การจัดการเกี่ยวกับภาษีในช่วงปลายปี 2567 มาถึงแล้ว เพื่อจัดการด้านการเงินต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับยื่นภาษีในปี 2568 Thai PBS ชวนมาดูวิธีลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยเตรียมตัวรับฤดูจ่ายภาษีที่กำลังจะมาถึง
การคำนวณภาษีเงินได้ จะคำนวณจาก “รายได้สุทธิ” ในแต่ละปีของบุคคลนั้น ยิ่งมีรายได้สุทธิมากเท่าไหร่ก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ก่อนจะมาเป็น “รายได้สุทธิ” การคำนวณจะมีการหัก “ค่าลดหย่อน” อันเป็นสิทธิทางกฎหมาย
“ค่าลดหย่อน” ภาษีด้านนึงก็เป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสังคม ขณะที่อีกด้านนึงก็ให้ประโยชน์กับผู้จ่ายภาษีอีกด้วย แล้วค่าลดหย่อนของปีนี้มีอะไรบ้าง ? มาดูกัน
กลุ่มส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท
สิทธิพื้นฐานของแต่ละบุคคลในการได้รับการลดหย่อน เมื่อบุคคลมีรายได้ต่อปีมากกว่า 150,000 บาทขึ้นไป จะต้องชำระภาษีเงินได้ที่จะมีอัตราเพิ่มขึ้นตามเงินสุทธิที่มากขึ้น ทุกคนได้รับการลดหย่อนนี้โดยอัตโนมัติ
ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้เฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีรายได้ และสามารถใช้ได้สูงสุด 1 คนเท่านั้น
ค่าลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบุตร คนละ 30,000 บาท
สามารถใช้สิทธิ์ส่วนนี้ได้ต้องเป็นบุตรโดยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว (บุตรบุญธรรมไม่เกิน 3 คน) และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือกรณีเกิน 25 ปีแล้ว แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถยังคงสามารถลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามรถลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
ค่าฝากครรภ์ + คลอดบุตร 60,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และทำคลอดที่จ่ายให้กับสถานพยาบาบไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท ทั้งนี้ หากมีการยื่นภาษีของสามีและภรรยา จะใช้สิทธิ์กับภรรยาเท่านั้น
เลี้ยงดูพ่อแม่ไม่มีรายได้ (คนละ) 30,000 บาท
การเลี้ยงดูพ่อแม่ทั้งของตัวเองและของคู่สมรสสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น พ่อแม่บุญธรรม และสามารถใช้สิทธิ์ได้สูงสุดไม่เกิน 4 คน และลดหย่อนได้ไม่เกิน 120,000 โดยพ่อแม่ต้องอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท กรณีมีพี่น้องสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
ดูแลผู้พิการ (คนละ) 60,000 บาท
ผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพที่ได้รับการอุปการะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ พร้อมทั้งมีหนังสือรับรองการอุปการะ ในกรณีผู้พิการเป็นพ่อแม่ บุตรหรือคู่สมรสก็สามารถได้สิทธิลดหย่อนสามารถทั้งสองส่วนได้
กลุ่มประกันและการลงทุน
ประกันสังคม 9,000 บาท
ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 9,000 บาท
ประกันสุขภาพพ่อแม่ 15,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุด 15,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำกัดว่าต้องอายุมากกว่า 60 ปี
ประกันสุขภาพ 25,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 25,000 บาท
ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ 100,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท (รวมกับประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท ด้วย) ทั้งนี้ ประกันชีวิตจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ทำประกันกับบริษัทในประเทศไทย และหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไขไม่สามารถลดหย่อนได้
กองทุนเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณอายุ 500,000 บาท
การลงทุนสำหรับการวางแผนเกษียณอายุสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ถึงตอนนี้มีหลากหลายรูปแบบ มีเงื่อนไขแตกต่างกันไปอาจเป็นระยะเวลาการถือครอง การได้ผลประโยชน์ การฝากเงินเอาไว้ในระยะยาว รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท ได้แก่
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF - Retirement Mutual Fund) ไม่เกิน 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี หรือปีเว้นปี ไม่มีกำหนดขั้นต่ำในการซื้อ และต้องถือจนกว่าจะอายุครบ 55 ปี ทั้งนี้หากผิดเงื่อนไขจะต้องคืนเงินภาษีตามลักษณะของการผิดเงื่อนไขที่เกิดขึ้น
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF - Super Saving Funds) ไม่เกิน 30 % ของรายได้ ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องถือครองครบ 10 ปี นับแบบวันชนวัน ไม่บังคับซื้อทุกปี หากผิดเงื่อนจะมีการลงโทษด้านภาษีเช่นกัน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ไม่เกิน 15% ของรายได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ไม่เกิน 30% ของรายได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จ่ายตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท
กองทุน Thai ESG 300,000 บาท
กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจยั่งยืน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30 % ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยมีเงื่อนไขการถือครอง 5 ปี นับวันชนวัน
กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
Easy e-Receipt 2567 ลดหย่อนได้ 50,000 บาท
สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท โดยลดหย่อนจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือรวมถึง E-Book
เที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้ 15,000 บาท
ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด ประกอบด้วยค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 โดยใช้หลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พื้นที่เมืองรอง 55 จังหวัดมีดังนี้
ภาคเหนือ 16 จังหวัด เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี และพะเยา
ภาคอีสาน 18 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ
ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันตก 12 จังหวัด ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี
ภาคใต้ 9 จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย 100,000 บาท
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 100,000 บาท
“ค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่” สามารถลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก ๆ 1 ล้านบาท (รวม VAT แล้ว) รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยจำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568
กลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาคทั่วไป
ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10 % ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว เงินบริจาคในประเภทนี้มักเป็นวัด โรงเรียนเอกชน โรงพยาบาลเอกชน องค์การของรัฐบาล มูลนิธิต่าง ๆ โดยต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย องค์กรที่อยู่ต่างประเทศไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
เงินบริจาคเพื่อสังคม ลดหย่อน 2 เท่าจากจ่ายจริง
เงินบริจาคที่บริจาคให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/portal/for-donation-unit แต่ละปีอาจไม่เหมือนกัน และมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนด้วย สามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าจากที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10 % ของเงินได้หลังหักภาษี
เงินบริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 10,000 บาท
ขั้นตอนการยื่นภาษี
จัดเตรียมเอกสารที่จำเป็น
1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
2. รายการลดหย่อนภาษีทั้งปีที่ต้องรวบรวมไว้ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูพ่อแม่
3. เอกสารลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพื่อให้กรอกข้อมูล เช่น ใบกำกับภาษี ใบรับรองการบริจาคเงิน
ยื่นภาษีสามารถยื่นได้ 3 ช่องทาง
1. ยื่นภาษีได้ที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรในพื้นที่
2. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร ได้ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
3. ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax ของกรมสรรพากร ต้องลงทะเบียนกับเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก่อนเปิดใช้งาน
อ้างอิง
ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก กรมสรรพากร