ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : ภาพปลอมอ้างบ้าน "จอห์น ซีนา" รอดจากไฟป่าแอลเอ


Verify

16 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : ภาพปลอมอ้างบ้าน "จอห์น ซีนา" รอดจากไฟป่าแอลเอ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2179

ตรวจสอบพบ : ภาพปลอมอ้างบ้าน "จอห์น ซีนา" รอดจากไฟป่าแอลเอ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบบัญชีเธรดโพสต์ภาพบ้านหลังคาสีแดงหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ท่ามกลางซากบ้านที่ถูกไฟไหม้ พร้อมระบุเป็นบ้านของ "จอห์น ซีนา" ที่รอดจากเหตุไฟไหม้ในแอลเอ แต่จากการตรวจสอบพบเป็นเพียงภาพที่สร้างจาก AI และไม่ใช่บ้านของนักมวยปล้ำชื่อดังแต่อย่างใด

แหล่งที่มา : เธรด

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์ปลอมจากบัญชีผู้ใช้เธรด

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "beela_2558" โพสต์ภาพบ้านหลังคาสีแดงหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ท่ามกลางซากบ้านที่ถูกไฟไหม้ โดยระบุข้อความว่า "John cena เป็นนักมวยปล้ำ บ้านเขาอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับที่ถูกไฟไหม้ในอเมริกา แต่บ้านเขาหลังเดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้ Allahu Akbar..." ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมียอดผู้ดูไปกว่า 95,000 ครั้ง มีผู้กดถูกใจถึง 433 ครั้ง รวมถึงแชร์ข้อมูลดังกล่าวไป 59 ครั้งด้วยกัน โดยภาพดังกล่าวถูกนำมาโพสต์หลังเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในนครลอสแองเจลิส (แอลเอ) 

เราทำการค้นหาที่มาของรูปภาพในโพสต์ดังกล่าวโดยการตรวจสอบย้อนกลับด้วย Google Images ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาของภาพได้ว่า ภาพที่ทำการค้นหาเป็นภาพจริงหรือไม่ ซึ่งผลการค้นหาระบุว่า ภาพดังกล่าว "สร้างด้วย AI ของ Google"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงผลการตรวจสอบภาพย้อนกลับด้วย Google Images ที่ระบุว่า "สร้างด้วย AI ของ Google"

ทั้งนี้ข้อมูลของ Google พบผู้ใช้ที่ไม่ทราบชื่อ ได้สร้างรูปภาพดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ ( AI ) ซึ่งอาจเป็นเครื่องสร้างข้อความเป็นรูปภาพของ Google DeepMind Imagen 3

บ้านของ "จอห์น ซีนา" อยู่ที่ไหน ?

เว็บไซต์ RTF ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เขียนบทความและบทวิจารณ์สถาปัตยกรรม ได้เขียนบทความเกี่ยวกับคฤหาสน์มูลค่า 3.5 ล้านเหรียญของ จอห์น ซีนา โดยระบุว่า บ้านของเขาอยู่ในชุมชน  Land'o Lakes ซึ่งเป็นชุมชนที่มีรั้วรอบขอบชิดในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ภายในบริเวณอ่าวแทมปา รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้อยู่ในลอสแอนเจลิส แต่อย่างใด

นอกจากการกล่าวอ้างของโพสต์นี้แล้ว เรายังพบการโพสต์ภาพเดียวกันและภาพบ้านหลังคาสีแดงลักษณะเดียวกัน ซึ่งอ้างถึงความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ ว่าเป็นบ้านที่รอดพ้นจากเหตุไฟไหม้ในแอลเอ เช่นที่นี่ และ นี่

ที่มาของบ้านหลังคาสีแดง

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพบ้านหลังคาสีแดงซึ่งรอดจากเหตุไฟป่าในรัฐฮาวาย เมื่อ 8 สิงหาคม 2023

บ้านหลังคาสีแดงที่ถูกนำมากล่าวอ้างนั้น เคยถูกแชร์ในโลกออนไลน์มาก่อน เพราะเป็นบ้านหลังเดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้ และตั้งตระหง่านอยู่หลังเดียวในละแวกนั้น ขณะที่รอบข้างเต็มไปด้วยกองซากปรักหักพังและเถ้าถ่านจากไฟป่าในลาไฮนาบนเกาะเมาอิ รัฐฮาวาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งเว็บไซต์ NPR เป็นองค์กรสื่ออิสระ เคยนำเสนอบทความถอดบทเรียน ที่บ้านหลังคาสีแดงหลังนี้สามารถรอดพ้นจากเหตุการณ์ไฟไหม้มาได้ ด้วยการปรับปรุงหลังคาโลหะและการไม่มีวัสดุติดไฟที่อยู่ติดกันกับตัวบ้าน

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจกดเข้าไปชมถึงเกือบ 1 แสนครั้งด้วยกัน โดยพบว่ามีข้อความของประชาชนบางส่วนที่เชื่อว่า ภาพดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นภายในบัญชีเธรดที่โพสต์ปลอม

ผลกระทบจากการไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีนี้ว่า ภาพที่ปรากฏในสื่อโดยเฉพาะภาพบ้านที่รอดจากเหตุไฟไหม้ พบว่ามีถึง 4 ภาพด้วยกันที่ถูกปล่อยมาในช่วงนี้ โดย 4 ภาพนี้มีการผสมกันของภาพที่เป็นภาพจริงแต่ผิดบริบท หรือ Missing context มาใช้ คือ การนำภาพบ้านที่รอดจากเหตุการณ์ไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นจริงในฮาวายเมื่อปี 2023 และเคยเป็นข่าวมาก่อนว่าบ้านหลังนี้รอดมาได้อย่างไร แต่ในช่วงนั้นไม่ได้มีการนำเรื่องของความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก AI ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เทคนิคที่ผู้ทำภาพขี้นมานั้น มีการนำทั้งภาพจริงแต่ผิดบริบทและภาพที่สร้างขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดโดยตรง และทำให้คนเข้าใจผิดทางวัตถุประสงค์อะไรบางอย่างของผู้โพสต์ภาพเหล่านี้

"เวลาที่เรานำเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดไปใส่ ย่อมมีบุคคลที่พร้อมจะเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับของไทยที่มักจะมีโพสต์เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ เช่น แชร์แล้วจะมีความโชคดี"

ทั้งนี้หากเกิดการหลงเชื่อ เช่น เราแชร์ข้อมูลอะไรไปแล้วมีผู้คนหลงเชื่อทันที หรือเชื่อไปเลยทันที นั่นแสดงว่ากระบวนการของการ Fact check หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงมันหายไป เท่ากับว่าผู้คนไม่สนใจตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ เลย คนไม่ตั้งคำถามเลยว่ามันใช่หรือไม่ มันจริงหรือไม่ ซึ่งการเชื่อแบบนี้ถือว่าน่ากลัวมาก เพราะในอนาคตหากเป็นข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพ ว่ากินอาหารเหล่านี้แล้วจะหายจากมะเร็ง หรือเรื่องของการเมืองที่มีการสร้างข้อมูลเท็จให้เกิดการเกลียดชังกัน โดยที่ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเลย ก็จะถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะหากไม่มีการพูดคุยกันด้วยข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ต่อไปก็จะทำให้คนที่ได้รับสารเกิดความเชื่อโดยที่ไม่ตั้งคำถาม ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเห็นได้จากคอมเมนต์ของเหตุการณ์นี้ ที่มีคนที่เชื่อไปแล้ว แต่มีคนที่ตั้งคำถามเพียงไม่กี่คนเพียงเท่านั้น

ข้อแนะนำเมื่อพบกับภาพปลอมในลักษณะนี้

เราสามารถตรวจสอบภาพด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ดังนี้

1 คลิกตรวจสอบรูปภาพด้วย Google Lens เมื่อตรวจสอบภาพแล้วระบบจะแสดงให้เห็นว่ารูปภาพดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ใดบ้าง


2 ด้านล่างของภาพจะปรากฏแท็บต่าง ๆ ให้เลือกแท็บที่มีข้อความว่า "เกี่ยวกับรูปภาพนี้" 


3 ระบบจะแสดงผลว่า ภาพที่ทำการค้นหาถูกสร้างด้วย AI หรือไม่ หากถูกสร้างด้วย AI จะระบุว่า "สร้างด้วย AI ของ Google"

เพียงเท่านี้เราก็จะทราบในเบื้องต้นว่าภาพที่ถูกนำมาโพสต์เป็นภาพที่ถูกสร้างจาก AI หรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพปลอมAIAI Generatedจอห์น ซีนาโพสต์ปลอมหลอกคลิกหลอกลวง
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด