สถิติของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 6 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา พบกลลวงยอดฮิตถึง 5 อันดับ ที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงประชาชน Thai PBS Verify ได้นำผลการดำเนินงาน ซึ่งพบสถิติที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกันมารวบรวมและสรุปไว้ดังนี้
ปัจจุบัน การหลอกลวงจากมิจฉาชีพกลายเป็นปัญหาที่แพร่หลายและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเพศหญิงที่ล่าสุดสถิติของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 6 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่า “ผู้หญิง” ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงมากกว่าผู้ชาย ผลสำรวจนี้เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง Thai PBS Verify ได้รวบรวมสถิติและสาเหตุที่ ผู้หญิง ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงมากกว่าผู้ชาย จากนักอาชญาวิทยามาไว้ในบทความนี้แล้ว
ปี 2567 พบว่ามีกลลวงจากมิจฉาชีพ 5 อันดับ ที่มีประชาชนแจ้งเข้ามายังศูนย์ AOC 1441 โดยกลลวง 5 อันดับแรก ได้แก่
1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 124,122 บัญชี
2. หลอกลวงหารายได้พิเศษ 101,138 บัญชี
3. หลอกลวงลงทุน 62,179 บัญชี
4. หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 36,390 บัญชี
5. หลอกลวงให้กู้เงิน 32,242 บัญชี
หลอกลวงประเภทอื่น ๆ 59,334 บัญชี
นอกจากนี้พบว่า 1 ปีมีผู้เสียหายเฉลี่ย 3,173 สายต่อวัน มีจำนวนสายโทรเข้า 1,275,696 สาย เฉลี่ยต่อวัน 3,173 สาย โดยศูนย์ AOC ได้ระงับบัญชีธนาคารจำนวน 415,405 บัญชี เฉลี่ยต่อวัน 1,154 บัญชี
ช่องทางการถูกหลอกที่พบมากที่สุดในปี 2567
สำหรับช่องทางการถูกหลอกที่พบในปี 2567 พบว่ามิจฉาชีพใช้ช่องทางการหลอกลวงเหยื่อหลายช่องทางด้วยกัน ซึ่งศูนย์ AOC ได้แยกประเภทของช่องทางการหลอกลวงออกมาได้ 5 รูปแบบ ที่มิจฉาชีพนำมาใช้มากที่สุดในปี 2567 ได้แก่
1. facebook 26,804 เคส จำนวนความเสียหาย 718 ล้านบาท
2. call center 22,299 เคส จำนวนความเสียหาย 945 ล้านบาท
3. เว็บไซต์ 16,510 เคส จำนวนความเสียหาย 1,148 ล้านบาท
4. TikTok 994 เคส จำนวนความเสียหาย 65 ล้านบาท
5. อื่น ๆ 20,518 เคส จำนวนความเสียหาย 1,262 ล้านบาท
ช่วงอายุที่ถูกหลอกมากที่สุด
ส่วนช่วงอายุที่ถูกหลอกมากที่สุดแบ่งเป็น 4 ช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 20 - 49 ปี , ช่วงอายุ 50 - 64 ปี , ช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยปี 2567 พบว่า ช่วงอายุที่ถูกมิจฉาชีพหลอกมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 20 - 49 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดอีกด้วย โดยมีมูลค่าความเสียหายถึง 8,223 ล้านบาท
ช่วงอายุที่ถูกหลอกมากที่สุดในปี 2567
1. ช่วงอายุ 20 - 49 ปี จำนวนการแจ้งเรื่อง 145,302 เคส มูลค่าความเสียหาย 8,223 ล้านบาท
เหตุผลที่เป็นเป้าหมาย :
▪ มีรายได้และกำลังซื้อสูง
▪ มักสนใจโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี
▪ ใช้สื่อออนไลน์และแอปพลิเคชันทางการเงินเป็นประจำ
2. ช่วงอายุ 50 - 64 ปี จำนวนการแจ้งเรื่อง 33,875 เคส มูลค่าความเสียหาย 5,330 ล้านบาท
เหตุผลที่เป็นเป้าหมาย :
▪ มักไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีหรือการตรวจสอบข้อมูลออนไลน์
▪ มีเงินออมสำหรับเกษียณหรือมรดก
▪ ตอบสนองต่อความกลัว เช่น การข่มขู่ทางโทรศัพท์
3. ช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนการแจ้งเรื่อง 9,800 เคส มูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท
เหตุผลที่เป็นเป้าหมาย:
▪ มักสนใจการหารายได้เสริมหรือของฟรี
▪ ใช้โซเชียลมีเดียและเกมออนไลน์ที่มิจฉาชีพแฝงตัวอยู่
4. อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวนการแจ้งเรื่อง 8,026 เคส มูลค่าความเสียหาย 2,439 ล้านบาท
เหตุผลที่เป็นเป้าหมาย :
▪ มักไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีหรือการตรวจสอบข้อมูลออนไลน์
▪ มีเงินออมสำหรับเกษียณหรือมรดก
▪ ตอบสนองต่อความกลัว เช่น การข่มขู่ทางโทรศัพท์
ผลการสำรวจยังพบว่า เพศหญิงถูกหลอกมากกว่าเพศชายในทุกช่วงอายุอีกด้วย
พฤติกรรมจับจ่ายของเพศหญิง สาเหตุทำให้ตกเป็นเหยื่อ
นาย วรภัทร พึ่งพงศ์ นักวิชาการอิสระ ด้านอาชญาวิทยาและเหยื่อวิทยา ให้ความคิดเห็นถึงกรณีที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชายว่า การที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชายนั้น อาจจะสะท้อนในเรื่องของพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าและบริการออนไลน์ของผู้หญิงนั้น ถือว่าค่อนข้างที่จะมีความถี่สูงมากกว่าเพศอื่น แต่ก็ยังคงต้องมองอีกมุม เพราะข้อมูลสถิติดังกล่าวอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอาจจะมีการสำรวจที่ตกหล่นไป เช่น เพศชายในที่นี้อาจจะยังไม่ได้แยกเป็นกลุ่ม LGBTQ ที่อาจจะมีพฤติกรรมบริโภคสินค้าออนไลน์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ก็อาจจะเทียบเท่าหรือมากกว่าเพศหญิงก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามหากมองจากสถิติที่แสดงให้เราเห็น ก็สะท้อนได้ว่า ผู้หญิงมีพฤติกรรมความถี่พอสมควร แต่หากมองอีกด้านโดยเฉพาะในมุมของอาชญากร ก็เชื่อว่าอาจจะไม่ได้โฟกัสไปที่เพศหญิงโดยตรง แต่อาจจะโฟกัสไปที่เหยื่อที่มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำ หรือใช้สินค้าและบริการออนไลน์อยู่ตลอดเวลา
"สถิติที่พบว่าไปตกที่เพศหญิงมากกว่านั้น เชื่อว่ามิจฉาชีพไม่ได้เลือกเหยื่อเฉพาะเจาะจง แต่เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้หญิงที่มากกว่า ที่เป็นจุดที่ทำให้เพศหญิงกลายเป็นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย"
First Jobber เป้าหมายหลักเหล่ามิจฉาชีพ
ส่วนการที่ช่วงอายุ 20-49 ที่ตกเป็นเหยื่อมากเป็นพิเศษนั้น หากสังเกตดี ๆ จะพบว่ากลุ่มที่เป็น First Jobber หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้น และก้าวเข้ามาสู่ช่วงของการทำงานเป็นครั้งแรก หรือคนทเพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงของการทำงานไม่เกิน 4 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มมีรายได้ เริ่มมีรายรับ และกล้าคิด กล้าใช้เงิน รวมไปถึงมีกำลังซื้อ ทำให้เป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมที่อาชญากรจะใช้โฟกัสเป็นพิเศษ ซึ่งการที่ช่วงอายุของกลุ่มนี้มีช่วงอายุที่ยาวไปถึง 49 ปี ก็สะท้อนให้เห็นอีกว่า กลุ่มช่วงอายุนี้เป็นช่วงอายุที่มีรายรับเติบโตค่อนข้างมั่นคง ซึ่งเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังทรัพย์มากขึ้น ก็จะทำให้ความมั่นใจ หรือความกล้าในการลงทุนใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจอาชญากร จึงไม่แปลกที่กลุ่มเป้าหมายจะไปสอดคล้องกับตัวเลขของเหยื่อที่พบมากที่สุด
การป้องกันตนเองเบื้องต้น
ตั้งสติ แม้จะดูเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นไม่ว่าจะได้รับข้อความ รับสายโทรศัพท์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงของระยะการวัดใจที่จะ เชื่อ หรือ ไม่เชื่อ จำเป็นที่จะต้องกลับมาตั้งสติเสียก่อน อาจจะนำวิจารณญาณ นำคนรอบตัว หรือองค์ความรู้มาพิจารณาเสียก่อน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ทุกคนสามารถจะดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น เพราะต้องบอกว่ากระบวนการของรัฐ ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาดูแลได้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งการป้องกันตนเองถือเป็นเรื่องปัจเจกที่เราจำเป็นต้องทำด้วยตนเอง และจำเป็นจะต้องมีความตั้งสังเกต โดยจะต้องไม่หลงไปกับจิตวิทยาของอาชญากรที่มักจะใช้หลัก ความกลัว ผสมกับ ความเร่งด่วน เช่น การข่มขู่ด้วยหมายศาล หรือการผสมกับความเร่งด่วนที่ต้องทำเดี๋ยวนั้น ซึ่งจะทำให้สติของเหยื่อหายไป
ดังนั้นเมื่อมีสติแล้ว จำเป็นที่จะต้องสังเกตร่วมด้วย ว่าข้อมูลได้รับมีความถูกต้องหรือไม่ ซึ่งการที่เราใช้ความช่างสังเกตเข้ามาก็จำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้ ล้วนเป็นด้านตรงข้ามกับอาชญากรที่ใช้เข้ามาล่อลวงเหยื่อ ซึ่งทุกคนจำเป็นที่จะต้องมั่นใจในตนเอง เพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเองในเบื้องต้นจากจิตวิทยาของอาชญากร
ผลสำรวจกลลวงออนไลน์ในปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นปีที่กลลวงของเหล่ามิจฉาชีพมีความสลับซับซ้อน และมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการหลอกลวงเหยื่อ ดังนั้นการระมัดระวังและหาความรู้ในการรับมือกับภัยออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัวและทรัพย์สินของเราได้ ไม่เพียงเท่านั้นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และมีการระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลออนไลน์ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากกลลวงออนไลน์
พึงระลึกไว้เสมอว่า มิจฉาชีพไม่มีวันหยุด