ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Thai PBS On This Day | ธันวาคม 2567


วันสำคัญ

25 พ.ย. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | ธันวาคม 2567

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1931

Thai PBS On This Day | ธันวาคม 2567
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนธันวาคม 2567

1 ธันวาคม : วันดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2405 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 57 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และ เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอก ธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ซึ่งเป็นต้นสกุล “โรจนดิศ”

ทรงเป็นต้นราชสกุล “ดิศกุล” มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” โดยรัชกาลที่ 4 ทรงนำเอานามของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) มาตั้งพระราชทาน เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่าท่านเป็นคนซื่อตรง

ท่านเป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อปี 2505 ในฐานะ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2486 สิริพระชันษา 81 ปี ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันดำรงราชานุภาพ”

1 ธันวาคม : วันเอดส์โลก (World AIDS Day)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันเอดส์โลก (World AIDS Day)” เพื่อสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ รวมถึงการยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก

โดยใช้โบว์แดงเป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงถึงการตระหนักรู้ การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนว่าเอชไอวี หรือ เอดส์ ยังคงอยู่

3 ธันวาคม : วันคนพิการสากล

ในปี 2525 องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันคนพิการสากล (International Day of Persons With Disability)” เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ รับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons)

พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล

3 ธันวาคม 2510 : “ดร. คริสเตียน บาร์นาร์ด” ทำการ “ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ” ของมนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก

“ดร. คริสเตียน บาร์นาร์ด (Dr. Christiaan Barnard)” ได้ทำการ “ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ” ของมนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2510 ที่เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ โดยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับคนไข้วัย 53 ปี ซึ่งหัวใจที่ได้นั้น มาจากหญิงสาววัย 25 ปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การผ่าตัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจกลับเสียชีวิตในอีก 18 วันต่อมา จากโรคแทรกซ้อนและการติดเชื้อในปอด แต่ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญด้านพัฒนาการทางการแพทย์ เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นครั้งแรกของโลก

4 ธันวาคม : วันสิ่งแวดล้อมไทย

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ในการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เสนอ

โดยมุ่งหวังให้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือในการปกป้องและรักษาให้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศคงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

5 ธันวาคม : วันพ่อแห่งชาติ

ในปี 2523 “คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต” นายกสมาคมผู้อาสาสมัคร ช่วยการศึกษาและคัดเลือกพ่อตัวอย่างแห่งชาติ เป็นผู้ริเริ่มให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” โดยถือเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งเปรียบเสมือน “พ่อของแผ่นดิน” เป็นโอกาสในการเทิดพระเกียรติศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ

สัญลักษณ์ของวันพ่อ คือ “ดอกพุทธรักษา” ที่ให้ความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครอง ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น” และสีเหลืองของดอกยังตรงกับสีประจำวันจันทร์ วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งการมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อ เปรียบเสมือนกับการบอกรักและเคารพบูชาพ่อ ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า”)

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ต่อมาในปี 2530 ได้มีการถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ เป็นเวลายาวนานที่สุดในโลก (70 ปี ในปี 2559) เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

5 ธันวาคม : วันชาติ

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีใจความว่า ให้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ตามสมัยนิยมที่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยยึดเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ

ในปี 2503 ประเทศไทยจึงถือเอาวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็น “วันชาติ” นับแต่นั้นเป็นต้นมา แทนวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ใช้ก่อนหน้า

5 ธันวาคม : วันดินโลก (World Soil Day)

ที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็น “วันดินโลก (World Soil Day)” 

เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ เชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินของพระองค์ ในด้านพระวิสัยทัศน์ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน จากความสนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

“วันดินโลก (World Soil Day)” เป็นวันที่วงการปฐพีวิทยานานาชาติจะทำการรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม รวมถึงความจำเป็นต่อการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

5 ธันวาคม 2334 : “โมซาร์ต” คีตกวีเอกของโลก เสียชีวิต

“โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart)” คีตกวีเอกของโลกชาวออสเตรีย เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2299 ที่เมืองซัลสบูร์ก (Salzbourg) ประเทศออสเตรีย ในครอบครัวนักดนตรี เขามีประสาทหูที่ยอดเยี่ยม และมีความจำที่แม่นยำ

เขาเริ่มฉายแววอัจฉริยะทางดนตรีตั้งแต่วัยเพียง 3 ขวบ เริ่มเรียนไวโอลินและออร์แกนตอน 5 ขวบ ต่อมาในวัย 6 ขวบ เขาสามารถแต่งเพลงชิ้นแรกได้แล้ว จากนั้นเขาได้ออกเดินทางตระเวนเล่นดนตรีกับพ่อไปทั่วยุโรป ทำให้เขาได้พบกับนักดนตรีเก่ง ๆ หลายคน

ตลอดชีวิตเขาประพันธ์เพลงคลาสสิคไว้กว่า 700 เพลง ทั้งเพลงสวด โอเปร่า ซิมโฟนี่ คอนแชร์โต้ และแชมเบอร์มิวสิค เขาเสียชีวิตในขณะกำลังประพันธ์เพลง “Requiem mass in D minor”

“โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2334 เมื่อมีอายุได้ 35 ปี

7 ธันวาคม : วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และเป็นพระราชนัดดา (หลาน) พระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณกุศลผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และด้านกฎหมาย ซึ่งทรงมีความเชี่ยวชาญ ทั้งยังได้รับขนานพระนามจากสื่อไทยและต่างประเทศ ในฐานะ “เจ้าหญิงนักกฎหมาย” ทรงเข้าทำงานที่คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ตลอดจนปฏิบัติพระกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณในการเสด็จแทนพระองค์อยู่โดยเสมอมา

7 ธันวาคม 2484 : “กามิกาเซ่” บุกโจมตี “เพิร์ล ฮาร์เบอร์”

ในเช้าของวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ได้มีการโจมตีฐานทัพเรือที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกา “เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)” รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ด้วยการจู่โจมของกองกำลังพิเศษทางอากาศ ฝูงบินรบ “กามิกาเซ่ (Kamikaze)” แห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้กองเรือรบและฝูงบินได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันให้สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

44 เดือนต่อมา กองเรือสหรัฐ ได้จมเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือประจัญบานและเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นที่อยู่ในกองกำลังที่โจมตี “เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)” ได้ทุกลำ ส่วนเมือง “นางาซากิ (長崎市)” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตตอร์ปิโดชนิดพิเศษในภารกิจเดียวกันนี้ ก็ถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งปรมาณูถล่มอย่างราบคาบ ญี่ปุ่นจึงยอมยกธงขาวและลงนามในเอกสารยอมแพ้สงคราม

ทั้งนี้ “กามิกาเซ่ (Kamikaze)” คือปฏิบัติการรบแบบพลีชีพที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นยุทธวิธีรบในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคำว่า “กามิกาเซ่ (神風)” เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีความหมายว่า “สายลมศักดิ์สิทธิ์” หรือ “สายลมแห่งจิตวิญญาณ”

7 ธันวาคม 2538 : “ยานกาลิเลโอ” เดินทางถึงดาวพฤหัสบดี

“ยานกาลิเลโอ (Galileo Space Probe)” ของ “องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration)” หรือ “องค์การนาซา (NASA)” ได้เดินทางถึงดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 หลังจากใช้เวลาเดินทางในอวกาศนานกว่า 6 ปี นับตั้งแต่ส่งจากผิวโลกตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2532 โดยมีภารกิจในการสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี นับเป็นยานสำรวจอวกาศขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 2,222 กิโลกรัม โดยครึ่งหนึ่งของน้ำหนักเป็นเชื้อเพลิง

การเดินทางสู่ดาวพฤหัสบดีของ “ยานกาลิเลโอ (Galileo Space Probe)” เป็นการเดินทางตามเส้นทางอ้อมและใช้เวลามาก เพราะไม่มีเชื้อเพลิงมากพอที่จะเดินทางจากโลกสู่ดาวพฤหัสบดีโดยตรง จึงต้องอาศัยแรงดึงดูดของดาวศุกร์และดาวเคราะห์โลก ให้เป็นทั้งตัวดึงและตัวส่งให้เดินทางไปจนถึงดาวพฤหัสบดีได้

นับจากวันที่ “ยานกาลิเลโอ (Galileo Space Probe)” ออกเดินทางจากกระสวยอวกาศ จนดำดิ่งสู่ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี คิดเป็นระยะทาง 4,800 ล้านกิโลเมตร “องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration)” หรือ “องค์การนาซา (NASA)” ได้วางแผนภารกิจไว้เพียง 2 ปี แต่ “ยานกาลิเลโอ (Galileo Space Probe)” สามารถทนรับรังสีที่ปะทุจากดาวพฤหัสบดีได้มากกว่าที่ออกแบบไว้ถึง 4 เท่า ก่อนจะยุติการทำงาน โดยการพุ่งเข้าสู่ดาวพฤหัสบดี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546

8 ธันวาคม 2506 : “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ถึงแก่อสัญกรรม

“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย เจ้าของฉายา “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2451 บ้านปากคลองตลาด พาหุรัด กรุงเทพมหานคร ท่านมีผลงานที่สำคัญหลายเรื่อง ได้แก่ การปรับปรุงการบริหารและการพัฒนาประเทศ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การออกกฏหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฏหมายปราบปรามนักเลง-อันธพาล กฏหมายปรามการค้าประเวณี

ท่านเริ่มเข้าสู่วงการการเมืองในปี 2494 - 2495 ด้วยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมาปี 2500 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปี 2502 เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการทำรัฐประหารรัฐบาลของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” และในปี 2506 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงแก่อสัญกรรม

“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ด้วยโรคโลหิตไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติ และโรคไตกับโรคหัวใจแทรกซ้อน ขณะมีอายุได้ 55 ปี ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง

8 ธันวาคม 2523 : “จอห์น เลนนอน” นักร้องนำ “เดอะบีทเทิลส์” ถูกยิงเสียชีวิต

“จอห์น เลนนอน (John Lennon)” นักร้องนำวง “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” หรือที่แฟนเพลงชาวไทยนิยมเรียกว่า “วงสี่เต่าทอง” เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2483 ที่ Liverpool Maternity Hospital เมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร เขาแต่งงานครั้งแรกกับ “ซินเธีย เลนนอน (Cynthia Lennon)” ในปี 2505 มีบุตรชาย 1 คน คือ “จูเลียน เลนนอน (Julian Lennon)” ต่อมาเขาแต่งงานครั้งที่สองกับ “โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)” และมีบุตรชาย 1 คน คือ “ฌอน เลนนอน (Sean Ono Lennon)”

เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวง “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” และมักจะแต่งเพลงคู่กับ “พอล แมคคาร์ทนีย์ (James Paul McCartney)” เสมอ เพลงของเขาส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความหวัง ประกอบด้วยเมโลดี้ที่เรียบง่าย ไพเราะและสวยงาม แสดงถึงความเป็นคนมองโลกในแง่ดี จนส่งผลให้ “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” โด่งดังจากฝั่งอังกฤษข้ามไปสู่อเมริกา กลายเป็นสัญลักษณ์ของบุปผาชนในยุคศตวรรษที่ 70-80 และบทเพลงมากมายยังคงเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้

“จอห์น เลนนอน (John Lennon)” ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณอพาร์ตเมนต์ของเขาที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ผู้พรากชีวิตของเขาจากโลกนี้คือ “มาร์ก เดวิด แชปแมน (Mark David Chapman)” แฟนเพลงที่คลั่งไคล้เขา โดยตำรวจพบหลักฐานว่าแชปแมนติดยาเสพติด และมีอาการป่วยทางจิต วันที่เขายิง “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” ในมืออีกข้างของเขาถืออัลบั้ม “Double Fantasy” ซึ่งเป็นอัลบั้มล่าสุดของจอห์นกับโยโกะ และที่หน้าปกยังมีลายเซ็นของจอห์น ซึ่งเซ็นให้เขาเมื่อคืนก่อนหน้านั้นอยู่ด้วย

9 ธันวาคม : วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)

องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้ประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)” โดยที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติมีมติเห็นชอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก

9 ธันวาคม : วันเกิดเคโรโระ (Keroro : ケロロ)

“เคโรโระ (Keroro : ケロロ)” หรือ “สิบโทเคโรโระ” เป็นตัวละครในหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “เคโรโระ ขบวนการอ๊บอ๊บป่วนโลก” สร้างโดย “มิเนะ โยชิซากิ (吉崎観音)” นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น

ตามข้อมูลตัวละคร “เคโรโระ (Keroro : ケロロ)” เป็นหนุ่มชาวเคโรน หัวหน้าหน่วยจู่โจมพิเศษระดับสิบโท สังกัดการรุกรานจักรวาล มาจากหมู่ดาวแกรมม่า ดาวเคราะห์ลำดับที่ 58 โดยมีหน้าที่เดินทางมายังโลกนี้เพื่อยึดครอง

แต่ทุกอย่างไม่เหมือนที่คุยกันไว้ เพราะดันถูกพี่น้องฮินาตะจับตัวมาเป็นคนรับใช้ให้ทำงานบ้าน “เคโรโระ (Keroro : ケロロ)” ใช้นามแฝงว่า “K66” ซึ่งเป็นการเล่นคำมาจากคำว่า เคโรโระ (ケロロ) หรือ ろく(โระคุ) ในการนับตัวเลขภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง

10 ธันวาคม : วันรัฐธรรมนูญ

“วันรัฐธรรมนูญ” หรือ “วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ” เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

ลักษณะการปกครอง แม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้

สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการ ยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

10 ธันวาคม : วันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day)

องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) โดยสมัชชาสหประชาชาติ ได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day)”

เพื่อให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของทุกคน โดยเฉพาะผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มศาสนา ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และสื่อมวลชน รวมถึงการกระทำทารุณต่อเด็ก หรือนักโทษ

10 ธันวาคม 2439 : “อัลเฟรด โนเบล” ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบล เสียชีวิต

“อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel)” นักเคมีชาวสวีเดน เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2376 ที่เมืองสตอกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งการเป็นวิศวกร นักประดิษฐ์ เจ้าของโรงงานผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์ ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งถูกใช้ในสงครามทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก

ภายหลังเขารู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก ก่อนตายเขาจึงมอบ 94% ของทรัพย์สินทั้งหมด (ประมาณ 4,223,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ก่อตั้งเป็น “มูลนิธิโนเบล (Nobel Foundation)” เพื่อมอบ “รางวัลโนเบล (Nobel Prize)” ให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ โดยมี 5 สาขา ได้แก่ เคมี, การแพทย์, วรรณกรรม, สันติภาพ และฟิสิกส์

ต่อมาได้มีการเพิ่มเติมรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย ในปี 2512 เนื่องจากรางวัลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจของ “อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel)” จึงไม่ได้รับเงินรางวัลจาก “มูลนิธิโนเบล (Nobel Foundation)” แต่ได้รับเงินจากธนาคารกลางสวีเดน (Sveriges Riksbank) แต่ก็ยังคงมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับรางวัลโนเบลสาขาอื่น ๆ โดยมีกษัตริย์สวีเดนเป็นผู้มอบ ได้รับเหรียญตรา และจำนวนเงินเท่าเทียมกัน

“อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2439 ที่เมืองซานเรโม (San Remo) ประเทศอิตาลี ขณะมีอายุได้ 63 ปี

10 ธันวาคม 2482 : รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้ “เพลงชาติไทย” ฉบับปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2482 รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้ “เพลงชาติไทย” ฉบับปัจจุบัน โดยใช้ทำนองเพลงชาติไทยฉบับปี 2475 มาเปลี่ยนคำร้องใหม่ เนื่องจากเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก “สยาม” เป็น “ไทย” โดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปานิณพยัคฆ์) เป็นผู้ประพันธ์คำร้องใหม่ และใชัทำนองเดิมของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)

11 ธันวาคม  2489 : สมัชชาสามัญแห่งสหประชาชาติก่อตั้ง “ยูนิเซฟ (UNICEF)”

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2489 สมัชชาสามัญแห่งสหประชาชาติ ได้ก่อตั้ง “กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (The United Nations Internationals Children’s Emergency Fund : UNICEF)” เป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พัฒนาการ สุขภาพ รวมถึงความเป็นอยู่ของเด็กและแม่ในประเทศกำลังพัฒนา

12 ธันวาคม 2477 : “กันยา เทียนสว่าง” คว้าตำแหน่ง “นางสาวสยาม” คนแรกของไทย

“กันยา เทียนสว่าง” สาวงามผู้เป็น “นางสาวสยามคนแรกของไทย” เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2457 คุณแม่ของเธอมีเชื้อสายมอญ ทำให้เธอมีหน้าตาที่คมคาย จมูกโด่งเหมือนฝรั่ง พ่อแม่จึงตั้งชื่อเล่นให้ว่า “ลูซิล”

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ทางรัฐบาลจัดขึ้นในปี 2477 ได้มีเวทีประกวดนางงามซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นสีสันสำคัญในงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งที่สองนี้ด้วย

เธอคว้าตำแหน่ง “นางสาวพระนคร” ในคืนวันที่ 9 ธันวาคม 2577 และเป็นตัวแทนจังหวัดพระนครเข้าประกวดในคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2577 สุดท้ายเธอก็คว้าตำแหน่ง “นางสาวสยาม” คนแรกของไทยได้สำเร็จในคืนวันตัดสิน 12 ธันวาคม 2577

รางวัลที่ “นางสาวสยาม” ได้รับคือ มงกุฎทำด้วยผ้ากำมะหยี่ปักดิ้นเงิน ประดับโครงเงินและเพชร ขันเงินสลักชื่อ “นางสาวสยาม ๗๗” ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ เข็มกลัดทองคำลงยาสลักอักษรว่า “รัฐธรรมนูญ ๗๗” และเงินสด 1,000 บาท

“กันยา เทียนสว่าง” ตำนานเทพีแห่งรัฐธรรมนูญ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2503 ขณะอายุได้ 46 ปี

12 ธันวาคม 2502 : การแข่งขัน “กีฬาซีเกมส์ (กีฬาแหลมทอง)” ครั้งแรกในประเทศไทย

การแข่งขัน “กีฬาซีเกมส์ (Southeast Asian Games : SEA Games)” ครั้งแรกในประเทศไทย ในสมัยนั้นใช้ชื่อว่า “กีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games)” หรือ เซียปเกมส์ (SEAP Games) ในระหว่างวันที่ 12 - 17 ธันวาคม 2502 ที่สนามกีฬาแห่งชาติ

โดยมีเจ้าหน้าที่และนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 527 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า, ลาว, มลายู, สิงคโปร์, เวียดนาม และ ไทย รวมการแข่งขันทั้งสิ้น 6 วัน มีกีฬาทั้งหมด 12 ชนิด ไทยได้เป็นเจ้าเหรียญทอง ได้เหรียญทอง 35 เหรียญ

ต่อมาในปี 2520 “กีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games)” หรือ เซียปเกมส์ (SEAP Games) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กีฬาซีเกมส์ (Southeast Asian Games : SEA Games)”

12 ธันวาคม 2520 : “สนามหลวง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถานแห่งชาติ”

“สนามหลวง” หรือ “ท้องสนามหลวง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถานแห่งชาติ” ในวันที่ 12 ธันวาคม 2520 มีเนื้อที่ 75 ไร่ 63 ตารางวา เดิมเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์

ต่อมาปี 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ

เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุเจ้านายระดับสูง เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)

14 ธันวาคม 2342 : “จอร์จ วอชิงตัน” ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ถึงแก่อสัญกรรม

“จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)“ ประธานาธิปดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2275 ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ในวัยเด็กเขาเรียนหนังสือที่บ้าน พออายุ 20 ปี ก็เข้าเป็นทหาร แต่ภายหลังได้ลาออก ต่อมาในปี 2302 แต่งงานกับ “มาร์ธา คัสติส“ จากนั้นก็ทำไร่กับครอบครัวอยู่ในชนบทของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอาณานิคมอเมริกันกับอังกฤษ เพราะอาณานิคมไม่พอใจที่ถูกเรียกเก็บภาษีและปกครองโดยรัฐบาลอังกฤษ “จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)“ ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นทวีปในสงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War : ปี 2318 - 2326) และสามารถรบชนะอังกฤษได้ เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2332 และได้เป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัย

“จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)“ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคปอดบวม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2342 ขณะมีอายุได้ 67 ปี

15 ธันวาคม 2509 : “วอลท์ ดีสนีย์” นักสร้างสรรค์ภาพยนตร์การ์ตูนชาวอเมริกัน เสียชีวิต

“วอลท์ ดีสนีย์ (Walter Elias Disney)” ผู้อำนวยการสร้างและนักสร้างสรรค์ภาพยนตร์การ์ตูนชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2444 เขาคือผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์การ์ตูน ผู้เนรมิตตัวการ์ตูนอมตะอย่าง “มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse)”

เรียกได้ว่า เขาทำให้ภาพยนตร์การ์ตูนได้รับความนิยมสูงสุด จากการให้ทั้งความสุขและเสียงหัวเราะแก่คนทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังได้สร้างสถานที่สุดพิเศษให้ทุกตัวการ์ตูนของเขาได้โลดแล่นไปกับวัยเด็กของทุก ๆ คน ในชื่อ “สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ (Disneyland)” ไว้ทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

“วอลท์ ดีสนีย์ (Walter Elias Disney)” เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509 ขณะมีอายุได้ 65 ปี

16 ธันวาคม : วันกีฬาแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงชนะเลิศและได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ สนามศุภชลาศัย

ต่อมาในปี 2532 ทางราชการจึงได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์

16 ธันวาคม 2489 : ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก “องค์การสหประชาชาติ”

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2489 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ในฐานะสมาชิกใหม่ เป็นลำดับที่ 55 โดยมี “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” ทรงเป็นประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คนแรกของไทย

18 ธันวาคม : วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day)

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (The International Organization for Migration: IOM) ได้กำหนดให้วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day)” เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จากหลากหลายปัญหา ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะการดูแลสุขภาพตลอดจนความเป็นอยู่ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ เนื่องจากกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นส่วนใหญ่คือแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ

18 ธันวาคม 2536 : “ดาวเทียมไทยคม” ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2536 “ดาวเทียมไทยคม (THAICOM)” ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร จากฐานส่งของ บริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) แห่งฝรั่งเศส ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ทวีปอเมริกาใต้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานชื่อ “ไทยคม (THAICOM)” โดยมาจากคำว่า “ไทยคม (นาคม)” สร้างโดย บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ (Hughes Aircraff) สหรัฐอเมริกา สามารถถ่ายทอดได้ทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล ต่อมาได้ใช้ชื่อใหม่เป็น “ดาวเทียมไทยคม 1A”

ดาวเทียมไทยคมทั้งหมด เดิมเป็นทรัพย์สินของบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด บริษัทลูกของกลุ่มชินคอร์ป ซึ่งต่อมาได้ขายหุ้นให้แก่กลุ่มเทมาเสกของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 ดังนั้นดาวเทียมไทยคมทุกดวง จึงกลายเป็นทรัพย์สินของสิงคโปร์

21 ธันวาคม 2443 : รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายแรกในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเปิดการเดินรถไฟจากพระมหานคร - นครราชสีมา ถือเป็นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทย จากนั้นได้เสด็จโดยขบวนรถไฟ ประพาสจังหวัดนครราชสีมาด้วย

21 ธันวาคม 2525 : พิธีสมโภช “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2525 มีพิธีสมโภช “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “พระใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ออกแบบและสร้างโดย “ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ 25 พุทธศตวรรษ

“พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2523 แล้วเสร็จในปี 2525 มีความสูง 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนาม

25 ธันวาคม : วันคริสต์มาส (Christmas)

“วันคริสต์มาส (Christmas)” คือวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู ซึ่งเป็นศาสดาสูงสุดของศาสนาคริสต์ ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่คริสต์ศาสนิกชนให้ความสำคัญมาก “วันคริสต์มาส (Christmas)” จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีคริสต์ศักราช 336

ทั้งนี้ “Christmas” แปลว่า “บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า” โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า “Christes Maesse” เนื่องจาก “วันคริสต์มาส (Christmas)” เป็นวันที่คริสต์ศาสนิกชนนิยมทำพิธีมิสซานั่นเอง

ส่วนคำว่า “Merry” ในภาษาอังกฤษโบราณแปลว่า “สันติสุขและความสงบทางใจ” ดังนั้น “Merry Christmas” จึงเป็นคำอวยพรที่มีความหมายว่า “ขอให้ได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส”

โดยก่อน “วันคริสต์มาส (Christmas)” หนึ่งวัน จะเป็น “วันคริสต์มาสอีฟ (Christmas Eve)” ตรงกับวันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปี ตามธรรมเนียมของชาวคริสต์ “วันคริสต์มาส (Christmas)” จะเริ่มขึ้นในตอนเย็นของ “วันคริสต์มาสอีฟ (Christmas Eve)” เด็ก ๆ จะนำถุงเท้ามาแขวนไว้หน้าเตาผิง เพื่อรอของขวัญจากซานตาคลอส ส่วนในรุ่งเช้าซึ่งเป็นวันคริสต์มาส สมาชิกครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เพื่อทำกิจกรรมและรับประทานอาหารค่ำมื้อพิเศษร่วมกัน ซึ่งเมนูอาหารที่จะขาดไม่ได้คือ ไก่งวงและเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า เราต้องใช้ “Merry Christmas” หรือ “Merry X'mas” กันแน่ ? คำตอบคือใช้ได้ทั้งสองแบบ ต่างกันเพียง “Merry Christmas” คือการเขียนที่ถูกต้องตามหลักภาษา แต่ “Merry X'mas” เป็นคำที่นิยมในหมู่วัยรุ่น จากการใช้ตัวอักษรกรีก “ไค” (เท่ากับพยัญชนะ ch ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งมีรูปร่างเหมือนตัว X และเป็นตัวอักษรตัวแรกของคำว่า Χριστός (อ่านว่า Christos) ซึ่งมีความหมายว่า “คริสต์”

26 ธันวาคม : วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ (National Wildlife Protection Day)

ด้วยปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและการล่าสัตว์ป่าที่มีมาหลายยุคหลายสมัย ทำให้สัตว์ป่ามีจำนวนลดลง รวมถึงมีสัตว์ป่าบางชนิดต้องสูญพันธุ์ไป สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในขณะนั้น) ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่า เป็นฉบับแรกของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ จึงถือเอาวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ (National Wildlife Protection Day)” เพื่อตระหนักถึงคุณค่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าให้คงอยู่ในป่า อันจะช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติของชาติกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นในอดีตสืบไป

26 ธันวาคม 2547 : เกิดเหตุการณ์ “สึนามิ” ในไทย

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลาประมาณ 07.58 น. เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณด้านตะวันตกของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ความแรงขนาด 9.0 ริกเตอร์ เป็นแผ่นดินไหวที่มีความแรงสูงสุดในโลก นับตั้งแต่แผ่นดินไหวในอะแลสกาเมื่อปี 2507

ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “คลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami)” ซัดเข้าถล่มชายฝั่งประเทศต่าง ๆ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย พม่า ศรีลังกา อินเดีย จนถึงแอฟริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 3 แสนคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนอง กระบี่

27 ธันวาคม 2550 : “เบนาซีร์ บุตโต” อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เสียชีวิต

“เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto)” อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2496 ที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เธอได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศปากีสถาน ในขณะมีอายุเพียง 35 ปี และนับเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิม

เธอถูกประธานาธิบดี อิสซัค ข่าน (Ghulam Ishaq Khan) ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2533 จากข้อหาทุจริตและล้มเหลวในการบริหารประเทศ ต่อมาได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ในเดือนตุลาคมปี 2536 แต่บริหารประเทศได้เพียง 3 ปี ก็ถูกประธานาธิบดี ฟารุค เลฆารี (Farooq Leghari) ปลดออกจากตำแหน่งในข้อหาเดียวกัน สามีของเธอต้องติดคุก 8 ปี ในข้อหาทุจริตและค้ายาเสพติด

“เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto)” เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ที่เมืองราวัลปินดี แคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน

28 ธันวาคม : วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” หรือ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ทรงมีพระนามเดิมว่า “สิน” (ชื่อจีน “เซิ้นเซิ้นซิน”) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2277 บิดาชื่อ “ไหฮอง” เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มารดาชาวไทยชื่อ “นกเอี้ยง” เจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ต่อมาจึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราช ที่ 3)

ในรัชสมัย “สมเด็จพระบรมราชาที่ 3” หรือ “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “หลวงยกกระบัตร เมืองตาก” และเป็น “พระยาตาก ปกครองเมืองตาก” ตามลำดับ จากนั้นกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2310 พระยาตากจึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาได้ โดยรวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรีและกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาภายในเวลา 7 เดือน

เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเสียหายมากและยากที่จะฟื้นฟูได้ ในวันที่ 28 ธันวาคม 2311 “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” จึงทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรี พร้อมทั้งสถาปนากรุงธนบุรีให้เป็นราชธานี ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์” หรือ “พระบรมราชาที่ 4” ต่อจากนั้นพระองค์ได้ยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2311 - 2313 จึงได้อาณาเขตกลับคืนมา รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม

พระองค์ทรงครองราชย์ได้เพียง 15 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา โดยมีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อเทิดพระเกียรติองค์วีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย พร้อมทั้งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

28 ธันวาคม : วันกำเนิดภาพยนตร์โลก

“วันกำเนิดภาพยนตร์โลก” มีจุดเริ่มต้นจาก “ออกุส และ หลุยส์ ลูมิแยร์ (Auguste and Louis Lumière)” สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส ที่คิดค้นกล้องถ่ายและฉายภาพยนตร์ที่เรียกว่า “ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph)” ทำให้ภาพยนตร์ถือกำเนิดอย่างสมบูรณ์เป็นทางการครั้งแรกในโลก

โดยทั้งคู่จัดฉายภาพยนตร์ให้สาธารณชนได้ชมครั้งแรก ในห้องใต้ถุนร้านกาแฟกรองด์คาเฟ่ (Grand Café) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เครื่อง “ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph)” ซึ่งเป็นทั้งเครื่องถ่ายและฉายภาพยนตร์ในเครื่องเดียวกัน มีผู้เข้าชมกลุ่มแรกของโลกจำนวน 33 คน ที่ยอมซื้อตั๋วราคา 1 แฟรงค์ เพื่อเข้าชมภาพยนตร์

เมื่อเวลาผ่านไปประดิษฐกรรม “ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph)” เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้ผู้คนถือเอาวันที่ 28 ธันวาคม 2438 เป็นวันแห่งการเริ่มต้นนับหนึ่งของภาพยนตร์

31 ธันวาคม : วันสิ้นปี

วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันสิ้นปี” ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นวันหนึ่งในเทศกาลวันหยุดต่อเนื่องช่วงปีใหม่ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ (Countdown) การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ (Party) หรือการสวดมนต์ข้ามปี เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day 

▶️ 2566

▶️ 2567

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBSThai PBS Digital MediaThai PBS On This Dayไทยพีบีเอสวันสำคัญวันนี้ในอดีตวันดำรงราชานุภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพวันเอดส์โลกWorld AIDS Dayวันคนพิการสากลการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจวันสิ่งแวดล้อมไทยวันพ่อแห่งชาติวันชาติวันดินโลกWorld Soil DayWolfgang Amadeus Mozartสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาKamikazePearl HarborยานกาลิเลโอGalileo Space Probeจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จอมพลผ้าขาวม้าแดงจอห์น เลนนอนJohn Lennonวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลInternational Anti-Corruption DayเคโรโระKeroroวันรัฐธรรมนูญHuman Rights Dayวันสิทธิมนุษยชนสากลอัลเฟรด โนเบลAlfred NobelเพลงชาติไทยUNICEFกันยา เทียนสว่างนางสาวสยามคนแรกของไทยSEA Gamesกีฬาซีเกมส์กีฬาแหลมทองสนามหลวงจอร์จ วอชิงตันGeorge Washingtonวอลท์ ดีสนีย์Walter Elias Disneyวันกีฬาแห่งชาติองค์การสหประชาชาติUNITED NATIONSวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลINTERNATIONAL MIGRANTS DAYดาวเทียมไทยคมTHAICOMทางรถไฟสายแรกในไทยพระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์วันคริสต์มาสChristmasวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติNational Wildlife Protection DayสึนามิTsunamiเบนาซีร์ บุตโตBenazir Bhuttoวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชวันกำเนิดภาพยนตร์โลกวันสิ้นปี
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด