#ThaiPBSMoneyTip EP 2
บทความซีรีส์..ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน
แม้ “ไข่ไก่” จะเป็นสินค้าควบคุม แต่เราจะเห็นว่ามีการขึ้นราคาหลายรอบทั้งในแบบรายพื้นที่หรือทั่วประเทศ ขึ้นทีละ 20 สตางค์ บางคนอาจมองว่าไม่มาก แต่หากซื้อเป็นแผง (30 ฟอง) แสดงว่าไข่ขึ้นราคาแผงละ 6 บาทต่อครั้งเลยทีเดียว
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ประกาศว่าไข่คละหน้าฟาร์ม ปรับราคาขึ้นจากฟองละ 3.80 บาท เป็น 4 บาท มีผลตั้งแต่วันที่14 ก.ค. 66 เพื่อให้สอดคล้องการประเมินต้นทุนการผลิตของ Egg Board ขณะที่ไข่ไก่เบอร์ 0 จ่อขึ้นราคาเป็นแผงละ 150 บาท หลังราคาไข่หน้าฟาร์มสูงขึ้น ดังนั้น “ไข่ไก่แพง” จึงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ใกล้ตัวเราที่สร้างผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นห่วงโซ่ ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งหาทางออกอย่างยั่งยืน ลดภาระให้กับผู้บริโภค
📌อ่าน : "ไข่ไก่" ขึ้นราคาเป็นฟองละ 4 บาท มีผล 14 ก.ค.นี้
ทำไม ? “ไข่แพง”
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ไข่ไก่มีราคาแพงขึ้นมาจาก “ต้นทุนเลี้ยงไก่ไข่พุ่ง” เช่น การซื้อไก่สาว (ประมาณ 4 เดือน) มาเลี้ยง ไม่ได้เลี้ยงเองตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบเพราะจะยิ่งมีต้นทุนสูงเนื่องจากค่าอาหารแพง นอกจากนี้ยังต้องมีค่าวัคซีน-ค่ายาต่าง ๆ และต้องเลี้ยงจนถึงอายุ 4 เดือน จึงจะสามารถออกไข่ได้ ดังนั้นการซื้อไก่สาวมาเลี้ยงจึงเป็นการทุ่นเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันไก่สาวมีราคาแพงขึ้นจากอดีตเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีปัญหาปริมาณไข่ขนาดเล็กเบอร์ 3, เบอร์ 4, เบอร์ 5 ลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าแม่ไก่ได้จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในประเทศมีแต่แม่ไก่อายุมากที่ผลิตไข่ขนาดใหญ่ เช่น เบอร์ 0, เบอร์ 1 เป็นต้น
ขณะที่ “ค่าอาหารสัตว์” เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และธัญพืชอื่น ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไข่ไก่ขึ้นราคา เนื่องจากคิดเป็นต้นทุน 60-70% โดยปัจจุบันมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้วัตถุดิบขาดแคลนและมีการขนส่งยากขึ้น นอกจากนี้การเกิด “เอลนีโญ” ยังทำให้ไก่ออกไข่น้อยลงอีกด้วย
เมื่อบวกกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ยิ่งอากาศร้อนยิ่งต้องพัดลมให้ไก่เพื่อระบายความร้อน ยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มตามไปด้วย และยังมีในเรื่องของค่าแรงคนงาน จึงมีการคาดการณ์จากสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ว่า ต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ฟองละ 3.75 บาทเลยทีเดียว
เช็กไทม์ไลน์ขึ้นราคาไข่ไก่ (ทางการ) ปี 65-66
“ไทยพีบีเอส” ได้มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 65-66 ราคาไข่ไก่ มีการปรับราคาดังนี้
- 10 ม.ค. 65 สมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไก่ไทย ออกประกาศ ปรับราคาขึ้น 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท จากราคาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 64 ที่จำหน่าย ฟองละ 2.80 บาท เป็น 3.00 บาท
- 16 มี.ค. 65 สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ออกประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ จากฟองละ 3.10 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 3.30 บาท มีผลตั้งแต่ 17 มี.ค. 65
- 6 ม.ค. 66 สมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง แจ้งว่า จะมีการปรับราคาไข่ไก่ขึ้น จาก 3.40 บาทต่อฟอง เป็น 3.60 บาทต่อฟอง (เดือน ก.พ. 66 มีการปรับลดราคา 2 ครั้ง ครั้งละ 20 สตางค์)
- 24 มี.ค. 66 ราคาไข่ไก่คละอยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท จาก 3.20 บาทต่อฟอง
- 23 มี.ค. 66 ปรับจากราคาอยู่ที่ 3.40 บาทต่อฟอง ขึ้นเป็น 3.60 บาทต่อฟอง
- 15 พ.ค. 66 ปรับราคาอีก 20 สตางค์ เป็น 3.80 บาทต่อฟอง
- 14 ก.ค. 66 ปรับราคาขึ้นจากฟองละ 3.80 บาท เป็น 4 บาท
📌อ่าน : "ไข่ไก่" ขึ้นราคาเป็นฟองละ 4 บาท มีผล 14 ก.ค.นี้
สำหรับราคาไข่ไก่ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารและขนมหวานที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่ม จึงต้องเตรียมปรับลดปริมาณขนมลงหรือขึ้นราคา เช่น ร้านอาหารตามสั่ง ภายในบ้านเอื้ออาทร ต.เมือง อ.เมือง จ.เลย เตรียมปรับราคาขายในส่วนเมนูที่มีไข่ไก่ เช่น เพิ่มไข่ดาว จากเดิม 10 บาท เป็น 12 บาท ซึ่งสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การขึ้นราคาไข่ไก่แต่ละครั้ง ภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจะตกมาอยู่กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังกลายเป็นห่วงโซ่ทำให้สินค้าประเภทอาหารและขนมนานาชนิด ต่างพากันพาเหรดขึ้นราคาอีกด้วย
กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือตรึงราคาอาหารสัตว์
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยง พบว่า สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวแล้ว บางรายการเริ่มอ่อนตัวลง โดยมีผลผลิตมากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง โดยประเทศอาร์เจนตินา และบราซิล เพิ่มพื้นที่ในการปลูกมากขึ้น ถือว่าสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ผ่านช่วงราคาสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอความร่วมมือตรึงราคาอาหารสัตว์ เพื่อไม่ให้ราคาไข่พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน
แนวทางแก้ “ต้นทุนไข่ไก่” ทำให้ราคาถูกลง
ที่ประชุม Egg Board ได้ติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาวัตถุดิบทดแทน (ปลายข้าวและมันเส้น) และปลาป่น เห็นควรว่าควรปรับลดภาษีกากถั่วเหลือง ร้อยละ 0 ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับการ “ลดต้นทุนด้านไฟฟ้า” อย่างเห็นผล ฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงจำนวนมากอาจหันมาติดตั้ง Solar Rooftop ใช้พื้นที่หลังคาโรงเรือนให้เกิดประโยชน์ แต่เนื่องจากการติดตั้งใช้วงเงินค่อนข้างสูง แนะนำให้ปรึกษาสถาบันการเงินเนื่องจากมีสินเชื่อสีเขียว ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าการกู้ยืมทั่วไป เพื่อการลดต้นทุนอย่างยั่งยืน (ต้นทุนค่าไฟคำนวณเฉลี่ยกับไก่ต่อตัว ลดลง 30-40%)
นอกจากนี้ อาจทำ “ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ” ควบคุมด้วย IoT ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน ใช้เซนเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ และมีการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยงมายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรง มีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงเป็นที่ปรึกษา มีทีมเฝ้าติดตามระบบคอยตรวจสอบเฝ้าระวังสถานะการทำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตอบโจทย์มาตรฐานระดับสากล
รักษาเสถียรภาพ “ราคาไข่ไก่” เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนและเกษตรกรในอนาคต
เพื่อแก้ปัญหาดีมานด์-ซัพพลายอันทำให้ราคาไข่ไก่สวิงสูงขึ้น ในร่างแผนการผลิตไก่ไข่-ไข่ไก่ ปี 67 ให้เพียงพอกับคนไทยทั้งประเทศ “Egg Board” จึงคิดคำนวณการบริโภคไข่ไก่เฉลี่ยคนละ 229 ฟองต่อปี หรือ 41.5 ล้านฟองต่อวัน จะต้องมีผลผลิตไข่ไก่ 14,965-15,330 ล้านฟองต่อปี ดังนั้นต้องมีแม่ไก่ไข่ยืนกรง ประมาณ 50-51 ล้านตัว ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนและเกษตรกร ในช่วงไข่ไก่ล้นตลาด หรือช่วงที่ความต้องการบริโภคลดลง เช่น ช่วงปิดเทอม และเทศกาลกินเจ เป็นต้น
แม้ว่า “ไข่ไก่” จะคล้ายกับสินค้าอื่น ๆ ที่เมื่อปริมาณมีน้อยแต่ความต้องการสูง ราคาก็จะดีดตัวสูงขึ้น และเมื่อความต้องการน้อยลง ราคาก็จะลดลงตาม แต่เพื่อไม่ให้ภาระช่วงไข่ไก่ขึ้นราคาตกมาอยู่กับผู้บริโภคในห้วงที่ค่าครองชีพสูงอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ หาทางออก “ปัญหาไข่แพง” ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board), สำนักงานเกษตรและสหกรณ์