เหตุก่ออาชญากรรมร้ายแรงจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต บางกรณีอาจนำมาซึ่ง “การวิสามัญฆาตกรรม” ของเจ้าหน้าที่ที่เข้าระงับเหตุ
ทั้งนี้ข้อปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการพิจารณาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องผ่านกระบวนการ และมีหลักการอย่างไร ? Thai PBS ชวนค้นหาคำตอบนี้ไปด้วยกัน
รู้จัก “วิสามัญฆาตกรรม” คืออะไร ?
วิสามัญฆาตรกรรม ประกอบไปด้วยคำว่า วิสามัญ ที่แปลว่า ไม่ธรรมดา ผิดปกติ รวมกับคำว่า ฆาตกรรม ที่แปลว่า การฆ่า ซึ่งมีการใช้ในความหมายถึง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ทำการสังหารผู้กระทำผิดกฎหมายร้ายแรง เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดกระทบถึงชีวิตของผู้อื่น รวมถึงเป็นการป้องกันตัวเอง เนื่องจากผู้กระทำผิดมีการขัดขืนด้วยอาวุธที่ร้ายแรงถึงชีวิต
ปัจจุบันคำว่า วิสามัญฆาตรกรรม ไม่ได้มีใช้ในตัวกฎหมายแล้ว โดยจะมีการพิจารณาว่าเข้าข่ายป้องกันตัวหรือไม่ โดยใช้การพิจารณาเดียวกับ “หลักการป้องกันตัว” ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือกฎหมายที่ว่าด้วย การป้องกันตัวเอง สามารถทำได้หากเป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุ
อย่างไรก็ตาม คำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” ยังคงมีการใช้กันในการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อพัฒนาให้เกิดกฎหมายที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เนื่องจากการวิสามัญฆาตกรรมมีความซับซ้อนมากกว่าการป้องกันตัวของบุคคลทั่วไป
แนวทางการตัดสินใจ “การวิสามัญฆาตกรรม”
การตัดสินใจใช้กำลังอาวุธเข้าระงับเหตุรุนแรงต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ ต้องพิจารณาตามแนวทางที่เหมาะสม โดยมีเอกสาร “แนวทางปฏิบัติงานว่าด้วยกฎการใช้กำลังและอาวุธ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ประมวลจากข้อบังคับของกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งแนวทางการทำงานของตำรวจในระดับสากล สรุปไว้ดังนี้
1. หลัก 6 ประการที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ หลักความชอบด้วยกฎหมาย (Legality) มีกฎหมายรองรับการกระทำหรือไม่ ? หลักความจำเป็น (Necessity) มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อระงับเหตุ หลักความได้สัดส่วน (Proportionality) คนร้ายมีอาวุธอัตรายแค่ไหน ได้สัดส่วนกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ? หลักความรับผิดรับชอบ (Accountability) ผู้กระทำการต้องมีความรับผิดรับชอบต่อสิ่งที่กระทำโดยรัฐกำหนดผลทางกฎหมายและดำเนินการตรวจสอบด้วยความโปรงใส หลักความระมัดระวัง และ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ
การตัดสินใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงของหลักเหล่านี้ร่วมกันทั้งหมด เช่น หากเกิดเหตุขโมยกำลังจะหลบหนีด้วยมอเตอร์ไซค์ เมื่อมองจากหลักความจำเป็น เจ้าหน้าที่ต้องใช้ปืนเพื่อหยุดคนร้าย แต่หากมองถึงหลักความได้สัดส่วนแล้ว คนร้ายกำลังหลบหนีไม่ได้ก่อเหตุอันตราย การใช้ปืนจึงไม่มีเข้าหลักความได้สัดส่วนกับกรณีนี้นั่นเอง
2. การใช้อาวุธตามระเบียบ มีการวินิจฉัยตามหลักการ 3 หลัก ได้แก่ 1. อาการกิริยา พิจารณาว่ามีการแสดงกิริยาต่อสู้หรือไม่ ? 2. อาวุธและความร้ายแรงของอาวุธ ต้องเลือกใช้ให้สมควรกับการต่อสู้ 3. กำลังและความจำเป็น พิจารณาแม้ไม่มีอาวธ แต่มีกำลังคนจำนวนมาก หรือมีกำลังมากอาจแย่งอาวุธก่ออันตรายได้
3. แนวทางการใช้อาวุธตามระดับการใช้กำลัง แบ่งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ไว้ 6 ระดับด้วยกัน จะต้องดำเนินตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก ระดับที่ 1 การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ ระดับที่ 2 การใช้คำสั่งด้วยวาจา ระดับที่ 3 การใช้เทคนิคการควบคุมทางกายภาพ ระดับที่ 4 การใช้เทคนิคตอบโต้อย่างรุนแรง ระดับที่ 5 การใช้อาวุธที่ไม่ถึงตาย และระดับที่ 6 การใช้กำลังขั้นเด็ดขาดหรืออาวุธปืน
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้กำลังอย่างไร ? ถือเป็นกระบวนการตัดสินใจที่มีความซับซ้อน มีรายละเอียดและวิธีการตัดสินใจในหลายแง่มุม ดังจะเห็นได้จากหลายเหตุอาชญากรรมใหญ่ที่มีการระดมชุดปฏิบัติการเป็นจำนวนมาก และต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทำการตัดสินใจที่ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ยังมีรายละเอียดในเชิงรูปคดี โมเดลการตัดสินใจทางอาชญาวิทยา เช่น โมเดลสามเหลี่ยมการตัดสินใจใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิต (Decision Modal : Deadly Force Triangle) และตัวแบบการตัดสินใจเหตุวิกฤต (Critical Decision Making Model-CDM) ที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ดีมากขึ้น
อ้างอิง
- “แนวทางปฏิบัติงานว่าด้วยกฎการใช้กำลังและอาวุธ” ศูนย์บริหารงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอำนาจในการวิสามัญฆาตกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก