ไม่ว่าจะเก่งเพียงใด บรรดานักเปียโนทุกคนล้วนต้องประสบภาวะศักยภาพ “ชนเพดาน (ceiling effect)” เมื่อฝึกฝนเปียโนอย่างเข้มข้นไปได้ระยะหนึ่งก็จะพัฒนาฝีมือต่อไปไม่ได้อีก แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดเผยว่า “มือกล” อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
จากบทความวิจัยซึ่งตีพิมพ์บนวารสาร Science Robotics เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 68 กลุ่มนักวิจัยญี่ปุ่นจาก Sony Computer Science Laboratories และสถาบัน NeuroPiano Institute เปิดเผยว่า “มือกล (hand robotic exoskeleton)” ซึ่งคล้ายกับโครงเหล็กสวมบนข้อมือและนิ้วนั้น สามารถเพิ่มศักยภาพการเล่นเปียโนได้แม้แต่ในกลุ่มนักเปียโนมืออาชีพ ผู้ค้นคว้าวิจัยได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างนักเปียโน 118 คน มาฝึกเปียโนจนแตะเพดานศักยภาพสูงสุด จากนั้นจึงให้กลุ่มตัวอย่างสวม “มือกล” หนึ่งข้าง และปล่อยให้ “มือกล” ควบคุมการขยับนิ้วมือ (passive training) ระหว่างที่ฝึกแพตเทิร์นเปียโนต่าง ๆ
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างถอด “มือกล” ออกและเล่นแพตเทิร์นเปียโนแบบเดียวกัน พบว่าพวกเขาเล่นได้เร็วและมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แม้นักเปียโนจะสวม “มือกล” เพียงข้างเดียว แต่ทักษะการเคลื่อนไหวของมืออีกข้างหนึ่งก็ดีขึ้นตามไปด้วย ชินนิจิ ฟุรุยะ (Shinichi Furuya) ผู้นำการวิจัยกล่าวว่า หลังจากที่ “มือกล” ควบคุมนิ้วมือ สมองจะจดจำแพตเทิร์นเปียโนต่าง ๆ ได้ “เมื่อคุณมีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ สมองก็จะสามารถเรียนรู้ได้ว่า ‘นี่คือวิธีขยับนิ้วมือนะ ไม่เคยรู้มาก่อนเลย’ จากนั้น พวกเรานักเปียโนก็จะสามารถเข้าใจสิ่งใหม่โดยสัญชาตญาณ” ฟุรุยะเสริม
มือเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่ซับซ้อนของร่างกาย เพราะมีกล้ามเนื้อมากกว่า 30 มัดพร้อมเส้นเอ็นต่าง ๆ เพียงแค่ฝ่ามือส่วนเดียวก็ประกอบด้วยปลายประสาทและจุดรับสัมผัสกว่า 17,000 จุด และการขยับมือทุก ๆ ครั้งต้องใช้การควบคุมการเคลื่อนไหวคู่กับการสะท้อนกลับด้านการรับรู้ความรู้สึก การพัฒนาเทคโนโลยีหรือเกี่ยวกับมือจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ดี เอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกนำมาใช้วิเคราะห์การทำงานของมือ อีกทั้งยังเริ่มทำนายรูปแบบการขยับมือโดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการได้แม่นยำขึ้น
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของ #ThaiPBS ได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech
อ่านเนื้อหาอื่นจาก Thai PBS Sci & Tech
- งานวิจัยสหรัฐฯ ล่าสุดสร้างข้อสงสัย ปริมาณฟลูออไรด์ส่งผลต่อไอคิวเด็กหรือไม่
- ใช้ AI ตรวจมะเร็ง ! วิเคราะห์ DNA จากเลือด อาจช่วยพบมะเร็ง 6 ชนิดตั้งแต่ระยะแรก
- แผ่นแปะผิวเลียนแบบหนวดปลาหมึก ลดการระคายเคืองและใช้ซ้ำได้
- “ขยะ” ทั้งหมดบนโลก ทำไม ? ไม่เอาไปทิ้งใน “อวกาศ”
ภาพปก: Shinichi Furuya via Tech Xplore
อ้างอิง
- BBC Global News Podcast (Jan 22, 2025)
- Human hands are astonishing tools. Here's why robots are struggling to match them, BBC
- Surmounting the ceiling effect of motor expertise by novel sensory experience with a hand exoskeleton, Science Robotics, 10(98)
- Use of robotic hand exoskeleton helps pianists improve their playing speed, Tech Xplore
รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech