ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | จัณฑีครห์ : ตะวันตกพบตะวันออก อุดมคติปะทะความจริง


Lifestyle

3 ธ.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | จัณฑีครห์ : ตะวันตกพบตะวันออก อุดมคติปะทะความจริง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1991

Secret Story | จัณฑีครห์ : ตะวันตกพบตะวันออก อุดมคติปะทะความจริง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ผู้คนในชุดส่าหรีสีสดเดินไปมา เด็ก ๆ ปั่นจักรยานบนถนนเปื้อนฝุ่น และเบื้องหลังคืออาคารคอนกรีตมหึมาที่ดูราวกับหลุดมาจากโลกอื่น... ภาพที่ทั้งดูสวยงามและขัดแย้งประหลาดตาในเวลาเดียวกันภาพนี้นี่แหละที่ทำให้คนทำหนังสารคดีชาวสวิสชื่อ คารีน บูเชอร์ บอกกับตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องเดินทางไปพิสูจน์ “เมืองจัณฑีครห์” ในประเทศอินเดียด้วยตาของเธอ

ว่าแต่จัณฑีครห์พิเศษตรงไหน ? เรื่องราวของเมืองนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1947 หรือราว 77 ปีก่อนนี้เอง เมื่ออินเดียแยกประเทศกับปากีสถานและเมืองลาฮอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของรัฐปัญจาบตกเป็นของปากีสถาน ชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียจึงตัดสินใจทำสิ่งที่หลายคนคิดว่าบ้าบิ่น นั่นคือการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่จากศูนย์ เพื่อให้มันเป็นสัญลักษณ์ของ “อินเดียที่ไม่ถูกพันธนาการด้วยประเพณี” 

และบุคคลที่ได้รับเลือกให้มาออกแบบความฝันอันยิ่งใหญ่นี้ก็คือ เลอกอร์บูซีเย สถาปนิกชื่อก้องโลกชาวสวิส-ฝรั่งเศส

แม้เลอกอร์บูซีเยจะเป็นชาวตะวันตก แต่เขากลับมีวิสัยทัศน์ใกล้เคียงกับเนห์รูอย่างน่าทึ่ง ทั้งคู่ต้องการให้เมืองนี้เป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ของแนวคิดประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ โดยสถาปนิกผู้นี้ใช้หลัก "มาตราส่วนมนุษย์" เชื่อว่าทุกคนควรมีพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน และพื้นที่พักผ่อนที่เหมาะสม เขาแบ่งเมืองเป็นเขตต่าง ๆ ที่มีทั้งย่านบ้านเรือน สถาบันสาธารณะ สวนสาธารณะ และเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล แนวคิดนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเนห์รูที่ต้องการให้อินเดียหลุดพ้นจากระบบวรรณะและความเหลื่อมล้ำในสังคม เมืองจึงถูกออกแบบให้มีพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเท และมีแสงสว่างเพียงพอ ซึ่งตรงข้ามกับความแออัดของสลัมในเมืองเก่าอย่างสิ้นเชิง

มีแนวคิดยิ่งใหญ่น่าตะลึงมากมายที่เลอกอร์บูซีเยรังสรรค์ขึ้นในจัณฑีครห์ และแน่นอนว่าหลายอย่างในจำนวนนั้นก็กระตุ้นให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อมีผู้คนหลากหลายเดินทางเข้าไปอาศัยและใช้พื้นที่จริง ๆ แล้ว แนวคิดเหล่านั้น “ได้ผลจริง” สมตามที่ถูกจินตนาการไว้ไหม บูเชอร์ กับ โทมัส คาร์เรอร์ ผู้กำกับก็มีคำถามเดียวกันนี้เป็นธงนำของสารคดีเรื่อง The Power of Utopia: Living with Le Corbusier in Chandigarh ซึ่งพวกเขาบอกว่า “ในฐานะคนทำหนัง เราอยากเห็นว่าการวางผังเมืองและวิสัยทัศน์ทางสังคมของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กลายเป็นความจริงอย่างไร และเติบโตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตามกาลเวลา เราสนใจว่าความร่วมมือระหว่างตะวันออกกับตะวันตกและพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ในการออกแบบนั้นส่งผลต่อชีวิตทางวัฒนธรรมของเมืองอย่างไร และในช่วงเวลาที่โลกกำลังปั่นป่วนแบบนี้ เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอุดมคติของเมืองจัณฑีครห์”

สองผู้กำกับใช้เวลาถ่ายทำ 8 เดือนเพื่อให้ตัวเองและคนดูได้ "จมดิ่งไปกับวัฒนธรรมและความเป็นจริงที่ไม่คุ้นเคย" โดยท่องไปในพื้นที่สำคัญของเมืองและรับฟังเรื่องราวจากประชาชนที่เป็น “ผู้ใช้เมือง” ตัวจริง ทั้งผู้อยู่อาศัยรุ่นแรกที่ย้อนความทรงจำถึงวันแรก ๆ ของเมือง ผู้อำนวยการศูนย์ Le Corbusier ศิลปิน นักแสดง และสถาปนิกที่มาตั้งรกรากที่นี่ ซึ่งเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตในเมืองที่ถูกออกแบบมาทุกรายละเอียด ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงผังเมือง (โดยจุดที่น่าทึ่งคือโครงสร้างเหล่านี้แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยจนถึงทุกวันนี้ มีก็แค่ร่องรอยของกาลเวลาที่ทิ้งไว้บนผิวคอนกรีต)

ความน่าสนใจของ The Power of Utopia อยู่ตรงที่มันไม่ได้มุ่งตัดสินว่าจัณฑีครห์เป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่เน้นการชวนเราไปสำรวจความหมายของ "เมืองในฝัน" กับ "เมืองที่มีชีวิต" หนึ่งในข้อมูลน่าขบคิดที่หนังนำเสนอก็คือ เลอกอร์บูซีเยเคยวาดฝันให้ที่นี่เป็นเมืองที่กลมกลืนกับธรรมชาติและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แต่ครั้นเวลาผ่านไป เขตต่าง ๆ ในเมืองกลับกลายเป็นเครื่องแบ่งชนชั้น แนวเขตสีเขียวที่ล้อมรอบทำให้เมืองขยายตัวไม่ได้ ค่าครองชีพพุ่งทะยาน และอาคารคอนกรีตที่เคยดูล้ำสมัยก็เริ่มทรุดโทรมจากแดดเปรี้ยงและฝนกระหน่ำ

ในแง่นี้ สารคดีจึงไม่ได้ต้องการให้ภาพเลอกอร์บูซีเยในฐานะวีรบุรุษผู้สร้างเมือง แต่เราจะรับรู้ได้ว่าเขาเป็นดัง "จิตวิญญาณ" ที่สิงสถิตอยู่ในทุกแห่งหน และตัวละครหลักที่แท้จริงก็คือชาวเมืองจัณฑีครห์เองที่ได้นำแนวคิดเหล่านั้นจากปรมาจารย์ต่างชาติมาปรับให้เป็นของตัวเองและใช้ชีวิตอยู่กับมันทั้งในด้านที่ดีและด้านที่มีปัญหา

หนังทำให้เราต้องตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า เราจะสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไร ความทันสมัยกับวิถีชีวิตดั้งเดิมต้องขัดแย้งกันเสมอไปหรือเปล่า และที่น่าคิดที่สุดคือ อุดมคติแบบไหนกันที่จะทำให้ความฝันกับความจริงเดินมาบรรจบกันได้

▶ ติดตามสารคดี The Power of Utopia 70 ปีหลังก่อตั้ง "เมืองจัณฑีครห์" เราจะเดินทางไปสำรวจว่าที่นี่ยังเป็น "เมืองใหม่ในฝัน" ที่ทันสมัย เคารพสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สมดังเจตนาเมื่อแรกก่อตั้งอยู่ไหม ?

รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

IndiaอินเดียVIPAVIPAdotMeสารคดี VIPADocumentary Documentary Club
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด