จากสถาณการณ์ในเกาหลีใต้ของ "ยุน-ซอก-ยอล" ผู้นำเกาหลีใต้ที่เคยถูกยกย่องในฐานะอัยการสูงสุด ถึงวิกฤตการประกาศ "กฎอัยการศึก" ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปี สะท้อนการใช้อำนาจและความท้าทายในฐานะผู้นำที่ขาดความไว้วางใจจากสังคม พร้อมทำความเข้าใจความหมาย วัตถุประสงค์ และผลกระทบของ "กฎอัยการศึก" จากอดีตถึงปัจจุบันในบริบทต่างๆ ทั่วโลก
ภูมิหลัง "ยุน-ซอก-ยอล" กับการก้าวสู่การเมือง
ยุน-ซอก-ยอล มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ จากลูกของศาสตราจารย์ด้านสถิติที่มหาวิทยาลัยยอนเซ สู่การเป็นผู้นำประเทศเกาหลีใต้ เขาจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และเริ่มอาชีพอัยการในปี 2537
ตลอดอาชีพอัยการกว่า 27 ปี เขาสร้างชื่อในฐานะผู้พิทักษ์ความยุติธรรมที่กล้าหาญ โดยเฉพาะการสอบสวนคดีใหญ่อย่างการทุจริตของอดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย และบริษัทแซมซุง จนได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดในสมัยประธานาธิบดีมุน แจ-อิน
หลังลาออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุดในปี 2564 เขาผันตัวเข้าสู่การเมืองกับพรรคพลังประชาชน และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2565 ด้วยคะแนนที่สูสีมาก นับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากผู้พิทักษ์กฎหมายสู่ผู้นำประเทศอย่างน่าสนใจ
ความขัดแย้งทางการเมืองและการใช้อำนาจ
- ยุน ซอก-ยอลใช้มาตรการเข้มงวดกับสื่อและผู้วิจารณ์ภายใต้ข้ออ้างการปราบปราม "ข่าวปลอม" นำไปสู่การตรวจค้นสำนักงานสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
- เขาถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมและพยายามปกป้องภรรยาจากการสอบสวนกรณีอื้อฉาวต่างๆ
วิกฤตการณ์ “กฎอัยการศึก”
- การประกาศ "กฎอัยการศึก" เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเกาหลีใต้ สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ
- ฝ่ายค้านประณามการประกาศ "กฎอัยการศึก" ว่าเป็น "การรัฐประหารโดยพฤตินัย" นำไปสู่การลงมติยกเลิกโดยรัฐสภาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการลงมติถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดีของ ยุน ซอก-ยอล
5 ข้อน่ารู้ “กฎอัยการศึก”
1.กฎอัยการศึก ความหมายคืออะไร ?
กฎอัยการศึก หรือ Martial Law เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อความมั่นคงในบ้านเมือง กฎอัยการศึกมักกำหนดเป็นการชั่วคราว เมื่อรัฐบาลหรือข้าราชการพลเรือนไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ที่ออกประกาศกฎอัยการศึก มักเป็นนายทหารยศสูงสุด หรือได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการทหาร หรือเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยนัยสำคัญคือ ทำการถอดอำนาจ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการของรัฐบาล
2. กฎอัยการศึก มักจะประกาศใช้ในกรณีใด ?
ลักษณะการออกประกาศใช้กฎอัยการศึก มักเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ
- ใช้เพื่อควบคุมสาธารณะ
- ใช้เพื่อควบคุมกรณีความขัดแย้ง อาทิ สงครามกลางเมือง
- ใช้เพื่อปราบการก่อกบฏ
- ใช้เพื่อปราบปรามคู่แข่งทางการเมือง
- ใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่
3. กฎอัยการศึก มีผลทางปฏิบัติอย่างไร ?
นอกจากการถอดอำนาจทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการของรัฐบาล กฎอัยการศึกยังมีผลในทางปฏิบัติ เช่น
- การค้น เจ้าหน้าที่สามารถค้นสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งของต้องสงสัย
- การตรวจ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจข่าวสาร จดหมาย หรือสิ่งอื่นสิ่งใดที่จัดส่ง
- การห้าม เช่น ห้ามจำหน่าย จ่ายหรือแจกหนังสือ หนังสือพิมพ์ ห้ามโฆษณา ห้ามออกจากเคหะสถานระหว่างเวลาที่กำหนด หรือห้ามใช้ทางสาธารณะ (บางกรณี)
- การกักตัว กรณีมีเหตุสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรืออาจทำการฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึก
4. กฎอัยการศึกที่เคยถูกประกาศใช้ในโลก
ไม่มีการระบุว่า กฎอัยการศึก ได้รับการประกาศใช้ครั้งแรกในโลกเมื่อใด แต่เคยมีการบันทึกเรื่องราวของการนำ “กฎอัยการศึก” มาใช้หลายเหตุการณ์ อาทิ การประกาศใช้กฎอัยการศึกในเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในประเทศจีน พ.ศ. 2532 การปราบการก่อการกบฏ ในวิกฤตการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 ในประเทศแคนาดา หรือการใช้กฎอัยการศึกเพื่อการบูรณะประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ทั้งนี้มีประเทศในโลกกว่า 31 ประเทศ ที่เคยประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยประเทศที่ได้ชื่อว่า มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุด คือ ซีเรีย เกิดขึ้นระหว่างปี 1963 – 2011 กินระยะเวลากว่า 48 ปี
5. กฎอัยการศึกในประเทศไทย
กฎอัยการศึกของไทย ได้รับการตราขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 เรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 ต่อมาใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรากฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้แทน เรียกว่า พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2457
จากนั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติม คือในปี พ.ศ. 2485 ปี พ.ศ. 2487 ปี พ.ศ. 2488 และปี พ.ศ. 2502 กระทั่งยังคงมีผลใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยผ่านการใช้กฎอัยการศึก นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาแล้วจำนวนกว่า 15 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ประกาศใช้เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้น
หลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกของ “ยุน-ซอก-ยอล” ย่อมส่งผลกระทบในหลายมิติต่อสังคม ทั้งในด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัด โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในด้านเศรษฐกิจ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการท่องเที่ยว เนื่องจากภาพลักษณ์ความไม่มั่นคงทางการเมือง
ทั้งทางสังคมและจิตวิทยานั้น ประชาชนเองอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยและวิตกกังวลจากการที่อำนาจทหารมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ขณะที่ด้านการบริหารประเทศ แม้จะช่วยให้รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็วขึ้น แต่ก็อาจส่งผลต่อหลักนิติธรรมและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ แม้ท้ายที่สุดจะภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประกาศกฎอัยการศึก รัฐสภาเกาหลีใต้ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 190 คนจากจำนวนทั้งหมด 300 คน ลงมติเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประธานาธิบดีประกาศใช้ ถือเป็นการคัดค้านเป็นเอกฉันท์
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาและขอบเขตการบังคับใช้ รวมถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ภายใต้กฎอัยการศึก การคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วและการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความสงบสุขของสังคม
อ้างอิง
- พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 สถาบันพระปกเกล้า
- Office of the President of the Republic of Korea