พบพฤติกรรมประหลาดของวาฬเพชฌฆาต ที่นำซากปลาแซลมอนมาวางไว้บนหัวจนหลายตัวในฝูงเลียนแบบกลายเป็นแฟชั่นแปลกประหลาดที่กลับมาพบอีกครั้งในรอบเกือบ 40 ปี
นักวิทยาศาสตร์ในรัฐวอชิงตันพบพฤติกรรมแปลกของออร์กา (Orcinus orca) หรือวาฬเพชฌฆาต ที่เริ่มนำซากปลาแซลมอนมาวางบนหัวราวกับเป็นหมวกประดับศีรษะ ซึ่งพฤติกรรมนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตในช่วงยุคทศวรรษ 1980 มีการบันทึกพฤติกรรมนี้ครั้งแรกในปี 1987 โดยออร์กาตัวหนึ่งซึ่งต่อมามีตัวอื่นในฝูงเลียนแบบ จนกลายเป็นแฟชั่นชั่วคราวก่อนจะหายไปในปี 1988
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมามีรายงานพบออร์กาตัวผู้วัย 32 ปีที่มีชื่อว่า "J27 Blackberry" ในพื้นที่ South Puget Sound ใกล้ Point No Point รัฐวอชิงตัน ว่ายน้ำพร้อมมีซากปลาแซลมอนวางอยู่บนหัว และในเวลาหลังจากนั้นสองถึงสามสัปดาห์ก็มีรายงานพบวาฬออร์กาตัวอื่น ๆ ที่มีซากแซลมอนวางอยู่บนหัวเช่นเดียวกัน ราวกับว่ากลายเป็นแฟชั่นในหมู่วาฬออร์กาอีกครั้งหนึ่ง
นักวิจัยยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุที่แน่ชัดของพฤติกรรมนี้ได้ บ้างเชื่อว่าวาฬออร์กาอาจใช้วิธีวางซากปลาไว้บนหัวเป็นวิธีเก็บอาหารไว้สำหรับกินทีหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีปลาจำนวนมาก อย่างในปีนี้ที่พื้นที่ South Puget Sound มีปลาแซลมอนชุม (Chum Salmon) เมื่อพวกมันล่าได้เยอะแต่กินอิ่มแล้ว พวกมันอาจจะเสียดายจึงเก็บปลาแซลมอนเหล่านี้ไว้บนหัวเพื่อเก็บไว้รอเมื่อพวกมันหิวค่อยเอามากินต่อได้อีก
และที่พวกมันวางปลาแซลมอนชุมไว้บนหัวก็อาจจะเพราะว่าปลาแซลมอนสายพันธุ์นี้มีขนาดที่เล็กและตัวลื่นอาจจะเก็บไว้ข้างใต้ครีบได้ไม่สะดวกทำให้การวางไว้บนหัวอาจจะง่ายกับการเก็บของพวกมันมากกว่า
การสวม "หมวกปลาแซลมอน" ยังอาจเป็นพฤติกรรมสนุกสนานของออร์กา ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความฉลาดและความเป็นสัตว์สังคม
เมื่อพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นแล้วก็อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ คล้ายกับกระแสแฟชั่นที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนไม่กี่คนที่ทำขึ้นแล้วคนอื่น ๆ เห็นประโยชน์จากพฤติกรรมเหล่านั้นเลยทำตาม ๆ กันกลายเป็นแฟชั่น ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นกับออร์กาด้วย คล้ายกับที่พบเหตุการณ์ปี 2018 ที่มีการพบแมวน้ำในฮาวายมีปลาไหลติดอยู่ในจมูก และพวกมันก็ไม่ได้มีทีท่าตกใจกับปลาไหลที่ติดอยู่ในจมูกที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลว่าพฤติกรรมนี้จะกลายเป็นแฟชั่นในหมู่แมวน้ำมากกว่าความบังเอิญ
เพื่อศึกษาพฤติกรรมนี้เพิ่มเติม นักวิจัยอาจใช้โดรนติดกล้องเพื่อสังเกตว่าออร์กาเก็บปลาไว้บนหัวนานแค่ไหนและกินหรือทิ้งปลาหลังจากนั้น หากพบว่าพวกมันไม่กินปลาที่เก็บไว้ ทฤษฎีเกี่ยวกับการเก็บอาหารอาจต้องถูกทบทวนใหม่
แม้เหตุผลเบื้องหลังจะยังเป็นปริศนา นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าการเห็นพฤติกรรมนี้กลับมาอีกครั้งนับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจต่อการศึกษา
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : livescience, theguardian
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech