เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนมกราคม 2568
1 มกราคม : วันขึ้นปีใหม่
“ปี” หมายถึง เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง ราว 365 วัน หรือ 12 เดือนตามสุริยคติ “ปีใหม่” จึงหมายถึงการขึ้นรอบปีใหม่ หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งผู้คนนิยมใช้โอกาสนี้ในการเฉลิมฉลอง เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับปีใหม่ การเปิดกิจการใหม่ การทำบุญใส่บาตรในวันแรกของปีใหม่ เป็นต้น
2 มกราคม 2488 : “สะพานพระราม 6” ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2488 “สะพานพระราม 6” ซึ่งเป็นทางลำเลียงยุทธสัมภาระทางรถไฟของญี่ปุ่น ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกทำลายลง จากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร
ทั้งนี้ “สะพานพระราม 6” เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสะพานสำคัญที่สุดในเส้นทางสายใต้ เชื่อมระหว่างแขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กับแขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางรถไฟสายใต้
5 มกราคม : วันนกแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Bird Day)
ทุกวันที่ 5 มกราคมของทุกปี ถือเป็น “วันนกแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Bird Day)” จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1894 โดย “ชาร์ล อมอนโซ แบตคุก” ผู้อำนวยการโรงเรียนในเมืองโอลด์ ซิตี รัฐเพนซิเวเนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและการอนุรักษ์นกให้มากขึ้น หลังจากที่นกลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบทางโรคภัย ปัญหามลภาวะ และการถูกล่าโดยมนุษย์
8 มกราคม : วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
เมื่อแรกประสูติ ทรงดำรงพระอิสริยยศ “หม่อมเจ้า” มีพระนามว่า “หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล” ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า “หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล” จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระนามใหม่ว่า “หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล” ภายหลังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548
พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาได้สำเร็จการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงได้รับรางวัลนิสิตดีเด่นประจำปีการศึกษา 2551 และทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ วิทยาลัยสมาคมการออกแบบเสื้อผ้าปารีส (École de la chambre syndicale de la couture parisienne) ประเทศฝรั่งเศส
พระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชันและเครื่องประดับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI BANGKOK” ทรงสนับสนุนผ้าไทยและออกแบบลายมัดหมี่ชื่อ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงโปรดกีฬาแบดมินตันและการขี่ม้า ทรงเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย รวมถึงทรงคว้าแชมป์ประเภท Dressage ในกีฬาขี่ม้ารายการไทยแลนด์แชมเปียนชิป คิงส์คัพ 2012 ด้านดุริยศิลป์และคีตศิลป์ ทรงประพันธ์บทเพลงเพื่อใช้ในการแสดงแฟชันโชว์แบรนด์เสื้อผ้าของพระองค์ และยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของ “Royal Bangkok Symphony Orchestra”
11 มกราคม 2329 : “วิลเลียม เฮอร์เชล” ค้นพบดวงจันทร์บริวารของ “ดาวยูเรนัส”
“วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel)” นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบ “ทิเทเนีย (Titania)” และ “โอเบอรอน (Oberon)” ดวงจันทร์บริวารของ “ดาวยูเรนัส (Uranus)” ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2324 เขาได้ค้นพบ “ดาวยูเรนัส (Uranus)” โดยบังเอิญ ขณะที่กำลังส่องกล้องโทรทรรศน์เพื่อศึกษาดาวฤกษ์
หลังจากที่ “วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel)” ได้ค้นพบดวงจันทร์ของดาวยูเรนัส 2 ดวงแรกแล้ว ได้มีนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ ค้นพบดวงจันทร์เพิ่มขึ้นอีก รวมกันถึง 20 ดวง แต่ก็คาดการณ์กันว่า “ดาวยูเรนัส (Uranus)” น่าจะมีดวงจันทร์บริวารมากกว่านั้น
11 มกราคม 2568 : วันเด็กแห่งชาติ
“วันเด็กแห่งชาติ” ตรงกับวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ในเดือนมกราคมของทุกปี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม (3 ตุลาคม 2498) ตามจุดประสงค์ของที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ที่กำหนดให้มีวันเด็กสากล (World Children's Day) ขึ้น
โดยใช้ชื่อว่า Universal Children's Day เพื่อกระตุ้นให้สังคมโลกร่วมกันส่งเสริม สร้างความตระหนัก และร่วมพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นการฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) อีกด้วย
จนกระทั่งในปี 2506 คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีความเห็นว่า ช่วงเดือนตุลาคมตรงกับช่วงฤดูฝนในประเทศไทย ทำให้ไม่สะดวกต่อการจัดงานวันเด็ก รวมทั้งยังเป็นวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันทำงาน ผู้ปกครองไม่สามารถพาบุตรหลานมาร่วมงานได้
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดงานวันเด็กแห่งชาติ มาเป็นวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ในเดือนมกราคม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า เนื่องจากเลยช่วงฤดูฝนมาแล้ว รวมทั้งยังเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์
ทำให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติ และเริ่มมีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติอีกครั้ง ในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ในปี 2508 (9 มกราคม 2508) และปฏิบัติต่อมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือ
ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัว สู่อนาคตที่เลือกเอง
12 มกราคม 2512 : “เจเนวิฟ คลอฟิลด์” สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกัน เริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในประเทศไทย
“เจเนวิฟ คลอฟิลด์ (Genevieve Caulfield)” สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกัน เริ่มก่อตั้ง “โรงเรียนสอนคนตาบอด” ที่ย่านศาลาแดง กรุงเทพมหานคร นับเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทย
เธอยังเป็นผู้นำอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เธอได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือคนตาบอดในประเทศไทย ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 2515
12 มกราคม 2481 : วันเกิด “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)”
“ศาสตราจารย์พิเศษ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ อารยางกูร)” หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ป.อ.ปยุตฺโต” เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537
“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” เป็นพระสงฆ์ที่อุทิศตนให้กับการเผยแพร่พระศาสนา ทั้งด้านการบรรยายทางวิชาการ การแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนงานนิพนธ์เอกสารวิชาการและตำราต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ “พุทธธรรม” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “มรดกธรรมอันล้ำค่าแห่งยุค” ที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 10 แห่ง อีกด้วย
13 มกราคม : วันการบินแห่งชาติ (Thailand's National Aviation Day)
ในปี 2454 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินของไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ
ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปีเป็น “วันการบินแห่งชาติ” เริ่มในปี 2538 เป็นต้นมา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยในวันนี้จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการบินไทย และคุณประโยชน์ของกิจการการบิน
13 มกราคม : วันสติกเกอร์แห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Sticker Day)
ความเป็นมาของ “สติกเกอร์” เริ่มขึ้นจากแนวคิดของ “โรเบิร์ต สแตนตัน เอเวอรี่ (R.Stanton Avery)” ผู้พัฒนากระดาษสติกเกอร์สำหรับพิมพ์ฉลากและเครื่องทำฉลากขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เขาทดลองทำสติกเกอร์ในห้องใต้หลังคา เหนือร้านขายดอกไม้ ใจกลางเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำเป็นสติกเกอร์รูปกลม ภายใต้เครื่องหมายการค้า Kum Kleen Products
ด้วยคุณสมบัติเด่นคือ ติดแน่น แต่ลอกแล้วไม่ทิ้งรอย ทำให้เขากลายเป็นผู้นำระดับโลกด้านการทำฉลากสติกเกอร์บนสินค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ฉลากต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ การค้าปลีก ของประดับตกแต่งเครื่องแต่งกาย
ทุกวันที่ 13 มกราคม วันคล้ายวันเกิดของ “โรเบิร์ต สแตนตัน เอเวอรี่ (R.Stanton Avery)” จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันสติกเกอร์แห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Sticker Day)” เพื่อเป็นการยกย่องให้กับนักคิดค้นแผ่นแปะลอกคนแรกของโลก
13 มกราคม 2380 : “หมอบรัดเลย์” ทำการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทย
ในงานฉลองของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เกิดเหตุการณ์กระบอกปืนใหญ่ที่เอามาทำเป็นไฟพะเนียงอย่างดอกไม้ไฟธรรมดา เพื่อทำให้เป็นของแปลก เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นน้อยใหญ่ ถูกคนในบริเวณนั้นตาย 8 คน และมีคนบาดเจ็บอีกจำนวนมาก มีพระสงฆ์รูปหนึ่งกระดูกแขนแตก จำเป็นต้องตัดแขนเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
“หมอบรัดเลย์ - แดเนียล บีช แบรดลีย์ (Daniel Beach Bradley)” หรือที่คนไทยนิยมเรียก “หมอปลัดเล” นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ทำการผ่าตัดแขนพระรูปนั้นในที่เกิดเหตุ โดยไม่มีการใช้ยาสลบ จึงช่วยพระไว้ได้ (สมัยนั้นคนไทยยังไม่ทราบว่า จะตัดบางส่วนของร่างกายมนุษย์และยังมีชีวิตอยู่ได้)
14 มกราคม : วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือไปถึงคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 4 มกราคม 2533 เสนอขออนุมัติให้วันที่ 14 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ” เนื่องจากวันที่ 14 มกราคม 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้ อันเนื่องมาจากอุทกภัยภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 โดยเฉพาะที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และวาตภัยจากพายุเกย์ ที่จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนได้รับความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านจิตใจและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
14 มกราคม : วันแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยง (Dress Up Your Pet Day)
“วันแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยง (Dress Up Your Pet Day)” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2552 ด้วยไอเดียของ “คอลลีน เพจ (Colleen Paige)” ผู้เชี่ยวชาญด้านไลฟ์สไตล์และสัตว์เลี้ยง เธอต้องการให้เจ้าของได้ใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงของตัวเองมากขึ้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนซี้แสนรู้ของเรา
14 มกราคม 2385 : มีการพิมพ์ปฏิทินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2385 ได้มีการตีพิมพ์ปฏิทินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ในหนังสือ “บางกอกคาเลนดาร์” ฉบับปี 2413 หน้า 5 โดย “หมอบรัดเลย์ - แดเนียล บีช แบรดลีย์ (Daniel Beach Bradley)” หรือที่คนไทยนิยมเรียก “หมอปลัดเล” ได้บันทึกไว้ว่า เริ่มมีการพิมพ์ปฏิทินครั้งแรกในเมืองไทย (14 First Calendar print in B. 1842) แต่ไม่ได้ระบุลักษณะของปฏิทิน เข้าใจกันว่า อาจเป็นปฏิทินเล่ม และตีพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์
14 มกราคม 2429 : มีการสถาปนา “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์แรกของไทย
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร”
นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตำแหน่งรัชทายาท “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือที่เรียกว่า “วังหน้า” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร” ประสูติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2421 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2437 (นับแบบปีปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ. 2438) สิริพระชนมายุได้ 16 พรรษา 6 เดือน 7 วัน
14 มกราคม 2548 : “ยานฮอยเกนส์ (Huygens)” ลงจอดบนดวงจันทร์ไททัน
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 “ยานฮอยเกนส์ (Huygens)” ลงจอดบนดวงจันทร์ไททันได้สำเร็จ ถือเป็นยานอวกาศที่เดินทางไปลงจอดในดินแดนที่ไกลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
“ยานฮอยเกนส์ (Huygens)” เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ไททัน ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ “คริสเตียน ฮอยเกนส์ (Christian Huygens)” ผู้ค้นพบดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ เขาได้ค้นพบในปี 2198
ซึ่งตลอดระยะเวลามากกว่า 300 ปี หลังจากที่ฮอยเกนส์ค้นพบดวงจันทร์บริวารดวงนี้ ก็ไม่เคยมีใครเห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ดวงนี้แม้แต่คนเดียว แม้กระทั่งยานไพโอเนียร์ 11 และ วอยเอเจอร์ 1 ที่ทำการบินโฉบสำรวจดวงจันทร์ไททัน ก็ไม่เคยได้มองเห็นว่าพื้นผิวของดวงจันทร์ดวงนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร เนื่องจากดวงจันทร์ดวงนี้มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่
15 มกราคม 2477 : พิธีเปิด “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี”
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2477 ได้มีพิธีเปิด “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” หรือ “อนุสาวรีย์ย่าโม” ซึ่งข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของย่าโม โดยได้ “ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ “พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ชัย)” ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศไทย
“อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” หรือ “อนุสาวรีย์ย่าโม” เริ่มก่อสร้างในปี 2476 เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม โดยย่าโมแต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายเท้าเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของท่าน
“ท้าวสุรนารี” มีนามเดิมว่า “คุณหญิงโม” เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา ในปี 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช “คุณหญิงโม” จึงได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพเจ้าอนุวงศ์ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพฯ ได้เป็นผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านให้เป็น “ท้าวสุรนารี” โดยชาวจังหวัดนครราชสีมาเรียกท่านว่า “ย่าโม”
15 มกราคม 2551 : วันครบรอบสถานี 17 ปี
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service : Thai PBS) หรือ ส.ส.ท. ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 โดย พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไรแห่งแรกของไทย
โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นสถานีโทรทัศน์ รายงานข่าวที่เที่ยงตรง รอบด้าน เสนอรายการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตามข้อบังคับด้านจริยธรรมขององค์กร โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง มีคณะกรรมการนโยบายที่ผ่านการสรรหาโดยกระบวนการที่เป็นอิสระและโปร่งใส เป็นผู้กำหนดนโยบาย ควบคุมการดำเนินงานของผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหารองค์การฯ
รายได้ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. มาจากค่าบำรุงผู้ประกอบการสุราและยาสูบ ที่ต้องจ่ายให้นอกเหนือจากภาษีสรรพสามิตทั่วไป โดยมีรายได้สูงสุด ปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท
16 มกราคม : วันครู
“วันครู” ถูกกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี จากคำปราศรัยของ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ที่ได้นำเสนอในที่ประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศ ในคราวประชุมวิสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2499 ให้มี “วันครู” ขึ้น เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของครู
และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2499 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา จึงมีการประกาศให้วันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นวันประกาศพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ในราชกิจจานุเบกษา เป็น “วันครู”
วัตถุประสงค์ของ “วันครู” มีขึ้นเพื่อระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคี ความเข้าใจอันดีของครูและประชาชน รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพครู
นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ครูได้มาพบปะแลกเปลี่ยน เพื่อถ่ายทอดชีวิตของการเรียนการสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียน รวมถึงสวัสดิภาพของครูในปัจจุบันและอนาคตด้วย
17 มกราคม : วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
“วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” มีที่มาจากเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้ออกเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือ ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่เนินปราสาท เมืองสุโขทัย อันเป็นที่มาของการกำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปีเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”
“พ่อขุนรามคำแหง” ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์พระร่วง ปกครองอาณาจักรสุโขทัยระหว่างปี 1822 - 1841 ในยุคสมัยของพระองค์บ้านเมืองมั่นคง สงบสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งยังมีการคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ทำให้คนไทยได้มีอักษรใช้เป็นของตนเอง และสามารถส่งผ่านองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สืบทอดต่อเนื่องมาตลอดเจ็ดร้อยกว่าปี เป็นเหตุให้พระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของคนไทยที่ได้รับยกย่องเป็น “มหาราช”
17 มกราคม : วันโคนมแห่งชาติ
17 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันโคนมแห่งชาติ” ที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกร จนทำให้เรามีนมดื่มกินจนถึงทุกวันนี้
18 มกราคม : วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
“วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือ “วันยุทธหัตถี” ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี ถือเป็นวันที่ระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2135 ในสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ
การทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น เป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ทุ่งหนองสาหร่าย ตำบลตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี”
ในการนี้ กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เป็น “วันกองทัพไทย” โดยเป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
21 มกราคม : วันกอดแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Hug Day)
ที่มาที่ไปของ “วันกอดแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Hug Day)” เริ่มจากแนวคิดของ “บาทหลวง เควิน ซาบอร์นีย์ (Kevin Zaborney)” ที่มองว่าผู้คนไม่ค่อยแสดงความรักต่อกัน ในวันที่ 21 มกราคม 2529 เขาจึงเริ่มรณรงค์ให้มีการกอดกัน 1 วัน ในทุก ๆ ปี
การรณรงค์นี้ เริ่มจากเมืองคาโร รัฐมิชิแกน ที่เขาอาศัยอยู่ จากนั้นก็ได้รับความนิยมจนแพร่หลายไปยังรัฐอื่น ๆ และตามด้วยประเทศในแถบใกล้เคียง จนกลายเป็น “วันกอดแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Hug Day)” ในที่สุด
22 มกราคม 2486 : รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทาย
คำว่า “สวัสดี” บัญญัติโดย “พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)” เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2476 ขณะที่ท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทดลองใช้ในหมู่นิสิตก่อน
อีก 62 ปีต่อมา ในวันที่ 22 มกราคม 2486 เป็นยุคชาตินิยม รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงประกาศให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายเมื่อแรกพบกัน ถือเป็นการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
คำว่า “สวัสดี” มาจากคำว่า “โสตถิ” ในภาษาบาลี หรือคำว่า “สวัสดิ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดีไทยและในบทสวดมนต์มานานแล้ว
24 มกราคม 2527 : กำเนิด “Macintosh” จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์
ก่อนหน้าที่ “สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)” จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง iMac และ iPhone เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล เขาเคยได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก ต่อหน้าผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ในวันที่ 24 มกราคม 2527
และในอีกไม่กี่วันต่อมา เขาก็ปรากฏตัวต่อหน้าสมาคมคอมพิวเตอร์บอสตัน เพื่อแสดงเครื่อง Macintosh ให้สาธารณชนได้เห็นครั้งแรก และได้ปล่อยโฆษณาชุด 1984 ออกอากาศในช่วงการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล Super bowl ที่เป็นหนึ่งในโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
สำหรับคอมพิวเตอร์ Macintosh หรือถูกเรียกกันว่า Mac ออกแบบโดย Jef Raskin มาจากชื่อแอปเปิลพันธุ์ McIntosh เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มี UI (User Interface) ที่ใช้งานง่าย โดยมีหน้าจอขาวดำ ขนาด 9 นิ้ว มีเมาส์ ที่ได้ไอเดียมาจาก Xerox คีย์บอร์ด และช่องใส่ Floppy Disk สำหรับใส่เพื่อเปิดโปรแกรม และบันทึกงานต่าง ๆ
Macintosh เปิดจำหน่ายในราคา 2,495 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นราคาสูงมากในขณะนั้น ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ Command line อย่าง IBM ที่มีทั้ง Hard Disk และการใช้งานที่คุ้นชินมากกว่า สนนราคาเพียง 1,565 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ Macintosh ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมใหม่บนโลกใบนี้
29 มกราคม 2568 : วันตรุษจีน 2568 (Chinese New Year 2025)
“วันตรุษจีน (Chinese New Year)” เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน โดยวันแรกเรียกว่า “วันจ่าย” เป็นวันที่คนในครอบครัวออกไปจับจ่ายซื้อของสำหรับไหว้บรรพบุรุษและเฉลิมฉลองปีใหม่ วันรุ่งขึ้นเรียกว่า “วันไหว้” เป็นวันไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้าต่าง ๆ และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันเที่ยว” เป็นวันที่คนในครอบครัวไปเยี่ยมญาติมิตรและเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยกัน
ที่มาของวันตรุษจีน เกิดจากความตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืนผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า “วันตรุษจีน (Chinese New Year)”
สำหรับปี 2568 “วันจ่าย” ตรงกับวันที่ 27 มกราคม 2568 “วันไหว้” ตรงกับวันที่ 28 มกราคม 2568 “วันเที่ยว” ตรงกับวันที่ 29 มกราคม 2568
30 มกราคม : วันสันติภาพไร้ความรุนแรงในโรงเรียน (School Day of Non-violence and Peace)
“วันสันติภาพไร้ความรุนแรงในโรงเรียน (School Day of Non-violence and Peace)” เริ่มขึ้นที่ประเทศสเปน เมื่อปี 2507 โดยใช้ชื่อว่า “Dia Escolar de la No-violència i la Pau (DENIP)”
ซึ่งการก่อตั้งวันนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเสียชีวิตของ “มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” มหาบุรุษนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดียจากอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แต่เขากลับถูกลอบสังหาร ในวันที่ 30 มกราคม 2491 ขณะมีอายุ 78 ปี
จุดประสงค์ของ “วันสันติภาพไร้ความรุนแรงในโรงเรียน (School Day of Non-violence and Peace)” คือเพื่อสนับสนุนการศึกษาที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของ “มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)”
โดยทุกปีจะมีหลักปฏิบัติว่า “ความรักในเพื่อนมนุษย์ย่อมดีกว่าความเห็นแก่ตัว ความอหิงสาย่อมดีกว่าความรุนแรง และสันติภาพย่อมดีกว่าสงคราม” รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้คนในสถานศึกษามีความรักและความเมตตาต่อกัน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสามัคคีในสังคม
30 มกราคม 2491 : “มหาตมะ คานธี” ถูกลอบสังหาร เสียชีวิต
“มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” มหาบุรุษนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย ชื่อเต็มคือ “โมฮันทาส การามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi)” เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2412 ที่จังหวัดโพรบันดาร์ (Porbandar) รัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ในวรรณะแพศย์ (พ่อค้า)
เขาแต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี เรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London) ประเทศอังกฤษ (ประเทศเจ้าอาณานิคมของอินเดียสมัยนั้น) เพื่อโอกาสก้าวหน้าทางการงานในอนาคต ตอนอายุ 18 ปี ก่อนจะเดินทางไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียอพยพไปทำงานกันมาก ที่นี่เขาได้พบประสบการณ์เหยียดสีผิวตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ไปถึง คือซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่ถูกขับไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 เขาไม่ยอม จึงถูกจับโยนลงจากรถไฟ ความอับอายครั้งนั้นกลายเป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากนั้นเขาก็จัดชุมนุมชาวอินเดีย อันนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้
เมื่ออังกฤษออกกฎหมายห้ามชาวฮินดูแต่งงานกับมุสลิม เขาได้กล่าวปราศรัยโจมตีกฎหมายฉบับนี้ จนเกิดการประท้วงในวงกว้างทั่วแอฟริกาใต้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกไปในที่สุด
“มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” กลับอินเดียในปี 2458 ขณะนั้นชาวอินเดียสิ้นหวังที่จะเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่คานธีพยายามปลุกระดมชาวอินเดียให้ลุกขึ้นเรียกร้องเอกราช เมื่อเกิดการสังหารหมู่ชาวอินเดียที่อำมริสาในปี 2462 ชาวอินเดียรู้สึกโกรธแค้นมาก อยากจะแก้แค้นคืน แต่เขาได้กล่าวปราศรัยให้ประชาชนเปลี่ยนความโกรธเป็นการให้อภัย จนกลายเป็นหลัก “อหิงสา” หรือ “สัตยาเคราะห์ (Satyagraha)” จากนั้นก็หาวิธีต่อต้านอังกฤษ โดยการปฏิเสธกฎหมายอังกฤษที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายผูกขาดเกลือ ซึ่งคานธีนำชาวอินเดียนับแสนเดินทางไกลไปผลิตเกลือที่เรียกว่า “ซอลท์ มาร์ช (Salt March)”
ในปี 2473 เขาชวนให้ชาวอินเดียนำเสื้อผ้าของอังกฤษมาเผาไฟ แล้วหันไปสวมเสื้อผ้าพื้นเมือง เขาทำเป็นตัวอย่างโดยการปั่นด้ายเองและนุ่งผ้าฝ้ายพื้นเมืองเนื้อหยาบ สวดมนต์และปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตร
“มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” ถูกจับขังคุกหลายครั้ง โดยไม่ขอประกันตัว ในที่สุดท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติ อังกฤษจึงยอมคืนเอกราชให้อินเดียในวันที่ 14 สิงหาคม 2490 ส่วนชาวมุสลิมแยกออกไปตั้งประเทศปากีสถาน จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม มีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนคน เขาออกมาประท้วงโดยการอดอาหาร แต่พวกหัวรุนแรงทั้งสองฝ่ายไม่เห็นด้วยกับเขาที่ต้องการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ในที่สุดก็ถูกลอบสังหารโดย “นาธุราม กอดเส (Nathuram Godse)” ชาวฮินดูหัวรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าเขาสนับสนุนฝ่ายอิสลาม ขณะเดินทางไปสวดมนต์ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2491 ขณะอายุได้ 78 ปี
เขาคือผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียคืนจากอังกฤษ โดยใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และยึดมั่นอยู่บนหลักอสิงหา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงอย่างสันติของคนทั่วโลก
31 มกราคม 2514 : “ยานอพอลโล 14” พร้อมนักบิน เดินทางไปถึงดวงจันทร์สำเร็จ
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514 “ยานอพอลโล 14 (Apollo 14)” พร้อมกับนักบินอีก 3 คน เดินทางไปถึงดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยภารกิจนี้เริ่มจากการเดินทางจากจุดเริ่มต้นที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
เกร็ดที่น่าสนใจของภารกิจนี้ คือการที่นักบินได้แอบนำหัวไม้กอล์ฟ 1 อัน กับลูกกอล์ฟอีก 2 ลูก ติดตัวขึ้นไปบนยานอวกาศโดยที่องค์การนาซาไม่ทราบเรื่อง หลังจากที่ภารกิจเก็บตัวอย่างเสร็จสิ้นแล้ว เขาได้นำหัวไม้กอล์ฟมาติดกับด้าม และทำการหวดลูกกอล์ฟ 2 ลูกที่ติดตัวมา
โดยลูกแรกขุดทรายทำให้กระเด็นได้ไม่ไกล ส่วนลูกที่ 2 ถูกตีออกไปอย่างเต็มแรง ซึ่งจากการคำนวณในภายหลังคาดว่าระยะทางน่าจะอยู่ที่ 200-300 เมตร ลูกกอล์ฟจึงเป็นหนึ่งในวัตถุที่องค์การนาซาทิ้งไว้บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้