ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จิตวิทยามืด : รู้ทันเทคนิคที่ "มิจฉาชีพ" ใช้หลอกลวงเหยื่อ


Verify

10 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

จิตวิทยามืด : รู้ทันเทคนิคที่ "มิจฉาชีพ" ใช้หลอกลวงเหยื่อ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2148

จิตวิทยามืด : รู้ทันเทคนิคที่ "มิจฉาชีพ" ใช้หลอกลวงเหยื่อ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในโลกที่การหลอกลวงทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น มิจฉาชีพไม่เพียงแต่พึ่งพาเทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรมเพียงเท่านั้น แต่ยังใช้จิตวิทยาเพื่อควบคุมและหลอกลวงเหยื่อให้สูญเสียทรัพย์สิน ความเชื่อมั่นและอารมณ์ของเหยื่อ จึงกลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างสถานการณ์ที่ดูเหมือนจริง เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความน่าเชื่อถือ บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับกลวิธีทางจิตวิทยาที่มิจฉาชีพใช้ พร้อมเรียนรู้ขั้นตอนการหลอกลวง และแนวทางในการป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อของกลลวงเหล่านี้

ภาพมิจฉาชีพวิดีโอคอลหลอกนางงามและดาราสาว "ชาล็อต ออสติน"

มิจฉาชีพมักจะใช้ขั้นตอนต่อไปนี้ในการหลอกลวงเหยื่อ

1. ติดต่อเข้ามาหาเหยื่อโดยอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ กรมสรรพากร กรมที่ดิน กรมบัญชีกลาง กรมบังคับคดี การไฟฟ้า การประปา สถาบันการเงิน ธนาคารต่าง ๆ เป็นต้น

2. มิจฉาชีพมักจะบอก ชื่อ หรือข้อมูลเบื้องต้นของเหยื่อได้ถูกต้อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดการหลงเชื่อ

3. จากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกขอข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนใน LINE เพื่อวิดีโอคอล ซึ่งจะทำให้ควบคุมเหยื่อได้ง่ายขึ้น

4. อาจจะมีการส่งลิงก์ให้คลิก หรือส่งแอปพลิเคชันมาให้เหยื่อดาวน์โหลดเพื่อติดตั้ง ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพเตรียมไว้สำหรับการเข้าควบคุมอุปกรณ์มือถือ โดยแอปพลิเคชันที่ให้ติดตั้ง มักจะเป็นแอปพลิเคชันปลอม ที่เลียนแบบชื่อตามหน่วยงานที่นำมาแอบอ้าง หรืออาจส่งลิงก์ให้เหยื่อกด เพื่อเข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือโดยตรง ซึ่งแล้วแต่กลวิธีของมิจฉาชีพแต่ละขบวนการ

5. หลังจากที่เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันตามคำกล่าวอ้างเรียบร้อยแล้ว มิจฉาชีพจะหลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมถึงสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งข้อมูลที่เราให้ไป หรือกดส่งไปในขั้นตอนนี้ จะเป็นเหมือนการอนุญาตให้มิจฉาชีพสวมรอยเข้ามาทำธุรกรรมในนามของเหยื่อได้ทันที และโทรศัพท์มือถือของเหยื่อก็จะถูกล็อกทำให้ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้

6. มิจฉาชีพจะเข้ามาถอนเงินในบัญชีของเหยื่อออกไป ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัว เงินก็ถูกย้ายออกไปตามบัญชีม้าต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว

7. มิจฉาชีพจะนำข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาเก็บไว้เพื่อหลอกลวงในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป

หลัก "จิตวิทยา" ที่มิจฉาชีพนิยมใช้ - แนวทางในการป้องกันตัว จากนักอาชญาวิทยา

รศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

นักอาชญาวิทยา เช่น รศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความคิดเห็นถึงหลัก "จิตวิทยา" ที่มิจฉาชีพนิยมใช้ และแนวทางในการป้องกันตนเองของประชาชนว่า แม้คนร้ายจะไม่ได้เรียนมาตามหลักจิตวิทยา เพื่อที่จะเป็นนักจิตวิทยา และเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ หรือเรียนพฤติกรรมศาสตร์ แต่หลักที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อ ก็ยังถือว่าเป็นจิตวิทยาเบื้องต้นที่ใช้กับอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งหัวใจของการหลอกลวงโดยเฉพาะของคอลเซนเตอร์ คือการใช้อารมณ์ คือทำอย่างไรให้เหยื่อมีอารมณ์ร่วมกับกลลวง โดยอารมณ์ที่คนร้ายมักใช้ประกอบไปด้วย 3 อารมณ์ ได้แก่

1. ความกลัว มิจฉาชีพจะใช้เทคนิคในการหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้การข่มขู่เพื่อทำให้เหยื่อหวาดกลัว

2. ความโลภ คือเทคนิคการใช้การเล่นกับความโลภของผู้คน เช่น การหลอกลวงว่าจะได้ผลตอบแทนสูง หรือมีเงินโอนมายังประเทศไทยต้องการให้โอนค่าธรรมเนียมหลักหมื่น เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินที่จะได้กลับไปหลักล้าน

3. ความเสียดาย คือ เมื่อเหยื่อหลงกลจ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นจากความกลัวหรือความโลภไปแล้ว และเกิดความเสียดายเงินก้อนดังกล่าว มิจฉาชีพก็มักจะใช้กลลวงต่อ ว่าหากต้องการเงินคืน ก็จะต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มเพื่อเป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งอารมณ์ของคนที่สูญเสียเงินและต้องการได้คืนนั้น ก็มักที่จะยินยอมทำทุกอย่าง ซึ่งคนที่ถูกหลอกให้เสียเงินจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่อารมณ์ของ "ความเสียดาย"

หลักการป้องกันตนเองจาก "จิตวิทยา" ของมิจฉาชีพ

“สติ” ถือเป็นหลักการเดียวที่ประชาชนทั่วไปต้องมีในการป้องกันตัวจากจิตวิทยาของมิจฉาชีพ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากด้วยเช่นเดียวกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีสติได้ตลอดเวลา ซึ่งการที่มิจฉาชีพใช้อารมณ์เข้ามาหลอกลวงก็ถือเป็นเรื่องที่ยากที่จะรับมือ เพราะอารมณ์ถือเป็นสิ่งที่อยู่เหนือสติโดยธรรมชาติ เพราะถ้าหากมี "สติ" ก็จะไม่มี "อารมณ์" ไม่ว่าจะโดยหลักของจิตวิทยา หรือหลักของศาสนาใด ๆ ก็ตาม ซึ่งถ้าหากมีสติก็เป็นเรื่องยากที่จะถูกหลอกจากกลลวงต่าง ๆ โดยเฉพาะหากมองตามหลักความเป็นจริง เช่น การจะลงทุนในจำนวนเงินที่น้อยและได้ผลตอบแทนที่สูง หรือในมุมความกลัว หากเราไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกลัวคำขู่ต่าง ๆ จากคำพูดของเหล่ามิจฉาชีพ

สำหรับการมี "สติ" แม้จะเป็นเรื่องที่บอกกันง่าย แต่การจะบอกให้ทุกคนมีสติตลอดเวลานั้น ถือเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก

ทั้งนี้มองว่าการที่ประชาชนถูกหลอกลวงนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวของประชาชนโดยตรง แต่เป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ โดยแบ่งเป็น 2 มุมคือ

1. รัฐต้องเข้ามาป้องกันเรื่องเหล่านี้ให้ได้ และให้มิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนได้ยากมากที่สุด เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีแอปพลิเคชันเตือนภัยเบอร์มิจฉาชีพ แต่ก็ยังขาดการปิดกั้นช่องทางการติดต่อให้ได้เต็มร้อย เพราะยังมีทั้งในส่วนของคนชรา หรือผู้ที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งการที่จะคาดหวังให้คนกลุ่มนี้เข้าใจเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องป้องกันช่องทางเข้าถึงประชาชนเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมด

2. การคืนเงินให้กับบรรดาผู้เสียหาย เพราะผู้ที่เป็นเหยื่อ มักไม่ได้สนใจในเรื่องของการจับกุมผู้ต้องหา แต่พวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากการถูกหลอกนำเงินที่มีไป และแม้ว่าปัจจุบันจะมีกองทุนช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม แต่เงินกองทุนดังกล่าวก็กลับถูกใช้ได้ไม่ดีมากเท่าไรนัก ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ควรที่จะปรับปรุงให้เงินกองทุนเหล่านี้ เข้ามาช่วยเหลือเหยื่อในเบื้องต้น โดยที่ไม่ต้องรอกระบวนการตัดสินจากศาล ที่มักใช้ระยะเวลานานหลายปี และผู้ที่จับได้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงบัญชีม้าที่ไม่ได้มีเงินที่จะมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากบัญชีม้าเหล่านี้ก็ได้รับเพียงค่าตอบแทนหลักพันบาทเพียงเท่านั้น 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

จิตวิทยามิจฉาชีพหลอกลวงหลอกกดลิงก์หลอกผู้สูงอายุหลอกลงทุน หลอกโอนเงินโดนหลอกภัยออนไลน์
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด