เข้าสู่เดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีที่เนืองแน่นไปด้วยวันหยุดและเทศกาลส่งท้ายปี ‘วันพ่อ’ หนึ่งในวันสำคัญของเดือนนี้ ที่ให้ทุกคนหวนรำลึกถึง ‘พ่อ’ ผู้ให้กำเนิดและส่งเสริมเราให้เป็นเราในวันนี้
สัปดาห์นี้รายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด’ ไม่พลาดที่จะนำเสนอสุดยอดคู่พ่อลูก อย่าง ‘พ่อฟูและน้องเฟียส’ พ่อลูกที่ลุ่มหลงในเสียงของดนตรี รวมถึง ‘พ่อจั๋งและน้องจิณณ์’ พ่อลูกอัจฉริยะสายเขียนโคด เมื่อกล่าวถึงบทบาทในฐานะพ่อ ของพ่อจั๋งและพ่อฟู สิ่งที่น่ายกย่อง คือ การที่พวกเขาเสมือนแรงผลักดันสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบและมีใจรัก มากไปกว่านั้นทั้งคู่ต่างเป็นพ่อมีที่จุดหมาย คือ ‘อยากเห็นลูกมีความสุข ประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่ลูกเลือกเดิน’
หลายคนอาจมองว่า เมื่อผู้ชายหรือเพศชายเป็นพ่อคน อาจขาดความทะนุถนอม ความละเอียดอ่อน และความใส่ใจต่อลูก ที่ไม่เท่าคนเป็นแม่หรือเพศหญิง ?
มุมมองเหล่านี้ถูกจำกัดกรอบผ่านเลนส์ของ ‘ความเป็นชาย (Masculinity)’ ที่กล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่กำหนดบทบาททางเพศ เพื่อให้เพศชายปฏิบัติตนตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมและวัฒนธรรม เช่น การมองว่าผู้ชายเท่ากับการเป็นผู้นำ เป็นผู้ที่พึ่งพาได้ มีความกล้าหาญ มีความว่องไว หรือมีความกล้าได้กล้าเสีย เป็นต้น
เมื่อสิ่งที่เรียกว่าความเป็นชาย ได้กดทับเพศชายให้ต้องแสดงออก เพื่อการยอมรับจากคนรอบตัวหรือสังคมมากขึ้น สิ่งนี้อาจส่งผลให้ผู้ชายมี ‘ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)’ หรือที่เรียกว่า ‘ความเป็นชายแท้’
ความเป็นชายแท้ วลีติดปากในปัจจุบันที่สะท้อนถึงผู้ชายที่ปฏิบัติตนก้าวร้าว และสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม หรือไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมกลุ่มใหญ่ เกิดขึ้นจากกรอบของความเป็นชายที่ไม่สามารถให้ผู้ชายแสดงออกถึงความอ่อนแอของตน ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติตนเชิงการวางอำนาจแก่ผู้ที่ด้อยกว่า เพื่อให้เกิดการยอมรับในความเป็นชายของตนเอง เช่น การใช้ความรุนแรงต่อเพศตรงข้าม การต่อต้านทฤษฎีสตรีนิยม (Feminism) การเลือกปฏิบัติต่อคนที่ไม่ใช่เพศตรงข้าม หรือ การต่อต้านผู้ชายที่ไม่แสดงออกเหมือนตนเอง
จากบทความ National Geographic ฉบับภาษาไทย มีข้อความที่ทำให้พบว่า การเป็นพ่อคน ได้ส่ง ‘ผลกระทบเชิงบวก’ ต่อผู้ชายในด้านของฮอร์โมน อารมณ์และความรู้สึกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testpsterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการผสมพันธุ์ เนื่องจากผู้ชายกลับใช้เวลาไปกับการดูแลลูกและคู่ครองของตน
ขณะเดียวกันการเลี้ยงลูกของคุณพ่อ ยังเพิ่มฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) นั่นหมายถึง การมีความสุขที่เพิ่มขึ้น มากไปกว่านั้นยังพบว่า การที่ผู้ชายได้เลี้ยงดูเด็กหรือใกล้กับเด็ก ส่งผลให้มีแนวโน้มเกิดการทะเลาะน้อยลง เราอาจอนุมานได้ว่า การที่ผู้ชายเป็นพ่อคนหรือได้เลี้ยงดูเด็ก ช่วยในเรื่องการควบคุมอารมณ์และจิตใจ และอาจควบคุมผู้ชายคนนั้น ไม่ให้ปฏิบัติตนเป็นชายแท้ได้ด้วย
หลายคนมักนิยามคำว่า พ่อ คือ ‘ผู้ให้และเสียสละ’ แต่บางครั้งพ่อก็อาจเป็น ‘ผู้รับ’ แบบไม่รู้ตัว เพราะการมีลูกสำหรับคนเป็นพ่อ เสมือนได้รับการเรียนรู้ ปรับปรุง รวมถึงพัฒนาชีวิตตนเองไปพร้อมกับการเติบโตของลูก นำไปสู่การเป็น ‘พ่อที่ดี’ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากลูก และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ลูกมีความสุขบนเส้นทางที่ลูกชอบ
รับชมเรื่องราว ‘พ่อฟูกับน้องเฟียส’ (ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 เวลา 21.30 น.) และ ‘พ่อจั๋งกับน้องจิณณ์’ (ในวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay
อ้างอิง