ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ไทย” รับมือ “ทรัมป์” ยังไง อเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหรือไม่


รอบโลก

22 ม.ค. 68

มินนี่ นัฐชา กิจโมกข์

Logo Thai PBS
แชร์

“ไทย” รับมือ “ทรัมป์” ยังไง อเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหรือไม่

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2206

“ไทย” รับมือ “ทรัมป์” ยังไง อเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหรือไม่
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ จะเรียกทรัมป์ ว่าประธานาธิบดีป้ายแดง ก็คงไม่ถูกนักเมื่อมหาเศรษฐีผู้นี้เป็นผู้นำที่คุ้นตาชาวโลก และเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 มาแล้ว 

ครั้งนี้ ทรัมป์ ได้หวนกลับมาทวงคืนเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยแบบไม่ติดต่อกัน ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ได้ลั่นวาจา ว่าจะลงนามในคำสั่งพิเศษเกือบร้อยคำสั่ง

ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2025 เลื่อนการบังคับใช้การแบน TikTok ออกไปอีก 75 วัน

เมื่อทั่วโลกเตรียมปรับตัวรับมือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ แล้วประเทศไทยจะได้รับผลกระทบหรือได้ประโยชน์อย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงนี้ “ไทย” จะรับมือ “ทรัมป์” อย่างไร

ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2025

หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2024 ทรัมป์ จากรีพับลิกันเอาชนะ คามาลา แฮร์ริส จากเดโมแครตในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีได้สำเร็จ ซึ่งระหว่างการขึ้นเวทีดีเบตต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทรัมป์เวอร์ชันล่าสุดนี้เป็นทรัมป์ที่ดูสุขุมมากขึ้นต่างจากทรัมป์เมื่อ 8 ปีก่อน

“เดจาวู” เมื่อทรัมป์หวนคืนทำเนียบขาว

ด้าน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ทรัมป์เคยเป็นประธานาธิบดีแบบใด ทรัมป์ 2.0 ครั้งนี้ก็ไม่ต่างจาก “เดจาวู” และสโลแกนทำให้อเมริกายิ่งใหญ่ “Make America great again” ของทรัมป์นั้นต้องเกิดขึ้นในทันที ต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากตัวทรัมป์เองอายุ 78 ปีแล้ว และคงไม่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีก ทำให้เขาต้องสะสางปัญหาต่าง ๆ ภายในสมัยนี้ ผศ.อัครพงษ์มองว่า ทรัมป์จะมีท่าทางสุขุมมากขึ้น และจะมาด้วยท่าทีแข็งกร้าวมากกว่าเดิม เรียกได้ว่า เป็นทรัมป์ที่สั่งสมประสบการณ์มาก่อนหน้านี้แล้วก็ว่าได้

โดนัลด์ ทรัมป์ สวมหมวก Make America Great Again ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2024

หากเราไปดู “ทีมทรัมป์” ก็เปรียบได้กับทีม “อเวนเจอร์ส” แต่ละคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์เรียกได้ว่าตัวจี๊ดแทบทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งที่น่าชื่นชมคือการที่ ครม.ทรัมป์แต่งตั้งผู้หญิงมีสัดส่วนเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังสามารถดึงสุภาพบุรุษที่มีแนวคิดเดียวกันมาทำงานร่วมกันได้ ซึ่งทรัมป์ถือหลักความซื่อสัตย์ หากใครเห็นด้วยกับเขาก็มาเป็นทีมเดียวกัน

อีลอน มัสก์ หนึ่งในคณะทำงานของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ที่จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารของรัฐบาล หรือ Department of Government Efficiency

หนึ่งในสมาชิกทีมทรัมป์ที่ถูกจับตาคือ พีท เฮกเซธ อดีตผู้ประกาศข่าวฟอกซ์นิวส์ ที่ทรัมป์เลือกให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีอายุเพียง 44 ปี ก่อนหน้านี้เฮกเซธ ถูกยิงคำถามให้เขาระบุชื่อที่เป็นสมาชิกชาติอาเซียนมาหนึ่งชาติ แต่เขาไม่สามารถตอบคำถามได้ ทำให้คลิปดังกล่าวกลายเป็นไวรัล สร้างความกังวลว่าชาติอาเซียนนั้นหลุดขอบความสนใจของสหรัฐฯ ไปแล้วหรือไม่

พีท เฮกเซธ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ไม่สามารถตอบคำถามของ แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิก

“ไทย” จะรับมือ “ทรัมป์” อย่างไร?

ผศ.อัครพงษ์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ไทยควรตามน้ำไปก่อน เช่นในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอินโดแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงให้ความสำคัญ เพราะฐานทัพของอเมริกามีกว่า 100 ฐาน กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในอินโดแปซิฟิก ตั้งแต่ฐานทัพบริเวณเกาะริวกิว ของญี่ปุ่น ไปจนถึงเกาหลีใต้ และเกาะกวม รวมถึงฟิลิปปินส์ด้วย

“ไทยต้องเล่นบทตั้งรับให้ดี หากถามว่าไทยอยู่ในเรดาห์ของอเมริกาตรงไหน ไทยอยู่ในเรดาห์ของอเมริกาด้านความมั่นคง” ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ กล่าว

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนในประเด็นเศรษฐกิจ อาจารย์มองว่าไทยมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อยแม้ว่าไทยจะมีดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่มีความโดดเด่น ประเด็นที่น่าจับตาอีกอย่างคือ สังคมและวัฒนธรรม ทำอย่างไรที่ไทยจะสามารถใช้โอกาสนี้ชูประเด็นดังกล่าว รัฐบาลไทยควรมีนโยบายเพื่อดึงดูดผู้คนให้เดินทางมายังประเทศไทย เรียนรู้วัฒนธรรม

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2024

หากมองภาพใหญ่ของอาเซียน แต่ละชาติไม่ได้สานความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากนัก และอาจถูกมองว่าเป็นรัฐชายขอบ (Peripheral State) เนื่องจากการค้าส่วนใหญ่นั้นผ่านเส้นทางตะวันตก และศูนย์กลางการค้าของโลกนั้นอยู่ที่สหภาพยุโรป

แต่หากไทยมองว่าตัวเรานั้นเป็นมหาอำนาจระดับกลาง (Middle Power) ในระดับโลกไทยได้รับคำชมในเรื่องของระบบประกันสุขภาพ สองคือเรื่องของความยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง และเป็นประเทศท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ทำให้การส่งเสริมด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทยมีส่วนสำคัญ

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ได้มีบทบาทสำคัญในตะวันออกลาง ส่วนตะวันออกไกล หรืออินโดแปซิฟิก อาจถูกมองว่ามีไว้เพื่อประดับบารมี เพื่อเป็นกันชนกับรัฐที่ขึ้นมามีอำนาจใหม่เช่นจีนเป็นต้น

สอดคล้องกับรายงานจากสำนักข่าวนิเคอิเอเชียที่ระบุว่า ทีมทรัมป์ส่งสัญญาณว่าจะยังคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีนของสหรัฐฯ

ทรัมป์กลับมาพร้อมแรงซัพพอร์ต

แม้ว่าท่าทีที่ดูแข็งกร้าวของทรัมป์ และการหาเสียงด้วยการสัญญาว่าจะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่างชาติ รวมถึงขับผู้อพยพออกจากอเมริกา แต่รายงานจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า นโยบาย American First หรือ อเมริกันต้องมาเป็นอันดับแรกไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นานาชาติมากนัก

การที่ทรัมป์กวาดคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2024 สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้รับการสนับสนุนอย่างท้วมท้น ในขณะที่เสียงในพรรครีพับลิกันเองก็หนุนทรัมป์ไปในทิศทางเดียวกัน และทรัมป์ 2.0 ยังเป็นทรัมป์ที่มากประสบการณ์อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจับตาต่อไปว่าหลังจากนี้โลกภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะหมุนไปในทิศทางใด 

ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke

ที่มา

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โดนัลด์ ทรัมป์สหรัฐฯทรัมป์พีท เฮกเซธ
มินนี่ นัฐชา กิจโมกข์
ผู้เขียน: มินนี่ นัฐชา กิจโมกข์

“มินนี่” ชอบ “เมาท์” เรื่องต่างประเทศ รักเปียโน กีตาร์ และเพลงแจ๊ส เป็นพี่สาวแมวสองตัวชื่อโมเนต์กับมิวทู <3

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด