พบ “ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ที่มีขนาดใหญ่เท่า “ดาวเนปจูน” และมีอุณหภูมิที่ร้อนระอุในวงโคจรที่ใกล้ดาวฤกษ์แม่ของมันเป็นอย่างมาก
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ที่มีขนาดใหญ่เท่ากับดาวเนปจูนและอยู่ในวงโคจรที่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่ของมันมาก ตั้งชื่อว่า TOI-3261 b มีวงโคจรใกล้กับดาวฤกษ์เพียง 0.01714 หน่วยดาราศาสตร์ (2,603,002.95 กิโลเมตร) และใช้เวลาโคจรรอบดาวแม่เพียง 21 ชั่วโมงเท่านั้น
ดาวเคราะห์ในกลุ่ม Hot-Neptune หรือ ดาวเนปจูนร้อน เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่หาได้ยากมาก นับจนถึงตอนนี้มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้แค่ 4 ดวงเท่านั้น
ด้วยวงโคจรที่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่ของมันมาก ทำให้ TOI-3261 b เป็นดาวเคราะห์กลุ่มที่มีจำนวนน้อยมาก ๆ ในเอกภพเนื่องจากวงโคจรของมันที่อยู่กับดาวฤกษ์ทำให้ชั้นบรรยากาศของมันถูกพัดปลิวออกไปในอวกาศได้ง่าย จากการสำรวจพบว่าถึงแม้มันจะมีขนาดเท่ากับดาวเนปจูน แต่ความหนาแน่นมากกว่าดาวเนปจูนถึง 2 เท่า มีมวลเทียบเท่ากับโลก 30.3 ดวง ซึ่งนั่นคาดการณ์กันว่าชั้นบรรยากาศส่วนที่เบาและเบาของดาวเคราะห์ดวงนี้อาจถูกพัดออกไปจนหมดแล้วเหลือแต่เพียงชั้นบรรยากาศและสสารหนักหลงเหลืออยู่
การวิเคราะห์ชี้ว่า TOI-3261 b น่าจะก่อกำเนิดเมื่อ 6.5 พันล้านปีก่อน มันอาจจะเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ก่อนที่ระยะเวลาผ่านไปมวลของมันก็หลุดหายไปกับอวกาศ ซึ่งน่าจะสูญเสียมวลไปจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ ความร้อนจากดาวฤกษ์แม่ทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ระเหยและถูกพัดออกไป และมวลของมันถูกดูดเข้าไปในดาวฤกษ์แม่ของมัน
แต่ก็มีอีกสมมติฐานหนึ่งคือมันอาจจะก่อตัวห่างไกลจากดาวฤกษ์แม่ของมันเพียงแต่ว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่เหวี่ยงตัวดาวเคราะห์ให้เข้าไปใกล้ชิดกับดาวฤกษ์แม่
ดาวเคราะห์ TOI-3261 b ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ของ NASA และได้รับการช่วยเหลือในการสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกจากทั้งออสเตรเลีย ชิลี และแอฟริกาใต้ ซึ่งการที่ดาวเคราะห์ในกลุ่มของดาวเนปจูนร้อนนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมาก ๆ ในจักรวาลทำให้มีแผนที่จะสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ด้วยช่วงคลื่นอินฟราเรดในอนาคต
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech