7 ชั้น เชิญพระขวัญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตามด้วยพานเครื่องพระขวัญ สุกร เครื่องคาว - หวาน เครื่องสักการะล้านนา 5 คู่ พานพุ่ม 5 สกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง, ณ น่าน, ณ เชียงตุง
มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ เป็นตัวแทนของชาวล้านนารวม 8 จังหวัด จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญตามโบราณราชประเพณีชาวล้านนา ที่มีความเชื่อว่าในร่างกายของมนุษย์ประกอบขึ้นจากธาตุ 4 ขันธ์ 5 และมีขวัญทั้ง 32 ขวัญ เพื่อให้มีชีวิตและจิตใจสมบูรณ์ต้องมีขวัญอยู่ครบทั้ง 32 ขวัญ ขวัญอยู่ที่กระหม่อมจุดบนสุดของศีรษะ เมื่อเรียกขวัญเข้าสู่กระหม่อมแล้ว ต้องใช้ฝ้ายวิเศษผูกข้อมือเพื่อผูกขวัญไว้ไม่ให้ขวัญหนีออกไปจากร่างกาย สำหรับคนธรรมดา เรียกว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญ
จากนั้น เริ่มพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง ร่ายนำคำทูลพระขวัญ เป็นทำนองของเจ้านายฝ่ายเหนือ, นายสนั่น ธรรมธิ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่งแต้มและขับลำนำทูลเชิญพระขวัญ
เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายราชสกุล ณ เชียงใหม่ ผู้แทนของเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายชายอาวุโส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายด้ายผูกข้อพระหัตถ์ ขวาและซ้าย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เจ้าวรเทวี ณ ลำพูน ผู้แทนของเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายหญิงอาวุโส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายด้ายผูกข้อพระหัตถ์ซ้ายขวา แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
พิธีบายศรีทูลพระขวัญ จัดขึ้นเมื่อวันที่23 มกราคม 2469 โดยพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ รำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ พลับพลา หน้าศาลากลาง มณฑลพายัพ หรือบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2501 เจ้านายฝ่ายเหนือจัดถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกร ที่เชียงใหม่ และเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสมโภช 700 ปี เมืองเชียงใหม่ และในโอกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชย์สมบัติ ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2539
ขณะที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เจ้านายฝ่ายเหนือเคยจัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญถวาย ในโอกาสทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยดันทรูน ณ สนามกีฬาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2525
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญ และทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีมาแต่โบราณ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของรัชกาลในการจัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ซึ่งที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคเหนือมาโดยตลอด
โอกาสนี้ เจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ผู้แทนเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายชาย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เจ้าประภารัตน์ ณ ลำพูน ผู้แทนเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายหญิง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
จากนั้นทอดพระเนตรการแสดง ปฐมพงศ์วงศ์พิงคนคร, สานสัมพันธไมตรีทิพย์จักรีวงศ์, สายใยรักสองแผ่นดิน, ร่มฟ้าพระบารมี อาทิ เรื่องราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการพระราชดำริ แก่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ การฟื้นฟูคลองแม่ข่า อายุกว่า 700 ปี ที่เป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชัยภูมิ ที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่
โครงการเกษตรวิชญา ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่สูง ให้แก่เกษตรอย่างครบวงจร รวมทั้งโครงการหลวง ซึ่งทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร โดยมีชาวล้านนาทุกชนชั้นตั้งแต่เจ้านายฝ่ายเหนือ ประชาชน และชาวชาติพันธุ์ ต่างร่วมถวายความจงรักภักดี