ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เงินโบนัส” ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า


Lifestyle

19 ธ.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

“เงินโบนัส” ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2045

“เงินโบนัส” ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เงินโบนัสคงเป็นอีกสิ่งที่หลายคนรอคอยมาตลอดปี โดยเฉพาะสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน คำถามสำคัญหนึ่งของหลายคนคือโบนัสปีนี้จะได้เท่าไหร่ ? แต่คำถามที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคงหนีไม่พ้น “เงินโบนัสได้มาแล้วจะใช้อย่างไร ?”

Thai PBS ชวนทุกคนมาดูแนวทางการบริหารเงินโบนัส ได้มาแล้วมีวิธีคิดในการใช้จ่ายอย่างไรให้คุ้มค่า

กันเงินเก็บออมอย่างเหมาะสม

เมื่อได้เงินโบนัสมา หลายคนอาจคิดถึงการใช้เงินเพื่อจับจ่ายให้เป็นรางวัลชีวิต แต่การเก็บออมเงินเพื่อให้เพียงพอควรมีความสำคัญก่อนเป็นอันดับหนึ่ง คำถามสำคัญคือออมเท่าไหร่ ? จึงจะเหมาะสมเพียงพอ

คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละคน หากเงินเพียงพอ ไม่มีหนี้สิน บ้านไม่ต้องเช่าหรือผ่อน มีเงินเหลือทุกเดือนอย่างแน่นอน โบนัสสามารถใช้เพื่อซื้อของเป็นรางวัลชีวิตให้กับตัวเองได้ แต่หากสถานการณ์ทางการเงินเหมือนคนทั่วไปที่ต้องผ่อนบ้าน รถ มีหนี้สินระดับนึง ควรมีการออมเงินเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งถือว่าเพียงพอทำให้ชีวิตมีความมั่นคงทางด้านการเงินในระดับที่ปลอดภัยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การออมเงินยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในชีวิต และสถานะหนี้สินของแต่ละบุคคลด้วย อาจเลือกโปะเพื่อปลดหนี้ที่เร่งด่วนดอกเบี้ยสูงและก้อนเล็กก่อนเก็บออมได้

การออมเงินยังคงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับชีวิต

ปลดหนี้ก้อนเล็กก่อนก้อนโต

เมื่อได้เงินโบนัสมาให้เอาไปโปะหนี้ ถือเป็นพื้นฐานในการบริหารการเงิน ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย แต่หากกรณีที่มีหนี้หลายก้อน เราควรปิดหนี้ก้อนไหนก่อนกันจึงจะดี

ในมุมนักคณิตศาสตร์ หนี้ที่ควรปิดก่อนคือหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง เพื่อลดเงินดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ทว่าในมุมของนักวางแผนการเงินแล้ว มีข้อแนะนำให้ปิดหนี้ที่จำนวนน้อยกว่าลงก่อน เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าการปิดหนี้ก้อนเล็กหลายก้อนก่อนจะส่งผลดีทางด้านจิตวิทยา และส่งผลให้สามารถปิดหนี้ก้อนอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นอย่างหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้รถที่ควรปิดให้ได้ใน 3 – 5 ปี ซึ่งควรจะปิดหนี้เหล่านี้ก่อนหนี้ระยะยาวอย่างหนี้บ้าน

ในส่วนของหนี้รายเดือนนั้นมีข้อควรระวังคือ เราควรมีอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม (Debt to Income Ratio: DTI) ไม่มากกว่า 36 % จะถือเป็น “หนี้ดี” เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้สำหรับเครื่องมือประกอบอาชีพ

แบ่งเงินลงทุนระยะยาวเพื่อเป้าหมายการเกษียณ

โบนัสถือเป็นเงินก้อนใหญ่ หากแบ่งมาเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยชีวิตในบั้นปลายได้ การแบ่งมาลงทุนทั้งกองทุน ตราสารหนี้ รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง ๆ ช่วยให้ชีวิตในวัยเกษียณดีขึ้นได้ ทั้งนี้ เงินได้จากโบนัสถือเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องเสียภาษีด้วย จึงควรมองกองทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษีเพื่อความคุ้มค่าสูงสุดเอาไว้ด้วยเช่นกัน

การบริหารเงินแบ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมช่วยให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้

ให้รางวัลตัวเองและคนรอบข้าง

เมื่อมีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน มีหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่มีความมั่นคงทางการเงิน คุณสามารถให้รางวัลกับตัวเองได้ แบ่งส่วน 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับตัวเอง หากต้องการให้รางวัลชิ้นใหญ่ อาจต้องวางแผน เช่น กันเงิน 10 เปอร์เซ็นต์หลายเดือนมารวมกับ 10 เปอร์เซ็นต์จากเงินโบนัสเพื่อเป้าหมายเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ในช่วงปลายปี

นอกจากนี้ การให้รางวัลกับคนรอบข้างก็สำคัญสำหรับการใช้ชีวิต เช่น พ่อแม่ เพื่อน ๆ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ เพราะการใช้จ่ายเงินเพียงเพื่อเติมเต็มให้กับชีวิตตัวเอง หลายครั้งทำให้ผู้คนหลงลืมความหมายของตัวเองต่อสังคมและคนรอบข้าง การตั้งเป้าหมายจัดการการเงินเพื่อความสัมพันธ์อื่น ๆ ในชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณสามารถกันเงินสัก 5 เปอร์เซ็นต์เพื่อไว้เป็นของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามโอกาสพิเศษได้

โบนัสถือเป็นเงินก้อนใหญ่ การบริหารจัดการที่ดีจะช่วยให้เงินก้อนเหล่านั้นมีค่าเพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งคุณค่าในฐานะเงินและคุณค่าต่อความหมายของชีวิต
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เงินโบนัสโบนัสการลงทุนเกษียณอายุบริหารการเงินมนุษย์เงินเดือน
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด