การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการซีเรียหลายทศวรรษ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบาร์ชาร์ อัล-อัสซาด ของฝ่ายกลุ่มกบฏได้อย่างรวดเร็วและสิ้นเชิงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2567 ไม่เพียงแต่ปูทางสู่ยุคใหม่ของซีเรียที่ยังไม่ลงตัวท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่รอการสะสาง แต่ยังเป็นที่จับตาของประชาคมโลก ในก้าวต่อไปของซีเรียที่กำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่
ถึงแม้ว่าฝ่ายกลุ่มกบฏ ซึ่งนำโดยนายอาบู โมฮัมหมัด อัล-กอลานี หรือนายอาห์เหม็ด อัล-ชารา (Ahmed al-Shara) วัย 42 ปี แกนนำกลุ่มฮายาต ตาห์รีร์ อัล-ชาม หรือ HTS (Hayat Tahrir al-Sham) จะเป็นผู้กุมบังเหียนในซีเรียโดยนัยอยู่ในขณะนี้ และให้คำมั่นว่า จะปรับโฉมสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางใหม่
อย่างไรก็ตาม บทความที่เผยแพร่ในจดหมายข่าวอิสระระหว่างประเทศ NPR เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ชี้ว่า ซีเรียกำลังอยู่ในภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่อันตราย และผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า ยังไม่อาจคาดการณ์สถานการณ์ในซีเรียในอนาคตอันใกล้นี้ได้เลย เนื่องจากอยู่ในภาวะซับซ้อน และไร้ความแน่นอน
NPR ระบุว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้หยิบยกปัจจัยสำคัญ ๆ ต่อไปนี้ที่เกี่ยวข้องกับซีเรีย และประชาคมโลกควรจะให้ความสนใจ
การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของซีเรีย
ภายหลังอัล-อัสซาด และครอบครัว ตลอดจนเจ้าหน้าที่บางส่วนในอดีตรัฐบาลของเขาหลบหนีออกนอกประเทศ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ฝ่ายกลุ่มกบฏจะเข้ายึดครองกรุงดามัสกัส นครหลวงของซีเรียได้ อำนาจการปกครองซีเรียในขณะนี้ตกเป็นของนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด กาซี จาลาลี (Mohammad Ghazi Jalali)
นายโจชัว แลนดิส (Joshua Landis) ผู้เชี่ยวชาญด้านซีเรียแห่งมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาของสหรัฐฯ ชี้ว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การมอบอำนาจการปกครองชั่วคราวแก่นายกรัฐมนตรีในอดีตรัฐบาลของอัล-อัสซาดในขณะนี้ เป็นการจัดวางของ ฝ่ายกลุ่มกบฏ และดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจในซีเรียได้อย่างสันติวิธี
อย่างไรก็ดี ซานัม วาคิล (Sanam Vakil) ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือแห่ง Chatham House ในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร เตือนว่ายังไม่ควรด่วนสรุป และกล่าวว่าซีเรียควรเรียนรู้จากบทเรียนในอิรัก ภายหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ถูกสหรัฐฯ โค่นล้ม และเข้ายึดครองเมื่อปี 2546
วาคิลชี้ว่า ในครั้งนั้นสหรัฐฯ ได้ยุบพรรคบาธ (Baath) ของอดีตรัฐบาลอิรัก ซึ่งส่งให้บริการพื้นฐานต่าง ๆ ในอิรักหยุดชะงัก นำไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายครั้งใหญ่ทั่วประเทศอิรัก ดังนั้นการให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากอดีตรัฐบาลอัล-อัสซาด ปฏิบัติงานต่อเนื่อง จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยเสริมสร้างฉันทามติ และฐานการสนับสนุนที่กว้างขวางขึ้นในซีเรียยุคใหม่
ความพยายามสร้างความปรองดองในซีเรียยังเป็นประเด็นความท้าทาย
NPR ระบุว่า ความหลากหลายของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ในซีเรียเป็นปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อน โดยชี้ว่า ฐานอำนาจ 25 ปีของอัล-อัสซาด ซึ่งเขารับช่วงจากบิดา เป็นกลุ่มชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ และชนกลุ่มน้อยอะละวี (Alawite) ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่ทรงอิทธิพล ถึงแม้จะเป็นนิกายเล็ก ๆ และมีประชากรรวมร้อยละ 13 ของประชากรทั้งสิ้นในซีเรีย
ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในซีเรีย หรือราวร้อยละ 75 เป็นชนชาวมุสลิมนิกายซุนนี และชนกลุ่มอะละวี ซึ่งกระจุกอยู่แถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กำลังรู้สึกสูญเสียอำนาจ และอยู่ในสถานะเปราะบาง ทั้งนี้ แลนดิสชี้ว่า ซีเรียกำลังตกอยู่ในภาวการณ์ที่ตึงเครียดอย่างมากระหว่างชนชาวมุสลิมกลุ่มสำคัญในประเทศ ซึ่งต้องติดตามจับตามอง
แลนดิสเตือนว่า ขณะนี้มีสัญญาณ “การแตกแถว” ของฝ่ายกลุ่มกบฏทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย เนื่องจากกองกำลังชาวเคิร์ดต่าง ๆ ถูกกองกำลังฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดยชาวอาหรับ ขับออกจากเมืองแมนบิจ (Manbij) แล้ว
ทางด้านวาคิลแสดงความกังวลว่า ซีเรียอาจจะกลายเป็นรัฐอิสลามที่เข้มงวดคล้ายกับอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ภายหลังจากกองกำลังกลุ่มตาลิบันโค่นล้มอดีตรัฐบาล และเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ถึงแม้ว่า กลุ่มผู้นำใหม่ในซีเรียจะประกาศคำมั่นว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในซีเรียก็ตาม
อย่างไรก็ดี นายกายเออร์ พีเดอร์เซน (Geir Pedersen) ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติประจำซีเรียชาวนอร์เวย์ กล่าวที่กาตาร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า เขาได้ยินข้อมูลที่ตรงข้ามกับคำมั่นของกลุ่มผู้นำใหม่ในซีเรีย เช่น กรณีที่ระบุว่าจะไม่จำกัดการแต่งกายและสิทธิเสรีภาพของสตรี พร้อมเตือนอย่าแบ่งแยกสังคมซีเรีย ทั้งนี้เพื่อสันติภาพ และเสถียรภาพ
ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหลายล้านคนรอการคืนกลับบ้านเกิด
นายฟิลิปโป กรองดี (Filippo Grandi) ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติชาวอิตาลี แถลงเมื่อวันจันทร์ที่9 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ในซีเรียขณะนี้เปรียบเสมือนอยู่ตรงทางแยกระหว่างสันติภาพกับสงคราม เสถียรภาพกับภาวะไร้ขื่อแป และการฟื้นฟูประเทศกับความปรักหักฟังต่อเนื่อง
กรองดีชี้ว่า พัฒนาการในซีเรียเมื่อเร็ว ๆ นี้ สร้างความหวังว่า ความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวซีเรียอาจจะสิ้นสุดลงเสียที และชาวซีเรียหลายล้านคน ซึ่งกลายเป็นผู้ลี้ภัยสงครามกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก จะได้คืนกลับสู่บ้านเกิด
แต่กระนั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความปรารถนาสันติภาพ และการคืนกลับสู่บ้านเกิดของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจะเป็นจริงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มผู้นำใหม่ซีเรีย สามารถฟื้นฟูเสถียรภาพในซีเรียได้เพียงใด
ความสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ของสูญญากาศทางการเมืองในซีเรีย
NPR ระบุว่า รัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางคุ้นเคยกับอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการ เช่น กรณีอิรัก และลิเบีย ซึ่งลิเบียต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองอยู่หลายปีภายหลัง มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) อดีตผู้นำเผด็จการถูกโค่นอำนาจ และถูกลอบสังหารโดยกองกำลังกลุ่มชาติตะวันตก
NPR ชี้ว่า ภายหลังฝ่ายกลุ่มกบฏเข้ายึดครองกรุงดามัสกัสได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ก็เดินทางไปยังที่ราบสูงโกลันของซีเรีย ซึ่งอิสราเอลเข้าครอบครองตั้งแต่ “สงคราม 6 วัน” ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มพันธมิตรซีเรีย อียิปต์ และจอร์แดน เมื่อปี 2510 โดยอ้างว่า เพื่อใช้เป็นฐานป้องกันภัยของอิสราเอลเป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้ อิสราเอลยังเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในซีเรียหลายร้อยครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ และประกาศว่า อิสราเอลได้เข้าควบคุมศักยภาพทางทหารของอดีตกองทัพบกซีเรียได้แล้วถึงร้อยละ 70 ทั้งนี้ พีเดอร์เซนได้เรียกร้องให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการดังกล่าว
วาคิลชี้ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวของอิสราเอล เป็นเพราะการล่มสลายของอดีตรัฐบาลอัล-อัสซาด ทำให้อิสราเอลตกที่นั่งลำบาก แต่เธอคาดคิดว่า อิสราเอลกำลังพยายามสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจในซีเรีย และพยายามจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวในกระบวนการดังกล่าว
ซีเรียยังเป็นจุดสนใจของสหรัฐฯ รัสเซีย และอิหร่าน
NPR ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามยุติความรุนแรงที่พลเรือนในซีเรียเผชิญ ตั้งแต่สงครามกลางเมืองในซีเรียเพื่อต่อต้านอดีตรัฐบาลอัล-อัสซาดปะทุขึ้นเมื่อปี 2554 โดยประกาศมาตรการคว่ำบาตรซีเรียหลายระลอก และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็ประกาศปรามให้ฝ่ายกลุ่มกบฏปฏิบัติตามคำมั่นที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เกี่ยวข้องกลุ่มก่อการร้าย
สหรัฐฯ ยังได้ส่งฝูงบินรบโจมตีเป้าหมาย และค่ายปฏิบัติการของฝ่ายรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย หรือ “ISIS” (Islamic State of Iraq and Syria) หลายสิบครั้งตั้งแต่การล่มสลายของอดีตรัฐบาลอัล-อัสซาด และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศว่า กองกำลังสหรัฐฯ จะร่วมกับกลุ่มชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนลดทอนศักยภาพของ ISIS ต่อไป
ทางด้านรัสเซีย และอิหร่าน ซึ่งเป็น 2 ประเทศพันธมิตรสำคัญของอดีตรัฐบาลอัล-อัสซาด ต่างเรียกร้องให้ฝ่ายกลุ่มกบฏ รักษาคำมั่นที่จะรักษาฐานที่มั่น และสินทรัพย์ของประเทศตนในซีเรียให้คงอยู่ในสภาพปลอดภัย
ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke