เฉกเช่นประชากรโลกที่ก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ด้วยสุขและทุกข์คละเคล้ากันดังเช่นรายงานข่าวต่าง ๆ ที่เผยแพร่อย่างเชื่อมโยงออกไปอย่างกว้างขวางในยุคโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกก็คล้ายคลึงกัน ที่ขับเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่นี้ตามกาลเวลา พร้อมด้วยสถานการณ์บวกและลบคละเคล้ากัน
ในด้านบวก ภาคประชาชนและภาคธุรกิจอาจเริ่มวางแผนการบริโภคสินค้าและบริการ ตลอดจนการลงทุนใหม่ ๆ เมื่อตระหนักว่า ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศสำคัญมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน หรือดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง หลังจากความกดดันสูงจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกดำเนินการตาม
"ทรัมป์ 2.0" กับนโยบายเศรษฐกิจที่ทั่วโลกจับตามอง
นอกจากนี้ นโยบายปรับลดอัตราภาษีและผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ในภาคธุรกิจของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประเทศพี่เบิ้มใหญ่สุดของโลก ภายหลังจากรัฐบาลใหม่จากพรรคริพับลิกันของเขาเข้าบริหารประเทศในวันที่ 20 มกราคม 2568 นี้ ก็กระตุ้นความหวังและความคึกคักในแวดวงธุรกิจ อีกทั้งตลาดทุนและตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก
ในด้านลบ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเผชิญความกดดันต่าง ๆ ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลัง คือ นโยบายต่าง ๆ ที่จะปรับเปลี่ยนใหม่ ซึ่งยังไร้ความแน่นอนและคาดการณ์ได้ยากในขณะนี้ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0
ทรัมป์ขู่จะตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากทศวรรษ 2473s (1930s) โดยจีนตกเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งทรัมป์เล็งจะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนถึงร้อยละ 60 ในขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ถูกทรัมป์เล็งตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าร้อยละ 20 อย่างถ้วนหน้า แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่าทรัมป์อาจเพลามือบ้าง
นโยบายปรับลดอัตราภาษีและผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ในภาคธุรกิจของทรัมป์ก็มีผลทางลบที่จะลดทอนรายได้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และเพิ่มความกดดันในการบริหารงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ในขณะที่ภาคประชาชนจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
ผลกระทบทางลบต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าทั่วโลกของสหรัฐฯ ก็คือ ยอดการผลิต รายได้ และการจ้างงานอาจลดลง เนื่องจากอุปสรรคการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลจากการแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่รุนแรงขึ้นและมาตรการตอบโต้การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ
ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังคงตึงเครียด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังถูกกดดันอย่างมากจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของหลายประเทศ โดยเฉพาะศึกรัสเซีย-ยูเครน และความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังและยังไร้ทิศทางให้เห็นประจักษ์อย่างแน่นอน
ยุโรปกับความท้าทายที่ยังดำเนินอยู่
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศสำคัญอื่น ๆ ในทวีปยุโรป หรือกลุ่มยูโรโซน (Eurozone) ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของโลก ต่างกำลังเผชิญปัญหาความท้าทายภายในทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังวางใจไม่ได้
บทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนในสหราชอาณาจักรชี้ว่า ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรกำลังหมิ่นเหม่จะประสบภาวะชะงักงัน เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ขยับเพิ่ม แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
ภาวการณ์ดังกล่าวฉุดความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและภาคประชาชนในสหราชอาณาจักรผ่านการบริโภคให้ร่วงลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศ
อีกทั้งอาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกลุ่มประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ในยูโรโซนและในตลาดโลก หลังจากที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) ในช่วงต้นปี 2567
บทวิเคราะห์ชี้ว่า ผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในของฝรั่งเศสและเยอรมนีขณะนี้ก็น่าจับตามองเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองในสหราชอาณาจักรมีเสถียรภาพขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ซึ่งน่าจะส่งผลดึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นได้ และคาดการณ์ว่า
เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังอาจเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่ม G7 ในปี 2568 นี้
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่ม G7 ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ซึ่งข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันน่าจะช่วยผ่อนปรนผลในด้านลบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจในปี 2568 นี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย