นักวิจัยหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) วิจัยพืชวงศ์ขิงอย่างต่อเนื่อง ค้นพบ “กระเจียวอาจารย์วันชัย” (𝘾𝙪𝙧𝙘𝙪𝙢𝙖 𝙬𝙖𝙣𝙘𝙝𝙖𝙞𝙞 Saensouk, P.Saensouk, Maknoi & Boonma sp. nov.) พืชสกุลขมิ้น–วงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก จากจังหวัดกาญจนบุรี
โดยทีมวิจัยที่มีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นำโดยรองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์, ผศ. อารีรัตน์ รักษาศิลป์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และนายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอกหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ทั้งนี้นักวิจัยทั้งสี่เป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศึกษาวิจัยร่วมกับ ดร.จรัญ มากน้อย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลกในพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก, นายชัยณรงค์ เตชา จากสวนสุโข จังหวัดสุโขทัย, ผศ. ดร.ปฐมทรรศน์ ศรีสุข จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ. ดร. Phetlasy Souladeth Phetlasy Souladeth จากคณะวิทยาศาสตร์ป่าไม้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว โดยผลงานพืชชนิดใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในอันดับสูงสุดร้อยละ 10 ของสาขา หรือ Tier 1 Journal ในปี 2024
ที่มา “กระเจียวอาจารย์วันชัย”
ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ ตั้งเพื่อเป็นเกียรติ ผศ.วันชัย สุ่มเล็ก ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้มีการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืชมาอย่างต่อเนื่อง
“กระเจียวอาจารย์วันชัย” มีลักษณะเด่น คือ มีใบประดับสีขาวครีมแกมสีส้ม และมีฐานใบรูปหัวใจ นอกจากนี้มีเนื้อด้านในเหง้าสีเหลืองอ่อน มีใบ 3-5 ใบ ก้านใบยาว 14-20 เซนติเมตร ลิ้นใบยาว 6-8 มิลลิเมตร ปลายแหลม ก้านใบเรียงสลับระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปไข่ ขนาด 33-56 x 16-24 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ร่องกลางใบสีเขียว มีเส้นใบเด่นชัด ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน ช่อดอกเกิดระหว่างกาบใบ ช่อดอกยาว 18-24 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 7-9 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 14-16 เซนติเมตร
ส่วนใหญ่ถูกหุ้มด้วยกาบใบ ใบประดับส่วนยอดมีสีขาวหรือขาวแกมชมพู ปลายแหลม และผิวมีขน ใบประดับที่มีดอกเป็นรูปไข่กลับ เป็นกระเปาะส่วนปลายโค้งออกเล็กน้อย ปลายใบประดับโค้งมน และมีปลายเป็นติ่งแหลม สีขาวครีมแกมสีส้มอ่อนจนถึงสีส้มเข้ม ฐานใบประดับเชื่อมติดกันครึ่งหนึ่งของความยาวใบประดับ ผิวมีขน ใบประดับด้านล่างของช่อดอกจะมีขนาดใหญ่กว่าใบประดับด้านบนของช่อดอก ในหนึ่งใบประดับมีดอก 4-5 ดอก ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ปลายแหลม กลีบเลี้ยงปลายแฉกเป็นสามพู ก้านดอกสีเหลือง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีเหลือง ส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู กลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีเหลืองปลายแหลมหรือโค้งมนเล็กน้อย อับเรณูมีเดือยที่ฐาน ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ต่อมน้ำหวานเหนือรังไข่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกจะบานพร้อมผสมในช่วงเช้า ออกดอกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากกระเจียววันชัยมีต่อมน้ำหวาน มีใบประดับส่วนยอดที่เด่นชัด และมีลักษณะดอกที่เป็นรูปคล้ายระฆัง ทำให้จัดอยู่ในสกุลขมิ้น สกุลย่อยขมิ้น (𝘊𝑢𝘳𝑐𝘶𝑚𝘢 subgen. 𝘊𝑢𝘳𝑐𝘶𝑚𝘢)
ปัจจุบันพบ “กระเจียวอาจารย์วันชัย” ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เขตพรรณพฤกษชาติตะวันตกเฉียงใต้ของไทยในป่าดิบแล้ง ที่ความสูงประมาณ 200-350 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีการกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่อาศัยน้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร และพบจำนวนประชากรน้อยกว่า 200 ต้น ทางคณะผู้วิจัยจึงเสนอให้กระเจียวอาจารย์วันชัย จัดเป็นพืชหายาก มีสถานะการอนุรักษ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เพื่อปกป้องพืชชนิดใหม่นี้และถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติจนกว่าจะมีการค้นพบจำนวนประชากรและขอบเขตการกระจายพันธุ์เพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะการอนุรักษ์ให้เหมาะสมต่อไป
Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้
📌อ่าน : มหัศจรรย์แห่งป่าภูวัว ! “ก่อบังบาตร” ต้นไม้แหวกแนวญาติร่วมสกุล
📌อ่าน : บานสะพรั่ง ! “ดอกกระดุมเงิน” ความมหัศจรรย์บนภูกระดึง
📌อ่าน : สวยตราตรึง ! “รองเท้านารีอ่างทอง” กล้วยไม้ป่าเฉพาะถิ่น
📌อ่าน : “พิศวงไทยทอง” ราชินีแห่งความลึกลับบนดอยหัวหมด จ.ตาก
📌อ่าน : ค้นพบ ! “เปราะอาจารย์แหม่ม” พืชถิ่นเดียวของไทย - ชนิดใหม่ของโลก
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : nature, Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech