ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ทรัมป์” จากอดีตสู่ปัจจุบัน มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?


รอบโลก

23 ม.ค. 68

InfoFriend

Logo Thai PBS
แชร์

“ทรัมป์” จากอดีตสู่ปัจจุบัน มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2214

“ทรัมป์” จากอดีตสู่ปัจจุบัน มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 และ 47 สังกัดพรรคริพับลิกัน เข้ากุมบังเหียนรัฐบาล 2.0 ของเขาหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่สภาคองเกรสในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ตามเวลาท้องถิ่น โดยสำนักข่าวเอพีชี้จุดเปลี่ยนของรัฐบาล “ทรัมป์ 1.0” และ “ทรัมป์ 2.0” ดังนี้

โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา โดยมีประธานศาลฎีกาจอห์น โรเบิร์ตส์ เป็นผู้ทำพิธี ณ อาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568

ทรัมป์ 1.0

เขาก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวครั้งแรกเมื่อปี 2560 คล้ายคนแปลกหน้าของผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงวอชิงตัน เพราะถูกมองว่าเป็นประธานาธิบดีคนเดียวในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ณ ขณะนั้นที่ไร้ประสบการณ์ในภาครัฐและกองทัพโดยสิ้นเชิง ผู้คนต่างเคลือบแคลงว่าเขาจะนำพารัฐนาวาไปรอดหรือไม่

นโยบายหรือแผนการต่าง ๆ ของทรัมป์จึงถูกคัดค้านหรือปัดตกบ่อยครั้งจากทีมงานร่วมรัฐบาล ทั้งที่แสดงออกอย่างเปิดเผยและที่ไม่แสดงตัว โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่เพิ่งเข้าบริหารประเทศ แม้แต่ในช่วงการหาเสียง ทรัมป์ต้องเปลี่ยนตัวผู้จัดการขับเคลื่อนการหาเสียงของเขาถึง 6 คน และเมื่อนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีแล้ว ทรัมป์ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวถึง 4 คน
 

โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2560

อีกทั้งทีมงานร่วมรัฐบาลของเขาก็ถูกโจษจันว่าเป็น “จอมเมาท์ลับหลัง” และ “จอมจ้องหาเรื่อง” ในงานต่างส่วน ในสภาคองเกรส ทรัมป์เผชิญกับกระแสต่อต้านไม่ยอมรับในดีกรีสูง แม้แต่กลุ่มสมาชิกร่วมพรรคริพับลิกันที่เป็นแกนนำในสภาคองเกรส เช่น อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร “พอล ไรอัน” (Paul Ryan) จากรัฐวิสคอนซิน และอดีตผู้นำเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา “มิตช์ แมคคอนเนลล์” (Mitch McConnell) จากรัฐเคนทักกี ก็วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์อย่างรุนแรง

พอล ไรอัน (ซ้าย) และ มิตช์ แมคคอนเนลล์ (ขวา)

ไรอันไม่ให้การสนับสนุน/รับรองทรัมป์ในช่วงการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์เมื่อปี 2559 และตราหน้าว่าทรัมป์เป็น “เผด็จการนาซี” ส่วนแม็คคอนเนลล์มอบฉายา “คนโง่” “จอมวีน” และ “มนุษย์ไม่น่าคบ” แก่ทรัมป์ บนเวทีโลก ทรัมป์ก็ไม่เป็นที่ปลื้มของกลุ่มผู้นำร่วมสมัย เช่น “จัสติน ทรูโด” (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา และ “อังเกลา แมร์เคิล” (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

จัสติน ทรูโด (ขวา) และ อังเกลา แมร์เคิล (ซ้าย)

ทรัมป์ 2.0

เขาก้าวกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งในปี 2568 นี้ ด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มพูนและทีมงานที่พลิกโฉม เลือกสรรกลุ่มผู้ที่เขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุด อีกทั้งมีสมาชิกสภาคองเกรส ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมพรรคริพับลิกันเป็นกองหนุนที่ครองเสียงส่วนใหญ่  

วันแรกของการดำรงตแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของทรัมป์ เขาใช้อำนาจประธานาธิบดีลงนามคำสั่งพิเศษกว่าร้อยฉบับ

ทีมงานหาเสียงของทรัมป์ครั้งใหม่นี้นำโดย “ซูซี่ ไวล์ส” (Susie Wiles) สมาชิกร่วมพรรคริพับลิกันจากรัฐฟลอริดาที่มากด้วยประสบการณ์ ทำให้การรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ได้รับเสียงชื่นชมทั้งจากพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครตว่าทำงานเก่งระดับมืออาชีพและมีวินัย

ทีมงานหาเสียงของทรัมป์ครั้งใหม่นี้นำโดย “ซูซี่ ไวล์ส” (Susie Wiles) สมาชิกร่วมพรรคริพับลิกันจากรัฐฟลอริดาที่มากด้วยประสบการณ์ ทำให้การรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ได้รับเสียงชื่นชมทั้งจากพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครตว่าทำงานเก่งระดับมืออาชีพและมีวินัย

ทรัมป์ยังได้แต่งตั้งไวล์สเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวในรัฐบาลชุดใหม่ของเขา ซึ่งเธอได้ประกาศจุดยืนการทำงานอย่างชัดเจนว่าเธอจะไม่ทนต่อกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำตนเด่นดังแต่ผู้เดียว อีกทั้งกลุ่ม “จอมเมาท์ลับหลัง” กลุ่ม “ชอบเดา” หรือกลุ่ม “ชอบดรามา” เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน  

บทบาทที่แข็งขันของทรัมป์ในช่วงการคัดเลือกผู้แทนพรรคริพับลิกันในรอบแรก ๆ (Republican primaries) ทำให้ทรัมป์มีกลุ่มแนวร่วมใหม่ภายในพรรค อาทิ “ไมค์ จอห์นสัน” (Mike Johnson) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนปัจจุบันจากรัฐหลุยเซียนา และ “จอห์น ธูน” (John Thune) ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาคนล่าสุดจากรัฐเซาท์ดาโคตา  
 

ไมค์ จอห์นสัน (ซ้าย) และ จอห์น ธูน (ขวา)

ทั้งจอห์นสันและธูนตระหนักดีว่าฐานอำนาจของเขาขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากทรัมป์ ในขณะที่กลุ่มร่วมพรรคแต่ไม่ปลื้มทรัมป์ ได้แก่ ไรอัน และแม็คคอนเนลล์ ตลอดจน “มิตต์ รอมนีย์” (Mitt Romney) จากรัฐยูทาห์ และ “ลิซ เชนีย์” (Liz Cheney) จากรัฐไวโอมิง ก็ก้าวลงจากที่นั่งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

มิตต์ รอมนีย์ (ซ้าย) และ ลิซ เชนีย์ (ขวา)

ทรัมป์ใช้เวลา 4 ปีแรกของการบริหารประเทศศึกษาวิธีการผลักดันร่างกฎหมายต่าง ๆ ให้ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส การเจรจาต่อรองกับบรรดาผู้นำโลกอื่น ๆ และการใช้อำนาจหน้าที่ในวาระการดำรงตำแหน่งให้เป็นผลดีต่อเขาอย่างสูงสุด

เขายังใช้เวลา 4 ปีที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตชุดก่อนของ “โจ ไบเดน” บริหารประเทศ ร่วมปรึกษาหารือ/วางแผน/เตรียมการ เพื่อหวนคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งกับกลุ่มพันธมิตร เช่น Heritage Foundation และ America First Policy Institute รวมถึงการร่วมร่างนโยบาย คำสั่งฝ่ายบริหาร และร่างกฎหมายหลายร้อยฉบับที่เขาจะผลักดันตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งใหม่  

บารมีของทรัมป์ขณะนี้แผ่ขยายไปถึงศาลฎีกาและศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในทุกระดับแล้ว ส่วนในเวทีโลกปัจจุบัน มีแต่กลุ่มผู้นำที่ต่างยินดีจะโอนอ่อนหรือร่วมมือกับทรัมป์ คือ มีนโยบายสนับสนุนครอบครัว ปราบปรามการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และชาตินิยมเช่นเดียวกับทรัมป์  
 

ประธานาธิบดีทรัมป์ โยนปากกาแจกให้กับผู้สนับสนุน ภายหลังจากที่เขาลงนามคำสั่งยกเลิกนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไบเดน

กลุ่มผู้นำโลกที่ไม่ปลื้มทรัมป์ไม่มีบทบาทแล้ว เช่น แมร์เคิลหมดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2564 และทรูโดก็กำลังก้าวลงจากตำแหน่งเร็ว ๆ นี้ ส่วนสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ก็เปลี่ยนตัวผู้กุมบังเหียนรัฐบาลแล้ว  

กลุ่มผู้นำร่วมสมัยในรัฐบาลชุดใหม่ของทรัมป์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นำประชานิยมที่อยู่ข้างทรัมป์ เช่น “จอร์เจีย เมโลนี” (Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีหญิงของอิตาลี, “ฮาบิเอร์ มิเลย์” (Javier Milei) ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา และ “วิกตอร์ ออร์บาน” (Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการี 

ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ผู้เขียน: InfoFriend

ยินดีนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลทึ่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด