ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้ไว้..ห่างไกลเชื้อโรค ! เมื่อต้องใช้ “ห้องน้ำสาธารณะ”


วันสำคัญ

19 พ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

รู้ไว้..ห่างไกลเชื้อโรค ! เมื่อต้องใช้ “ห้องน้ำสาธารณะ”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1909

รู้ไว้..ห่างไกลเชื้อโรค ! เมื่อต้องใช้ “ห้องน้ำสาธารณะ”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“วันส้วมโลก” (World Toilet Day) ตรงกับ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี สหประชาชาติ (UN) กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักในการจัดการสภาวะวิกฤตด้านสุขาภิบาล เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงการสุขาภิบาลอย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำความรู้มาให้ได้ทราบว่า เมื่อเราใช้ห้องน้ำสาธารณะ อาจเสี่ยงเชื้อโรคจากอะไรบ้าง เพื่อรู้ก่อนใช้ห่างไกลเชื้อโรคกัน

ผู้หญิงขัดส้วม

ห้องน้ำมี “เชื้อโรค” แฝงตัวอยู่เป็นจำนวนมาก

เชื้อโรคที่อยู่ในห้องน้ำส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูล เช่น อุจจาระ ร่วมกับความอับชื้น ส่งผลให้เชื้อโรคสามารถอาศัยอยู่ในห้องน้ำได้เป็นเวลานาน เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัสก่อโรคต่าง ๆ มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น การประเมินความสะอาดของห้องน้ำ โดยการสังเกตคราบสกปรก จึงไม่สามารถยืนยันความปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อเข้าห้องน้ำ หากมือไปสัมผัสถูกพื้นผิว หรือสุขภัณฑ์ที่มีเชื้อโรคแฝงอยู่แล้ว ไม่ได้ทำความสะอาดมือ  หลังจากนั้นหยิบอาหารมารับประทาน จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ เช่น การติดเชื้อซาลโมเนลล่า ซึ่งมักจะพบปนเปื้อนในอุจจาระได้บ่อย ๆ หากได้รับเชื้อนี้เข้าไป อาจทำให้มีอาการไข้ ปวดท้อง และท้องเสีย ในกรณีผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้

นอกจากโรคติดต่อทางเดินอาหารแล้ว เชื้อราที่อยู่ในห้องน้ำนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด มีอาการกำเริบได้ แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำแล้ว เชื้อราดังกล่าว อาจทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงและฝีในสมองได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำทุกราย ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการทำความสะอาดห้องน้ำด้วยเสมอ

ห้องน้ำสาธารณะ

เหตุที่ “ห้องน้ำสาธารณะ” มีเชื้อโรคมากกว่าห้องน้ำทั่วไป

ถ้าพูดถึงห้องน้ำสาธารณะแล้ว สาเหตุที่มีเชื้อโรคมากกว่าห้องน้ำทั่วไปคำตอบง่าย ๆ ที่ทุกคนน่าจะรู้กันก็คือ เนื่องจากในแต่ละวันมีคนใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง ซึ่งถ้าห้องน้ำนั้นไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดอย่างดี ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะมีความเสี่ยงในการที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียมาจากห้องน้ำได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

เชื้อราบนผนัง

การทดลองการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในห้องน้ำ

แจ็ค กิลเบิร์ต นักจุลชีววิทยา จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในห้องน้ำสาธารณะยืนยันว่า ห้องน้ำที่สภาพแวดล้อมเย็น แห้งและสะอาดสะอ้าน ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นเวลานาน ๆ  ผิดกับห้องน้ำที่มีอากาศชื้นและอุ่น รวมทั้งมีเศษอาหารสกปรกตกอยู่ตามพื้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและมีชีวิตได้นานกว่า

มือผู้หญิงกำลังเปิดประตู

ความเสี่ยง “เชื้อโรค” ทำให้เกิดโรค ที่เกิดจากห้องน้ำสาธารณะ

ห้องน้ำสาธารณะถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคอย่างดี โดยเฉพาะเชื้อโรคหลัก ๆ มีอยู่ 2 กลุ่มคือ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเช่น อาการตกขาวเพราะติดเชื้อในช่องคลอด หนองใน เริม และเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร อย่างเช่น ท้องร่วง ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เพราะฉะนั้นทางที่ดีก่อนเข้าห้องน้ำเราควรเตรียมพร้อม ด้วยการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องสัมผัสร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยและยังช่วยลดความเสี่ยงติดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

ผู้ชายปวดท้องกำลังจะเข้าห้องน้ำ

ถ้าภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็สู้กับแบคทีเรีย-เชื้อโรคได้

ถึงจะมีหลากหลายงานวิจัยที่ระบุว่า แบคทีเรียที่เกิดขึ้นในบริเวณห้องน้ำ โดยเฉพาะห้องน้ำสาธารณะนั้นจะมีหลากหลายสายพันธุ์ บางส่วนจะเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในตัวคน และมักพบตามพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องน้ำที่ต้องใช้การสัมผัส เช่น ประตู ที่นั่ง ก๊อกน้ำ ปุ่มชักโครก แต่ถ้าภูมิคุ้มกันของเราไม่ได้อ่อนแอ หรือในร่างกายไม่ได้มีแผลเปิดที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถติดโรคจากคนอื่นที่เราไม่รู้จักได้ง่ายขนาดนั้น

ห้องน้ำสาธารณะ

“ล้างมือ” ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ ป้องกัน “เชื้อโรค” เข้าสู่ร่างกาย

อย่างที่เคยมีการรณรงค์ให้ล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคต่าง ๆ เพราะการล้างมือที่ถูกวิธี (เริ่มจากล้างตั้งแต่มือ แขน และอาจไล่ไปจนถึงข้อศอก และไม่ลืมที่จะทำความสะอาดหลังมือทั้งสองข้างด้วย เวลาถูฝ่ามือก็ไม่ลืมที่จะทำความสะอาดซอกเล็บ ข้อนิ้วและง่ามมือด้วยสบู่และล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้ง) เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรีย-เชื้อโรคได้ง่าย ๆ เช่น แค่กดปุ่มชักโครก ก็อาจทำให้ติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอได้ ถ้าไม่ล้างมือและยังใช้มือเดียวกันนั้นหยิบจับอาหารเข้าปาก แต่ทุกอย่างป้องกันและลดโอกาสเกิดโรคได้ง่าย ๆ เพียงแค่เพียงล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ เท่านั้น


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลเปาโล

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันส้วมโลกWorld Toilet Dayห้องน้ำห้องน้ำสาธารณะเชื้อโรควิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Thai PBS On This Dayวันนี้ในอดีตวันสำคัญ
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด