หนึ่งข่าวดีและหนึ่งความสุขแก่ชาว LGBTQIAN+ ในช่วงนี้ คือเป็นประเด็นที่ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มกราคม และในวันนี้คู่รัก LGBTQIAN+ ทั้งหลายต่างไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอกันอย่างสุขใจ
มากไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็น ‘ประเทศแรก’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นดินแดนในทวีปเอเชียถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ ถือเป็นสิ่งที่แสดงถึงการยกระดับชีวิต LGBTQIAN+ ของประเทศไทยอย่างแท้จริง และเป็นการตอกย้ำว่า ไทยเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและสีสันของ LGBTQIAN+ ไม่ว่ารูปแบบของชีวิตกลางคืน การแสดงแดรกควีน หรืองานภาพยนตร์และซีรีส์วาย
LGBTQIAN+ หนึ่งใน (อดีต) ‘คนชายขอบ’
ฉากหลังของ LGBTQIAN+ ไทยในช่วงอดีตที่ผ่านมา อาจจะไม่สวยงามมากนัก พบว่ามี LGBTQIAN+ ที่ต้อง ‘เจ็บปวด’ กับประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการที่ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมารองรับ
ดังเรื่องราวของ ‘ครูมิกกี้’ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านรายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุด หนึ่งตัวอย่างของความเจ็บปวด ผ่านเรื่องราวของ ข้าราชการครูที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ข้าราชการในการรักษามะเร็งตับให้แก่แฟนหนุ่มได้ เนื่องจากเธอมีเพศกำเนิดเดียวกับคู่ชีวิตของเขา เป็นผลทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและใช้สิทธิ์ข้าราชการรักษาคู่ชีวิตได้ และในที่สุด เธอได้เสียแฟนหนุ่มไป พร้อมกับการพาเธอไปสู่โรคซึมเศร้า
จากเรื่องราวของครูมิกกี้ อาจกล่าวได้ว่า นี่คือตัวอย่างของการทำให้ LGBTQIAN+ เป็น ‘คนชายขอบ’ ด้วยกฎหมายที่ยังไม่รองรับในช่วงเวลานั้น แม้กาลเวลาผ่านไปประเทศไทยตอนนี้จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่ใช่ว่าการมีอยู่ของกฎหมายนี้ในโลก จะกำจัดคำว่า ‘คนชายขอบ’ ออกไปได้หมด
‘คนชายขอบ’ หรือกลุ่มคนที่ถูกทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับในการใช้ชีวิต หรือไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองจากรัฐ อยู่นอกเหนือความสนใจของสังคม อาทิ คนพิการ คนข้ามเพศ หรือชนกลุ่มน้อย เป็นต้น
เมื่อไต้หวัน อาจไม่ใช่สวรรค์ของ LGBTQIAN+ เสมอไป
‘ไต้หวัน’ พื้นที่แรกของทวีปเอเซียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม สิ่งนี้อาจดูสวยงาม และทำให้ดูก้าวล้ำไปหนึ่งก้าวมากกว่าชาติอื่นในทวีป แต่การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมรองรับ ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ครอบคลุมว่า LGBTQIAN+ ทุกคู่ในไต้หวันจะสมรสกันได้ ?
จากข้อมูลใน Focus Taiwan หัวข้อ FEATURE/Fighting for love: Inside the struggle for marriage equality ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน ในประเด็น เกณฑ์อนุญาตให้คู่รัก LGBTQIAN+ ในไต้หวันสมรสได้ผ่านเงื่อนไข ซึ่งมีเกณฑ์ตามนี้
- คู่ที่เป็นคนไต้หวันด้วยกันทั้งคู่
- คู่เป็นคนไต้หวัน และชาวต่างชาติที่มาจากชาติที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
- คู่เป็นคนไต้หวัน และชาวต่างชาติที่มาจากชาติที่ไม่มีกฎหมายสมรสเท่าทียม
- คู่ที่เป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ และมาจากชาติที่มีกฎหมายสมรสมเท่าเทียม
และมีข้อยกเว้น คู่ต่อไปนี้ไม่สามารถสมรสในไต้หวันได้ ได้แก่
- คู่เป็นคนไต้หวัน และชาวจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
- คู่ที่เป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ แต่มีคนหนึ่งมาชาติที่ไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
จากข้อยกเว้นทั้ง 2 ข้อ นำไปสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมถึงต้องมีข้อยกเว้น โดยเฉพาะประเด็นคู่รักที่คนหนึ่งเป็นชาวไต้หวันและคนหนึ่งเป็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ อาจด้วยเหตุผลครอบคลุมถึงเรื่องของความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวของไต้หวันและจีนนับตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา แม้ในความจริงคู่รักต่างเพศที่เป็นชาวไต้หวันและชาวจีน จะไม่ประสบปัญหานี้ก็ตาม
ิ่
สิ่งนี้ยิ่งสะท้อนว่า กลุ่ม LGBTQIAN+ บางส่วนในไต้หวัน ยังคงถูกผลักให้เป็น ‘คนชายขอบ’ ที่อาจมีเบื้องหลังของเรื่องทางการเมืองระหว่างสองชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อหันกลับมาที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยที่อนุญาตให้คนไทยและต่างชาติสมรสได้ อย่างไร้เงื่อนไข ก็ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในตัวกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไต้หวัน
นี่จึงอาจเป็นประเด็นที่ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดหรืออยากหาคำตอบต่อไปในอนาคต หรือร่วมลุ้นว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ?
กฎหมายสมรส หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในบางสังคมอาจแฝงไปด้วยผลประโยชน์ เกมการเมือง ภูมิหลังประวัติศาสตร์ หรืออคติบางอย่าง หรือที่จริง การตีความคำว่า ‘ความเท่าเทียม’ ในนิยามของบางคนหรือผู้มีอำนาจอาจ ‘ไม่เคยเท่ากัน’ กับคนอื่น และสุดท้ายสิ่งที่ถูกมองข้ามไปคือ ‘ความรู้สึกของมนุษย์คู่หนึ่งที่มีความรักซึ่งกันและกัน’
รับชมเรื่องราวของ LGBTQIAN+ คนแกร่ง ‘ครูมิกกี้ ดลญาดา ไชยชมภู’ ตอน ชีวิตใหม่กับโรค (ซึม) ที่ไม่เศร้า ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live ชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay หรือทาง youtube คลิกลิงก์รับชมได้ที่ชื่อแขกรับเชิญ ครูมิกกี้ ดลญาดา ไชยชมภู
อ้างอิง