ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

'ไม่ใช่ก้าวข้าม แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน' เมื่อสูญเสียคนสำคัญ


Lifestyle

15 ธ.ค. 67

บุรพัชร์ สุขเนียม

Logo Thai PBS
แชร์

'ไม่ใช่ก้าวข้าม แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน' เมื่อสูญเสียคนสำคัญ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2025

'ไม่ใช่ก้าวข้าม แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน' เมื่อสูญเสียคนสำคัญ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เมื่อพูดถึงความทรงจำของหนุ่มสาวเจน Y วัยรุ่นยุค 2000’s ‘แชนแนลวี’ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถือกำเนิดในยุคนั้นและเป็นที่นิยมอย่างมาก ช่องทีวีเคเบิลสำหรับเพลงไทยและเพลงสากล ที่มาพร้อมกับความสดใสของเหล่าผู้ดำเนินรายการที่ถูกเรียกว่า ‘วีเจ’ หนึ่งในวีเจที่เป็นภาพจำคงไม่พ้น ‘วีเจจ๋า’ หรือ ‘ณัฐฐาวีรนุช ทองมี’ วีเจรุ่นแรกของช่อง 

สิ่งนี้เองเป็นใบเบิกทางพาเธอสู่วงการบันเทิง และมีผลงานที่มีชื่อเสียงมากมาย วันนี้การมาเยือนรายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด ของ วีเจจ๋า ทำให้เราได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิต รวมถึงเรื่องราวเบื้องหลังของเธอ ที่ได้สูญเสียน้องสาวสุดที่รักของครอบครัว ทำให้วีเจจ๋าได้ ‘เรียนรู้’ ที่จะอยู่กับ ‘การสูญเสีย’ ผ่านคำพูดในรายการที่ว่า 

“มันไม่ใช่ก้าวข้าม แต่คืออยู่กับมัน นึกถึงก็ยังเสียใจ แต่เป็นความเสียใจที่เข้าใจแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่” 

‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ช้าก็เร็ว แต่ในบางครั้ง ความตายก็พรากคนที่เรารักไปอย่างไม่ทันตั้งตัว การสูญเสียจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อสูญเสียใครสักคนไป ‘ความเศร้าโศก’ ก็พร้อมเข้ามาครอบงำไปชั่วขณะ หรืออาจจะตลอดไปสำหรับบางคน

สิ่งที่เรียกว่า ‘ระยะของความเศร้าโศก’ เสมือนกลไกที่ทำให้มนุษย์ปรับตัวกับมันได้ หากเราเข้าใจกลไกนี้ อาจช่วยให้เราสามารถรับมือได้ หรือพร้อมที่จะเข้าใจคนที่ประสบกับความเศร้าโศกจากการสูญเสียได้ ระยะเวลาของความเศร้าโศก มีการเริ่มต้นและสิ้นสุดขึ้นกับตัวบุคคลนั้น ไม่ได้มีช่วงเวลาที่แน่ชัด โดยกลไกนี้ แบ่งออกเป็น 7 ระยะของด้วยกัน ได้แก่ 

  1. ระยะช็อก เป็นกลไกป้องกันผ่านข่าวร้ายที่ได้รับ 
  2. ระยะปฏิเสธ เป็นการต่อต้านกับความจริงที่เกิดขึ้นจากการสูญเสีย 
  3. ระยะโกรธ เป็นการกล่าวโทษต่อสิ่งรอบตัวหรือตัวเองที่ทำให้เกิดการสูญเสีย 
  4. ระยะต่อรอง สามารถเกิดขึ้นในช่วงไหนก็ได้ เป็นการต่อรอง เพื่อคาดหวังสิ่งที่สูญเสียให้กลับมา 
  5. ระยะซึมเศร้า เป็นระยะที่สภาพจิตใจเริ่มยอมรับ นำไปสู่การเกิดความว่างเปล่า และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ในระยะนี้จำเป็นต้องเข้าถึงการได้รับคำปรึกษาหรือการรักษาทางการแพทย์ และทำให้นำไปสู่ระยะถัดไป 
  6. ระยะทดสอบ เป็นการหาวิธีการหรือกระบวนการที่จะทำให้หลุดพ้นจากการซึมเศร้า ซึ่งจะนำไประยะสุดท้าย
  7. ระยะการยอมรับ เป็นการยอมรับความจริงที่ว่า การสูญเสียนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว พร้อมปรับตัวกับมัน และอาจทำให้เกิดสิ่งใหม่ในชีวิตขึ้นมา

เมื่อยอมรับหรือปรับตัวได้กับความสูญเสีย การเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตเราดำเนินต่อได้ จากบทความของ Lucy Hone ในชื่อ Learning to Leave in a World Without a Loved One ได้ให้คำแนะนำในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเศร้าโศก 4 วิธี ดังนี้

  • ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังประสบ โดยพื้นฐานแล้วการเข้าใจระยะของความเสียใจทั้ง 7 ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการรับรู้ถึงการมีอยู่ของกลไกนี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วแต่ละบุคคลมีประสบการณ์การพบเจอความเศร้าโศกที่แตกต่างกัน หรือเรียกว่าเป็นปัจเจก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ‘การแยกแยะ’ ความเศร้าโศกกับความบอบช้ำทางจิตใจ อีกทั้งสองสิ่งนี้มีการดูแลที่แตกต่างกัน
  • สนทนาถึงความเศร้า เป็นการพูดคุยกับบุคคลที่ไว้ใจ ซึ่งมีกฎเกณฑ์ว่า ต้องเป็นการพูดคุยที่ทำให้รู้สึก ‘อิสระและปลอดภัย’ รวมถึง ‘ปราศจาก’ การตัดสินและขัดจังหวะ
  • สิ่งที่ได้รับหรือเรียนรู้จากผู้ล่วงลับ เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เราได้อะไรจากผู้ล่วงลับ’ มีอะไรหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไป ผ่านรูปแบบคำถามที่ว่า ผู้ล่วงลับได้สอนอะไรกับชีวิตเมื่อเขาจากไป ? สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีเขาอยู่ในชีวิต ? หรือการใช้ชีวิตในตอนนี้แตกต่างออกไปอย่างไร หรือ จากช่วงที่เขาอยู่และหลังจากเขาตาย ?
  • ระลึกว่าคงอยู่ในชีวิต สิ่งนี้เปรียบเสมือน ‘การประคองความทรงจำ’ ว่าสิ่งนั้นหรือกิจกรรมนั้น เคยมีเขาเป็นส่วนหนึ่ง เช่น พิธีการรำลึกถึงผู้ล่วงลับ การฟังเพลงโปรด การทำอาหารที่เขาชื่นชอบ หรือการแต่งตัวในแบบฉบับบที่เขาชอบ 

เมื่อผู้ล่วงลับจากไป สิ่งที่ยังคงอยู่คือ ‘คนเป็น’ ไม่ผิดหากคนเป็นจะเศร้าโศก กล่าวโทษสิ่งต่าง ๆ หรือย้อนนึกคิดไปว่า “ถ้าวันนั้น ฉันไม่ทำอย่างนั้น ถ้าวันนั้น ฉันทำอย่างนี้” แต่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเผชิญกับการสูญเสียคือ การพร้อมเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และมีสติอยู่เสมอ หวังว่าใครที่กำลังเผชิญกับการสูญเสียไม่ว่าจะคนรัก คนในครอบครัว หรือสิ่งที่รักที่สุด ‘ขอให้คุณพบกับความเสียใจที่เข้าใจแล้ว และพร้อมเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

ชมเรื่องราว ‘วีเจจ๋า’ (ในวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay 

 

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รายการ Made My Dayรายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุดวีเจจ๋าณัฐฐาวีรนุช ทองมีการสูญเสียความเศร้าโศก
บุรพัชร์ สุขเนียม
ผู้เขียน: บุรพัชร์ สุขเนียม

Content Creator Online สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา “เต็มที่ ปล่อยใจ ไปให้สุด” รักการเดินทาง คลั่งไคล้รถไฟ ฟีเวอร์ K-POP

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด