จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย ซึ่งเป็นผู้นำประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เจ้าของคำพูด “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
จากประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยจะพบว่า มีการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายทหารหลายท่าน นายทหารที่มีบทบาททางการเมืองและมีความสำคัญต่อการเมืองของไทยอีกท่านหนึ่งก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทย ที่ถูกขนานนามว่า “สุดยอดเผด็จการ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ” โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จนกระทั่งประมาณกลางปี 2505 จอมพลสฤษดิ์เริ่มเจ็บป่วยเป็นระยะ ๆ และวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 ได้ถึงแก่อสัญกรรม ถือว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สายเลือดอีสาน
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ เนื่องจากมารดาเป็นชาวอำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันเป็นจังหวัด) จังหวัดนครพนม และเคยพาบุตรชายไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครพนม ถึงถือได้ว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีสายเลือดของชาวอีสาน
จอมพลสฤษดิ์ (ขณะดำรงยศพันเอก) สมรสกับคุณหญิงนวลจันทร์ ธนะรัชต์ และต่อมาได้สมรสใหม่กับคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ (ชลทรัพย์) ธิดาของนาวาโท พระศรการวิจิตร ร.น. และนางประเทียบ ชลทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นเจ้าภาพ
การศึกษาและการรับราชการ
เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นได้เข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม เมื่ออายุเพียง 9 ขวบ โดยสำเร็จการศึกษาขณะมีอายุ 21 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 ได้รับยศร้อยตรีประจำการที่กองทัพบกที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
ในปี พ.ศ. 2476 ขณะติดยศร้อยตรี ได้เกิด “กบฏบวรเดช” นำโดยพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับบัญชาหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล ที่มีพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา หลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะได้รับพระราชทานยศร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปี คือในปี พ.ศ. 2478 ก็เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ในปี พ.ศ. 2484 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมในสงครามมหาเอเชียบูรพาในขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 มียศเป็นพันตรี และได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ จนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488 จึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นคนแรก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง โดยก่อนหน้านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2487 อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เริ่มเสื่อมถอยลง หลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับเติบโตขึ้นโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงของขั้วการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยความเคารพเลื่อมใสที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นขุนพลคู่ใจตั้งแต่นั้นมา
ทำให้ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทายยศ พลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อ คือ การเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวง เมื่อปีเดียวกันหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็น พลโท ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้ครองตำแหน่งรองผู้บัญชากรทหารบก ครองยศ พลเอก
ในวันที่ 23 มิถุนายน 2497 พลเอกสฤษดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานยศ “จอมพล” ในวันที่ 1 มกราคม 2499 และในวันที่ 27 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นคนแรก
ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือและจอมพลอากาศ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2502 และ 9 กันยายน ปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ
พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ
10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วันก็ลาออก สาเหตุของการลาออกจากตำแหน่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นเกี่ยวโยงย้อนหลังมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” เป็นการเลือกตั้งที่ทุจริต มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า “ผู้กว้างขวาง” ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษา ประชาชนนับหมื่น นับแสนคน ซึ่งเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจคู่บารมี ผู้สถาปนารัฐตำรวจทรงอำนาจ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลามเกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ และช่วงนี้เองเป็นช่วงที่สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า “วีรบุรุษมัฆวานฯ”
วันที่ 13 ก.ย. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหาร ยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจาก จอมพล ป. ว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุม โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
โค่นล้ม “จอมพล ป.”
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ผู้คนนับแสนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใด ๆ ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม และในคืนนี้เอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ
หลังยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. แล้ว จอมพลสฤษดิ์ เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐบาลพจน์ สารสิน จัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลโทถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2501 แต่ต่อมา ได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้นในรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทถนอม กิตติขจร ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ ได้ ‘จอมพลสฤษดิ์’ จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศ พลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง จากนั้นต่อมาอีกประมาณ 3 เดือนเศษ จอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2502
ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
ในช่วงการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” นโยบายของจอมพลสฤษดิ์ ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่น,กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล, กฎหมายปรามการค้าประเวณี ตลอดจนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504–2509) มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”
นอกจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเป็นผู้รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ฯลฯ
เพราะตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่งได้ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันที หลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ เครื่องมือสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการปกครองประเทศ คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งบทบัญญัติ 20 มาตรา โดยมาตราที่ 17 ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งลงโทษได้อย่างกว้างขวางและรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลยุติธรรม
การใช้มาตราที่ 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ได้ส่งผลดีต่อสังคมไทย คือ การใช้อำนาจที่เฉียบขาดดังกล่าว ทำให้อาชญากรรมลดลง โดยมีการกวาดล้างนักเลง อันธพาล ผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ทำให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังเป็นการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลเสียแล้ว พบว่า การนำมาตรา 17 มาใช้เพื่อกวาดล้างทำลายศัตรูทางการเมือง เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ไม่ให้สามารถตรวจสอบกลุ่มผู้กุมอำนาจการปกครอง ตลอดจนการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยภาพรวม
เผด็จการ อำนาจเบ็ดเสร็จ
จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ใช้ รัฐธรรมนูญมาตรา 17 เพื่อปราบปรามปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าคนสำคัญหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นผู้ออก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้นำชาวนาในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่นำมาซึ่งกรณี "ถีบลงเขา เผาลงถังแดง" อันลือลั่นทั่วทุกพื้นที่ในชนบท และเป็นผู้สถาปนา “ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร”
ซึ่งนักประวัติศาสตร์ทางการเมืองถือว่าเป็นสมัยเผด็จการ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 หรือฉบับที่ 7 สามารถใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติบริหารและตุลาการได้เอง รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์โดยใช้ข้อความว่า “คณะปฏิวัติและรัฐบาลนี้” ควบคู่กันไป และได้ใช้มาตรา 17 แทรกแซงอำนาจทางตุลาการ โดยสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาในหลายคดี เช่น คดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และบ่อนทำลายประเทศชาติ คดีวางเพลิง คดียาเสพติด รวมทั้งคดี “ผีบุญ” หรือผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ได้แก่ นายศิลา วงศ์สิน หรือลาดละคร เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยได้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศกัมพูชา ในกรณีประสาทพระวิหาร ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนชาวไทยคนละ 1 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลโลก
หลังจากมีคำพิพากษาของศาลโลกออกมา จอมพลสฤษดิ์ ออกแถลงการณ์แก่ประชาชนชาวไทยด้วยตนเองผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มีใจความตอนหนึ่งว่า “ รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ไม่ได้เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลก ทั้งในข้อเท็จจริง กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม แต่ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ ต้องยอมให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร ตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ แต่รัฐบาลขอตั้งประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายภาคหน้า ให้กรรมสิทธิ์นี้กลับคืนมาในโอกาสอันสมควร”
ปิดตำนาน “จอมพลผ้าขาวม้าแดง”
วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2506 สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงข่าวอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ว่า มีอาการไข้และกระสับกระส่ายอยู่ตลอดทั้งคืน คณะแพทย์ทั้งหมดได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขภาวะการแทรกซ้อน แต่อาการของ จอมพลสฤษดิ์ก็ยังทรุดลง โดยมีอาการไข้ หัวใจทำงานอ่อนลง ในวันที่ 8 ธันวาคม สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์อีกครั้ง โดยแพทย์ชี้แจงว่าเกิดอาการแทรกซ้อนทางสมองเพิ่มเติม
นอกจากโรคทางไต ทางปอด และทางหัวใจที่มีอยู่แล้ว ยังมีอาการไข้ ส่วนชีพจร ความดันโลหิตและการหายใจยังอยู่ในสภาพดี อาการทางหัวใจยังคงเดิม ปัสสาวะขับถ่ายได้ดี ซึ่งแพทย์จะยังคงดำเนินการรักษาอย่างเต็มที่และพยายามอย่างดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลงข่าว อาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ก็ยังคงไม่ดีขึ้น ในระยะสุดท้ายของอาการป่วยนั้น หัวใจทำงานอ่อนลงโดยลำดับ ความดันโลหิตลดลงและอ่อนกำลังลงตลอดเวลา
จนกระทั่ง เวลา 17.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เข้ารับการรักษาพยาบาลครบ 10 วัน จอมพลสฤษดิ์ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ภายหลังจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้ 36 ชั่วโมง จอมพลสฤษดิ์สิริอายุรวม 55 ปี และรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน 28 วัน เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนเดียวที่ถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่ง
หลังจากนั้น สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงข่าวฉบับที่ 11 ในตอนค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 โดยมีใจความว่า “สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ขอแถลงให้เพื่อนร่วมชาติและมิตรผู้หวังดีต่อประชาชาติไทยว่า บัดนี้ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ถึงแก่อสัญกรรมเสียแล้วในวันนี้เวลา 17.00 น. ดังรายงานของคณะแพทย์ต่อไปนี้ นายกรัฐมนตรีได้ถึงแก่อสัญกรรมวันนี้เวลา 17.00 น. เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง โดยโลหิตไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากหัวใจทำงานอ่อนลงและความดันโลหิตลดลงอีกด้วย การป่วยครั้งสุดท้ายเริ่มมาประมาณเดือนที่แล้ว ต่อมาโรคไตและโรคหัวใจได้แทรกซ้อนโรคตับ ซึ่งมีอยู่ก่อนตามที่ได้แถลงการณ์ในไว้ฉบับก่อน ๆ นั้น ภายหลังปรากฎว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น หากเพราะภาวะแทรกซ้อนทางสมองซึ่งเกิดโดยกระทันหันเมื่อประมาณ 36 ชั่วโมงมานี้ จึงทำให้ ฯพณฯ อ่อนกำลังลงจนถึงที่สุด...”
จอมพลผ้าขาวม้าแดง กับ วิมานสีชมพู
ภายหลังการจากไปของจอมพลสฤษดิ์ ก็ถูกเปิดโปงเรื่องมี “อนุภรรยา” จำนวนมาก ใช้บ้านพักหลังกองพลที่ 1 เป็น “วิมานสีชมพู” สวนทางกับภาพลักษณ์ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์มีอำนาจคือ จอมพลผู้ทำงานหนัก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม เรื่องราวกลับตาลปัตร กลายเป็นว่า จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน กลับมีความสุขใน “วิมานสีชมพู”
เรื่องจริงจากปากของผู้หญิงและคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ที่มักจะให้ข้อมูลตรงกันว่า ฉายา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" เกิดจากที่ เวลาก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง มักจะใช้ "ผ้าขาวม้าแดง" คาดเอวแล้วเริ่มมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงนั้น กลายเป็นคำโด่งดังและเป็นฉายาของ จอมพลสฤษดิ์ ที่ถูกพูดติดปาก ติดหู มาจนทุกวันนี้
เพียงหนึ่งเดือนหลังการจากไปของ “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” เหล่าทายาทก็เปิดศึกแก่งแย่งทรัพย์สินมรดกมหาศาล โดยบุตรทั้ง 7 ของจอมพลสฤษดิ์ที่เกิดจากอดีตภรรยา ได้ฟ้องร้องท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยาของจอมพลสฤษดิ์ โดยอ้างว่ามีเงินจำนวนถึง 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายไม่สามารถประมาณค่าได้
ศึกชิงมรดกฉาว
เรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการแก่งแย่งทรัพย์สินมรดกจำนวนมหาศาลของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ จึงทำให้จอมพลถนอม กิตติขจรต้องแทรกแซงและสวบสวนเบื้องหลังความมั่งคั่งของจอมพลสฤษดิ์ในคดีฟ้องร้องแย่งชิงมรดกมูลค่าพันล้าน ระหว่างท่านผู้หญิงวิจิตราภรรยาคนสุดท้ายของจอมพลสฤษดิ์กับบรรดาทายาท ที่เกิดจากการสมรสครั้งก่อน ๆ ของจอมพลสฤษดิ์
ในที่สุดจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ การสอบสวนคดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2507 จอมพลถนอมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ขึ้น ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินฯ ได้ทำรายงานสรุปผลการสอบสวนไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีจอมพลถนอมเป็นประธาน คณะกรรมการกฤษฎีกาลงมติด้วยคะแนนเสียง 25 ต่อ 22 จากทั้งหมด 48 เสียง ให้ทำการยึดทรัพย์อันเป็นมรดกของจอมพลสฤษดิ์ทั้งหมด
ยึดทรัพย์สินมรดกจอมพลสฤษดิ์
วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีจึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ออกคำสั่งยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยให้ทรัพย์สินในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตรา ผู้เป็นภรรยาตกเป็นของรัฐ ซึ่งในคำสั่งมีสาระสำคัญ คือ “โดยที่ปรากฎว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหนเป็นจำนวนมากมาย เท่าที่ปรากฏในขณะนี้มีมูลค่าถึงเงิน 435,704,115.89 บาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แล้วเป็นเงินที่รัฐต้องได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้น 574,328,078.26 บาท
การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความั่นคงของราชอาณาจักร และโดยที่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ เป็นภริยาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมรับประโยชน์จากการนี้ด้วย อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของรัฐทันทีในวันที่ออกคำสั่งนี้”
ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2507 จอมพลถนอม กิตติขจรได้ออกคำสั่งยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นฉบับที่ 2 โดยเพิ่มยอดเงินที่จะต้องยึดเข้าเป็นของรัฐจำนวน 30,223,198.36 บาท ดังนั้นเมื่อรวมยอดเงินที่รัฐบาลจอมพลถนอมสามารถยึดมรดกของ จอมพลสฤษดิ์เข้าเป็นของรัฐทั้งหมด มีจำนวนทั้งสิ้น 604,551,276.62 บาท
ซึ่งเป็นเรื่องที่ จอมพลถนอมต้องกระทำเพราะไม่สามารถฝืนมติมหาชนได้ ดังนั้นการใช้มาตรา 17 สั่งยึดทรัพย์สินมรดกของจอมพลสฤษดิ์ จึงเป็นทางเดียวที่จอมพลถนอมจะสามารถดำรงอำนาจต่อไปได้โดยชอบธรรม
อ้างอิง
- กองทัพบก. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนะการพิมพ์ จำกัด, 2507.
- สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2549
- สัมฤทธิ์ มีวงศ์อุโฆษ. บันทึกประวัติศาสตร์การยึดทรัพย์สินนักการเมืองและผู้มีอำนาจทางการปกครองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: บริษัท สยามบรรณ จำกัด.
-บัญชร ชวาลศิลป์. The Last Quarter 2:2475-2500 .กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2563
- บัญชร ชวาลศิลป์. สฤษดิ์ - เผ่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด .กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2563
- ศรีพนม สิงห์ทอง, “6 จอมพลไทยยุคระบอบประชาธิปไตย”. กรุงเทพฯ: มติชน.
- วีรชาติ ชุ่มสนิท, “24 นายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์ พับบิซซิ่ง จำกัด, 2549,
- สถาบันพระปกเกล้า : จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์