สงกรานต์หรือปีใหม่ไทยถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาอย่างช้านาน ในทุกปีจะมีนางสงกรานต์ประจำปีตามความเชื่อโบราณ โดยปีนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ออกประกาศนางสงกรานต์ปี 2567 ทรงนามว่า “มโหธรเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จนอนลืมตา มาเหนือหลังมยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ
แล้วนางสงกรานต์มีที่มาอย่างไร ? แต่ละปีมีการเลือกอย่างไร ? เบื้องหลังเทศกาลแห่งความสุขนี้มีเรื่องราวตำนานแบบใดซ่อนอยู่ ไทยพีบีเอสขอพาทุกคนมารู้จักจุดเริ่มต้นตำนานในวันสงกรานต์ และนางสงกรานต์ทั้ง 7
จากคำดูถูกสู่จุดเริ่มนี้ตำนานการเคลื่อนผ่านของพระอาทิตย์
สงกรานต์มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ว่า “สํ – กรานต” ที่แปลว่า “ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือเคลื่อนที่” สื่อถึงพระอาทิตย์ที่เคลื่อนย้ายสู่ราศีใหม่ เรื่องราวการเคลื่อนของพระอาทิตย์นี้กลับมีจุดเริ่มต้นจากเพียง “คำดูถูกของนักเลงสุราคนหนึ่ง” เท่านั้น
เรื่องเล่าความเป็นมาของวันสงกรานต์มีอ้างอิงจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกเรื่องราวเหล่านั้นลงบนแผ่นศิลา 7 แผ่น ติดประดับไว้ในศาลาของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์
จารึกตำนานการเกิดวันสงกรานต์เริ่มต้นจากความทุกข์ใจของเศรษฐีคนหนึ่งที่อายุเลยวัยกลางคนแล้วแต่ก็ยังไร้ทายาท วันหนึ่งมีนักเลงสุราพูดถากถางเศรษฐีขึ้นว่า ตัวเศรษฐีนั้นแม้รวยทรัพย์แต่กลับอาภัพบุตร ทำให้เศรษฐีรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจึงได้เริ่มต้นบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานยาวนานถึง 3 ปี กระทั่งวันหนึ่งเศรษฐีและข้าทาสบริวารได้ทำการล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาด 7 ครั้งแล้วหุงถวายให้ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ตอนนั้นเองเหล่าเทพเกิดเห็นใจสงสารจึงได้ไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรให้แก่เศรษฐี เทพบุตรนาม “ธรรมบาล” จึงได้รับบัญชาลงมาจุติและได้ชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร” ในเวลาต่อมา
ธรรมบาลกุมารเป็นเด็กหัวไว เรียนรู้ภาษานกและเรียนจบไตรเพท (คัมภีร์สูงสุดของศาสนาพรหม) ได้ด้วยวัยเพียง 7 ขวบ ชื่อเสียงนี้เองทำให้ท้าวกบิลพรหมอยากทดสอบความสามารถ จึงได้เสด็จมายังโลกแล้วท้าพนันถึงขั้นตัดคอกัน
การท้าทายจบลงด้วยชัยชนะของธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงได้เรียกธิดาทั้ง 7 ของตนออกมาเพื่อรอรับหัวของตน เพราะท้าวกบิลพรหมแท้จริงแล้วคือพระอาทิตย์ คำว่า “กบิล” มีความหมายว่าสีแดง หัวของท้าวกบิลพรหมหากตกลงแผ่นดินจะลุกเป็นไฟไหม้ทั้งโลก หากโยนขึ้นฟ้าอากาศจะแห้งแล้ง และหากทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้งเหือด ธิดาทั้ง 7 จึงได้รับมอบหมายให้รับเอาศีรษะใส่พานไว้ให้อัญเชิญเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วเก็บไว้ในถ้ำคันธุลีในเขาไกรลาศ ครบทุก 1 ปี ธิดาทั้ง 7 จะผลัดเวรกันมาอัญเชิญศีรษะของท้าวกบิลพรหมวนรอบเขาพระสุเมรุซึ่งก็คือ ศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาลตามความเชื่อโบราณ
นัยยะของเรื่องราวทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของการเคลื่อนผ่านของพระอาทิตย์ตามความหมายของคำว่า “สงกรานต์” นั่นเอง
นางสงกรานต์ทั้ง 7
นางสงกรานต์ทั้ง 7 เดิมทีเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์ และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมเทพผู้เป็นตัวแทนแห่งพระอาทิตย์ ธิดาทั้ง 7 จึงเป็นตัวแทนของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ การเลือกนางสงกรานต์ของแต่ละปีจึงถูกกำหนดจากว่า วันที่ 14 เมษายนตรงกับวันใดของสัปดาห์ นางสงกรานต์ประจำวันนั้นก็จะถูกเลือกให้รับหน้าที่อัญเชิญศีรษะเพื่อเคลื่อนผ่านพระอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนี้
นางสงกรานต์ทุงสะเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

นางสงกรานต์โคราคะเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

นางสงกรานต์รากษสเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)

นางสงกรานต์มณฑาเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

นางสงกรานต์กิริณีเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)

นางสงกรานต์มโหธรเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

นอกจากวันไหนส่งผลให้นางสงกรานต์คนใดมาอัญเชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมแล้ว เวลาที่อาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษก็ส่งผลต่อท่าทางในการปรากฏกาย ดังจะสังเกตได้ในแต่ละปี ท่าทางของนางสงกรานต์จะแตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งหมด 4 ท่า ได้แก่ ท่าประทับยืน ท่าประทับนั่ง ท่าประทับนอนลืมตา และท่าประทับนอนหลับตา ช่วงเวลาอัญเชิญนี้เองที่จะนับว่าคือจุดเริ่มต้นของปีใหม่ไทยหรือวันมหาสงกรานต์ และส่งผลถึงคำทำนายความเป็นไปตามหลักโหราศาสตร์อีกด้วย
และวันที่นางสงกรานต์อัญเชิญพระอาทิตย์เคลื่อนผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษนี้เองเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์หรือเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ขณะที่วันเนาคือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่กึ่งกลางระหว่างราศีมีนและราศีเมษ ส่วนวันเฉลิงศกคือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอย่างสมบูรณ์จึงนับเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเข้าสู่ปีใหม่ ตำนานเบื้องหลังเทศกาลแห่งความสนุกทั้งหมดนี้คือสิ่งที่บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและฤดูกาลที่ส่งผลถึงชีวิตของเรานั่นเอง
ที่มา : หอสมุดแห่งชาติ