ท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารสายการบินเจจู แอร์ เที่ยวบิน 7C2216 การบินชนนก หรือ Bird Strike อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียต่อวงการการบินเกาหลีใต้ ขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอาจทำให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในเกาหลีใต้
6 นาทีสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้
ข้อมูลจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคม ชี้ว่า หอควบคุมส่งคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบินชนนกให้เที่ยวบิน 2216 เวลา 8.57 น. อีก 2 นาทีต่อมา นักบินได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (เมย์เดย์) 3 ครั้ง พร้อมทั้งแจ้งว่า "นกชนเครื่องบิน" และ "กำลังบินวน" ต่อหอควบคุม เครื่องบินได้รับอนุญาตจากหอควบคุมให้ลงจอดบนรันเวย์ทิศตรงข้ามเวลา 9.00 น. และประสบอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตเกือบยกลำ ในอีก 3 นาทีต่อมา
อัตราการบินชนนกในเกาหลีใต้สูงกว่า 600 ครั้ง
การรวบรวมข้อมูลของจอน ยง-กี สส.จากพรรคเดโมเครติกซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ ชี้ว่า ปี 2019 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2024 เกิดเหตุเครื่องบินชนนก 623 ครั้ง และเหตุการณ์ดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มการเดินทางทางอากาศลดลงจนการบินชนนกเหลือไม่ถึง 100 ครั้งในปี 2020
ขณะที่สนามบินมูอันมีการบินชนนก 10 ครั้งตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้สนามบินแห่งนี้มีจำนวนการบินชนนกน้อยที่สุดแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว สนามบินมีเที่ยวบินเพียง 11,004 เที่ยว น้อยกว่าสนามบินขนาดใหญ่อื่นๆ อย่างมาก
การบินชนนกใน 14 สนามบินทั่วเกาหลีใต้นับตั้งแต่ปี 2019 ยกเว้นสนามบินอินชอน คิดเป็น 0.022% สนามบินมูอันครองสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 0.09% รองลงมาคือสนามบินบนเกาะเชจู 0.013% สนามบินกิมแฮ 0.018% และสนามบินอุลซาน 0.039% เท่านั้น
ความเสี่ยงของการบินชนนกในเกาหลีใต้
รายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากแผนขยายรันเวย์ของสนามบิน เมื่อปี 2020 เคยเตือนถึงปัญหาการบินชนนกในสนามบินมูอันในขณะเครื่องบินขึ้นหรือร่อนลงจอดและแนะนำให้บังคับใช้มาตรการเพื่อลดความเสี่ยงหลังจากสนามบินแห่งนี้มีแผนขยายรันเวย์จาก 2,800 เมตรเป็น 3,160 เมตร ภายในปี 2025 นอกจากนี้ยังระบุว่าสนามบินมูอันตั้งอยู่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพ โดยรันเวย์ที่กำลังขยายใหม่จะทับซ้อนกับเส้นทางการอพยพของนก
สนามบินคิมโพในกรุงโซล สนามกิมแฮในปูซาน และสนามอินชอน ซึ่งเป็นสนามบินหลักของประเทศ ก็เผชิญปัญหาคล้ายกัน
รายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมเกาหลีในปี 2020 เกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงระหว่างนกกับเครื่องบิน ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่เหมาะสมสำหรับการบินระยะไกลของนก มักเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการบินพาณิชย์
พื้นที่สนามบินอินชอนบางส่วนตั้งอยู่ในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (mudflats) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกอพยพจำนวนมาก นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงของการก่อสร้างสนามบิน
โลกร้อนเปลี่ยนรูปแบบการอพยพย้ายถิ่นของนก
ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ (MoZWE) อธิบายว่า สาเหตุที่นกต้องอพยพ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิของซีกโลกเหนือลดต่ำลง ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยจึงทำให้นกอพยพลงมายังซีกโลกทางใต้ที่มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์กว่าซีกโลกเหนือ ก่อนที่จะอพยพกลับถิ่นฐานเดิมในช่วงฤดูร้อน
คณะวิจัยนำโดย Tirth Vaishnav อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Ecological Solutions and Evidence เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับความถี่ของการบินชนนกตามฤดูกาลในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้และผลการศึกษาพบว่า การบินชนนกมีแนวโน้มแตะจุดสูงสุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและแนวโน้มนี้น่าจะเกิดจากพฤติกรรมการผสมพันธุ์และการอพยพ
คณะวิจัยได้วิเคราะห์เอกสารและรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการบินชนนกผ่านการสำรวจข้อมูลจากสนามบิน 122 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมในซีกโลกเหนือ และต้นเดือนเมษายนในซีกโลกใต้
ปลายเดือนสิงหาคมในซีกโลกเหนือเป็นช่วงที่นกอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่ละติจูดสูงไปยังบริเวณเส้นศูนย์สูตรเพื่อพักพิงในฤดูหนาว ในทางกลับกัน นกในซีกโลกใต้จะใช้เวลาช่วงฤดูร้อนในพื้นที่ละติจูดสูงและอพยพไปยังพื้นที่ละติจูดต่ำในเดือนเมษายนเพื่อพักพิงในฤดูหนาว
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการผสมพันธุ์และการอพยพของนกอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การคาดคะเนแนวโน้มของการบินชนนกยากมากขึ้น เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น นกจะอพยพเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่พักพิงในฤดูหนาวช้าลง
ขณะเดียวกัน การอพยพของนกจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรไปยังพื้นที่ละติจูดสูงในฤดูร้อนกลับเร็วขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับเหตุการณ์นกชนเครื่องบินกำลังเปลี่ยนแปลงไปและนักนิเวศวิทยาแนะนำให้ทำวิจัยเชิงนิเวศเพื่อลดโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝัน
ความเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีซึ่งมีนกอพยพมากกว่า 100 สายพันธุ์อาศัยอยู่ หลังจากนกอพยพที่เคยอพยพจากเกาหลีไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูหนาวเริ่มกลายเป็นนกประจำถิ่น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนทำให้นกหยุดการอพยพ หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป อาจเกิดการเพิ่มจำนวนของนกในช่วงฤดูหนาวมากขึ้นจนนำไปสู่การบินชนนกอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
“การวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการอพยพของนกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีความจำเป็น” Tirth Vaishnav อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
การเฝ้าระวังนกบริเวณสนามบิน : การแก้ปัญหาที่ถูกมองข้าม
ข้อบังคับของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมเกาหลีใต้กำหนดให้รันเวย์ที่ใช้งานไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน ต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 4 คนเพื่อป้องกันการบินชนนกด้วยการยิงไล่นกที่อยู่ใกล้พื้นที่รันเวย์ ส่วนสนามบินพาณิชย์ที่มีเที่ยวบินน้อยกว่า 5,000 เที่ยวต่อปีอย่างสนามบินมูอัน สามารถลดจำนวนเจ้าหน้าที่เหลือ 2 คนได้
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ Herald Business รายงานว่า ขณะเกิดอุบัติเหตุกับเที่ยวบิน 7C2216 มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนปฏิบัติหน้าที่ป้องกันการบินชนนก
ขณะที่รายงานจาก Korea Airports Corp. ผู้ให้บริการสนามบินในเกาหลีใต้ชี้ว่าสนามบินมูอันมีเจ้าหน้าที่ 4 คนสำหรับภารกิจนี้ แบ่งเป็น 3 ทีมทำงานเป็นกะ
จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ป้องกันการบินชนนกที่สนามบินมูอัน มีจำนวนน้อยกว่าสนามบินอื่น ๆ ของเกาหลีใต้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก สนามบินอินชอนมีเจ้าหน้าที่ 40 คน สนามบินคิมโพมีเจ้าหน้าที่ 23 คน และสนามบินบนเกาะเชจูมีเจ้าหน้าที่ 20 คน
ท่ามกลางความพยายามในการไขปริศนาของอุบัติเหตุทางการบินครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 27 ปีของเกาหลีใต้ การขาดความเข้มงวดในการเฝ้าระวังนกบริเวณสนามบิน ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงในฐานะ “ปัจจัยหนึ่ง” ของโศกนาฏกรรมของเที่ยวบิน 7C2216
อ้างอิง: