ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เผด็จการซีเรียล่มสลาย เขย่าดุลอำนาจตะวันออกกลาง


รอบโลก

16 ม.ค. 68

พงศธัช สุขพงษ์

Logo Thai PBS
แชร์

เผด็จการซีเรียล่มสลาย เขย่าดุลอำนาจตะวันออกกลาง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2163

เผด็จการซีเรียล่มสลาย เขย่าดุลอำนาจตะวันออกกลาง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

การเปิดปฏิบัติการของกลุ่มฮายาต ตาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayʼat Tahrir al-Sham : HTS) นำโดยอาหมัด อัล-ชารา หรือ อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-จูลานี ในการเคลื่อนกำลังพลบุกกรุงดามัสกัส ศูนย์กลางทางอำนาจของซีเรียจนนำมาสู่การล่มสลายของตระกูลอัล-อัสซาดภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ถือเป็นทั้งจุดจบของตระกูลการเมืองที่กุมบังเหียนประเทศด้วยกำปั้นเหล็ก มานาน 5 ทศวรรษและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง 

ท่ามกลางคำถามถึงบทบาทของรัฐบาลชุดใหม่ในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในซีเรียหลังจากตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งของสงครามกลางเมืองมานานถึง 13 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500,000 คนและผู้ลี้ภัยสงครามอีกกว่า 12 ล้านคน

โมฮัมเหม็ด อัล-จูลานี

ปฐมบทสงครามกลางเมือง

ปฐมบทของสงครามกลางเมืองในซีเรีย มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจต่อการปกครองของระบอบอัล-อัสซาด และอิทธิพลจากการก่อกำเริบของคลื่นปฏิวัติอาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งขยายตัวไปทั่วโลกอาหรับ 

จุดชนวนการประท้วงของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หลังจากซีเรียอยู่ภายใต้การปกครองแบบกำปั้นเหล็กของตระกูลอัล-อัสซาดเพียงตระกูลเดียวมาเป็นเวลานาน 53 ปี นับตั้งแต่ฮาเฟซ อัล-อัสซาด บิดาของบาชาร์ อัล-อัสซาด ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากนูเรดดิน อัล-อาทาสซี และก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 1971

ฮาเฟซ อัล-อัสซาด

ตระกูลอัล-อัสซาด

การประท้วงอย่างสันติยกระดับสู่การก่อจลาจล นำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลซีเรีย ใต้เงาของระบอบอัล-อัสซาดกับกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มที่มีอุดมการณ์ความเชื่อและผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น Hayʼat Tahrir al-Sham (HTS) Free Syrian Army (FSA) Syrian National Army (SNA) และ Syrian Democratic Forces (SDF) ทำให้ความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ใช่การห้ำหั่นกันระหว่างรัฐบาลซีเรียกับกลุ่มต่อต้านอีกต่อไป เนื่องจากชาติมหาอำนาจเริ่มกระโจนเข้ามามีส่วนร่วม จนซีเรียตกอยู่ในวังวนของสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

ซีเรียกระดานหมากรุกมหาอำนาจ

รัสเซีย อิหร่านและกลุ่มเฮซบอลเลาะห์สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย หลังจากสูญเสียดินแดนให้กลุ่มต่อต้านอย่างหนักในปี 2013 ขณะที่สหรัฐฯ ตุรกีและประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับคอยสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มต่อต้านแตกต่างกันออกไป ทำให้กลุ่มต่อต้านไม่มีความสมัครสมานกลมเกลียวกันและแต่ละกลุ่มต่างมีเขตอิทธิพลในอาณัติของตัวเอง

1. Hayʼat Tahrir al-Sham (HTS)

กลุ่ม HTS ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ขึ้นแท่นกลุ่มทรงอิทธิพลมากที่สุดในการโค่นล้มระบอบอัล-อัสซาด

อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-จูลานี ได้ก่อตั้งกลุ่มอัล-นุสรา ฟรอนต์ (Al-Nusra Front) เมื่อปี 2011 เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลภายใต้การนำของตระกูลอัล-อัสซาดและยึดมั่นในอุดมการณ์เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มรัฐอิสลามโดยตรง จนกระทั่งถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายของสหรัฐฯ ตุรกี สหภาพยุโรปและสหประชาชาติมาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม อัล-จูลานี สะบั้นความสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ในอีก 5 ปีถัดมาและก่อตั้งกลุ่ม Hayʼat Tahrir al-Sham (HTS) ขึ้นมาด้วยการหลอมรวมกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มและชูแนวทางสายกลาง

2. People’s Protection Units (YPG) - Syrian Democratic Forces (SDF)

กองกำลัง People’s Protection Units (YPG) ควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียมาตั้งแต่ปี 2012 และในมุมมองของตุรกี กองกำลังนี้มีความเชื่อมโยงกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ที่ก่อความไม่สงบหลายระลอกบนแผ่นดินตุรกีตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้กองกำลังดังกล่าวยังถูกขึ้นบัญชีกลุ่มก่อการร้ายของสหรัฐฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ปี 2014 กลุ่มรัฐอิสลามเคลื่อนกำลังพลบุกยึดครองดินแดนซีเรีย ทำให้กองกำลัง YPG จับมือกับกลุ่มอื่น ๆ เข้าขัดขวางด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

กองกำลัง YPG ได้ก่อตั้งกลุ่ม  Syrian Democratic Forces (SDF) ของนักรบชาวเคิร์ดและชาวอาหรับในเวลาต่อมาและครอบครองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติสครอบคลุมเมืองรัคคาและแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดบางส่วน

3. Syrian National Army (SNA)

ตุรกีส่งกำลังพลไปยังซีเรียตั้งแต่ปี 2016 เพื่อผลักดันกองกำลังชาวเคิร์ดและกลุ่มรัฐอิสลามออกจากแนวพรมแดนก่อกำเนิดเป็นกลุ่ม Syrian National Army (SNA) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพตุรกีและมีฐานที่มั่นอยู่บริเวณพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ 

นอกจากนี้กลุ่ม SNA ยังมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม HTS กับพันธมิตรในการเคลื่อนพลบุกเมืองหลวงเพื่อโค่นอำนาจตระกูลอัล-อัสซาดเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอีกด้วย

ซีเรียแตกเป็นเสี่ยงเผือกร้อนรัฐบาลใหม่

เพียงไม่กี่วันหลังจากกลุ่ม HTS โค่นระบอบอัล-อัสซาดได้สำเร็จ “รัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่าน” ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การควบคุมของโมฮัมหมัด อัล-บาเชียร์ นายกรัฐมนตรีรักษาการผู้ให้คำมั่นในการกอบกู้ซีเรียให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาอีกครั้ง

อัล-บาเชียร์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านการพัฒนาและกิจการมนุษยธรรมในรัฐบาลกู้ชาติ (Syrian Salvation Government) นำโดยกลุ่ม HTS ระหว่างปี 2022 - 2023 และนายกรัฐมนตรีรัฐบาลกู้ชาติในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2024

ขณะที่อัล-จูลานีเดินสายพบคณะผู้แทนทางการทูตต่างชาติท่ามกลางคำถามถึงอนาคตทางการเมืองของดินแดนแห่งนี้ เนื่องจากรัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่านจะทำหน้าที่จนถึงเดือนมีนาคมเท่านั้นและกลุ่ม HTS ยังคงไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ

ผู้นำกลุ่ม HTS เปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงแผนในการยุบกองกำลังความมั่นคงของระบอบอัล-อัสซาด ปิดเรือนจำและตามล่าตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรมานหรือสังหารเหยื่อของการจับกุมคุมขังของรัฐบาลเผด็จการ

ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดกับคณะที่ปรึกษากลุ่ม HTS เปิดเผยว่า ผู้แทนของทุกนิกายจะเข้ามีส่วนร่วมในรัฐบาลรักษาการและประเด็นสำคัญที่จะถูกหยิบมาหารือครอบคลุมไปถึงการพิจารณาใช้ระบบประธานาธิบดีหรือระบบรัฐสภาด้วย

สหรัฐฯ ก็กำลังจับตามองความเคลื่อนไหวในซีเรียอย่างใกล้ชิดเช่นกัน สะท้อนให้เห็นจากท่าทีของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศในการเสนอให้ซีเรียจัดตั้งรัฐบาลบนความน่าเชื่อถือและการหลอมรวมคนทุกกลุ่มสอดคล้องกับข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ฉบับที่ 2254 เมื่อปี 2015 ให้ซีเรียเป็นผู้นำกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองด้วยการจัดตั้งรัฐบาลไร้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายใน 6 เดือน กำหนดกรอบเวลาของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมเพื่อเฟ้นหาผู้นำคนใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตามกลุ่ม HTS เป็นเพียงกลุ่มเดียวในเวลานี้ที่พบปะกับคณะผู้แทนทางการทูตต่างชาติกำลังสร้างความกังวลถึงความเป็นเอกภาพและการหลอมรวมของกลุ่มต่าง ๆ อย่างจริงจังในอนาคต เนื่องจากหลายกลุ่มยังไม่ได้วางอาวุธหรือถอนกำลัง อาจทำให้ประเทศยังคงอยู่ในวังวนของการเผชิญหน้าทางการทหารอย่างไม่มีวันจบสิ้นได้ และการผูกขาดอำนาจไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว อาจทำให้ประเทศยิ่งแตกเป็นเสี่ยงจนยากจะประสาน

การสร้างเอกภาพท่ามกลางรอยร้าว

ท่ามกลางความยินดีของประชาชนต่อการล่มสลายของระบอบอัล-อัสซาดที่ใช้นโยบายกำปั้นเหล็กในการปกครองประเทศมานานกว่า 5 ทศวรรษ รอยปริแยกภายในประเทศจากความขัดแย้งของกลุ่มต่อต้านไม่ได้จางหายไป 

และอนาคตทางการเมืองของซีเรียไม่ได้อาศัยความตั้งใจและความสามารถของกลุ่ม HTS เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากบทบาทของมหาอำนาจภายนอกประเทศล้วนมีส่วนสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองซีเรีย ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน รัสเซีย ตุรกี สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งอิสราเอลที่พยายามรักษาผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตัวเองหลังจากระบอบอัล-อัสซาดมาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของมหาอำนาจภายนอกอาจทำให้ซีเรียเดินซ้ำรอยลิเบียที่มี 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (Government of National Unity) กับรัฐบาลเสถียรภาพแห่งชาติ (Government of National Stability) และแต่ละรัฐบาลก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจแตกต่างกันออกไป  

นอกจากนี้การจัดสรรอำนาจผ่านบทบาทของมหาอำนาจภายนอก อาจผลักดันให้ซีเรียกลายเป็น “สหพันธรัฐ” ด้วยการแบ่งเขตอิทธิพลของแต่ละกลุ่ม

“ฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดของการเมืองซีเรียคือ การเปิดศึกแย่งชิงอำนาจภายในประเทศ อนาคตของซีเรียจึงขึ้นอยู่กับตัวแสดงภายในและตัวแสดงภายนอก”

อัล-อัสซาดล่มสลายเขย่าดุลอำนาจในภูมิภาค

การล่มสลายของระบอบอัล-อัสซาดส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของอิหร่านอย่างชัดเจน เนื่องจากซีเรียเคยเป็นเส้นทางผ่านขนส่งอาวุธไปยังกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรียยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงอิสราเอลด้วย

ผศ.ดร.มาโนชญ์ ระบุว่า อิสราเอลมีข้อกังวลถึงกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ในซีเรีย สะท้อนให้เห็นได้จากการเปิดปฏิบัติการโจมตีทางทหารพื้นที่หลายร้อยจุดทั่วซีเรีย และการประกาศจัดตั้ง “เขตกันชน” บนที่ราบสูงโกลันและพื้นที่ทางตอนใต้ของซีเรียตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการให้เหตุผลถึงความพยายามในการขัดขวางไม่ให้อาวุธยุทโธปกรณ์ตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย

“สงครามตัวแทนในซีเรีย” ไม่มีวันสิ้นสุด

“ใครเข้าไปครอบงำรัฐบาลดามัสกัสได้ก็จะได้เปรียบมาก ถ้าอิสราเอลทำได้ จะช่วยปิดล้อมอิหร่านอีกจังหวะหนึ่ง และป้องกันไม่ให้กองกำลังติดอาวุธต่อต้านอิสราเอลตั้งหลักขึ้นมาใหม่” 

ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคง มองว่า ความเคลื่อนไหวของอิสราเอลเป็นความพยายามขยายอิทธิพลครอบงำผู้ปกครองชุดใหม่เพื่อชิงความเป็นเจ้าในการครอบครองซีเรียในวันข้างหน้านำไปสู่สงครามตัวแทนไม่มีที่สิ้นสุดได้

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร

สำหรับอิหร่านน่าจะต้องตั้งหลักใหม่และจับตามองท่าทีของสหรัฐฯ และอิสราเอล ในระยะสั้น ซึ่งในสายตาของ รศ.ดร.ปณิธาน แสดงความกังวลถึงการเร่งเครื่องพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านนำไปสู่ “การทูตนิวเคลียร์” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง หลังจากอิหร่านสูญเสียพันธมิตรในแกนแห่งการต่อต้าน (Axis of Resistance) ในความขัดแย้งระดับภูมิภาคจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสและสงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านอีกหลายกลุ่มยังคงมีความเชื่อมโยงกับอิหร่าน ทำให้ภาวะสงครามตัวแทนในดินแดนซีเรียไม่น่าจะยุติลงในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากตุรกี อิสราเอลและสหรัฐฯ คงไม่ยอมสูญเสียผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตัวเองให้หมดไปง่าย ๆ

อ้างอิง 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ซีเรียอัสซาดตระกูลอัล-อัสซาดมูฮัมหมัด อัล-บาเชียร์อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-จูลานี
พงศธัช สุขพงษ์
ผู้เขียน: พงศธัช สุขพงษ์

บรรณาธิการศูนย์ Thai PBS World และผู้ดำเนินรายการทันโลก กับ Thai PBS สนใจประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์การเมืองโลก รักการติดตามข่าวต่างประเทศเป็นชีวิตจิตใจและขาดกาแฟไม่ได้

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด