ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สะท้อนมุมมอง LGBT กับ "เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ" และบทหญิงรักหญิงสุดท้าทาย “หม่อมเป็ดสวรรค์”


Interview

17 พ.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

สะท้อนมุมมอง LGBT กับ "เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ" และบทหญิงรักหญิงสุดท้าทาย “หม่อมเป็ดสวรรค์”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1903

สะท้อนมุมมอง LGBT กับ "เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ" และบทหญิงรักหญิงสุดท้าทาย “หม่อมเป็ดสวรรค์”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

 

ได้ฤกษ์ออนแอร์กันเรียบร้อย สำหรับละครพีเรียดฟอร์มใหญ่ “หม่อมเป็ดสวรรค์” เรื่องราวของความรักต้องห้ามของหญิงสาวยุคโบราณ สะท้อนมุมมองความเท่าเทียมของความรักที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ “ชายและหญิง” 

หม่อมเป็ดสวรรค์ คับคั่งไปด้วยเหล่านักแสดงมากฝีมือ และหนึ่งในนักแสดงนำของเรื่อง “ฟิล์ม – เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ” ที่มารับบทบาท “หม่อมสุด” ตัวละครที่นำพาเรื่องราวความรักต้องห้าม สะท้อนสู่สายตาคนดู

Thai PBS ไปพูดคุยกับ ฟิล์ม - เฌอร์ลิษา ถึงเรื่องราวการทำงานละครเรื่องนี้ พร้อมสะท้อนมุมมองความรักอันหลากหลาย กุญแจสำคัญอะไรที่จะทำให้ทุก ๆ คนเปิดใจยอมรับ และอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

ที่มางานแสดง “หม่อมเป็ดสวรรค์” และการรับบท “หม่อมสุด”

ฟิล์มเริ่มต้นพูดถึงการทำงานละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” ซึ่งเธอบอกว่า ละครเรื่องนี้เป็นละครฟอร์มใหญ่ และนับตั้งแต่ได้ยินชื่อโปรเจกต์ เธออยากร่วมเป็นหนึ่งในการทำงานครั้งนี้มาตลอด

“ที่ผ่านมา เวลาใครมาสัมภาษณ์ว่าอยากเล่นบทอะไร ฟิล์มจะบอกตลอดว่า ฟิล์มอยากรับบท LGBTQ พอได้รับการติดต่อมา รู้สึกเหมือน เฮ้ย! เหมือนส้มหล่น (ยิ้ม) เหมือนสวรรค์ประทานพรอะไรประมาณอย่างนั้นเลย”

ฟิล์มย้อนเล่าบรรยากาศตอนที่ได้รับการติดต่อให้มาร่วมงานละครอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับเล่าต่อมาว่า เธออยู่กับโปรเจกต์นี้ก่อนที่จะเปิดกล้องถึง 7 เดือน ซึ่งต้องผ่านทั้งช่วงของการทดสอบบท จนสุดท้ายก็ได้รับข่าวดีให้มารับบท “หม่อมสุด” จนได้

“ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เครียดมาก กังวลว่าเขาจะเลือกเราไหม เราจะเหมาะกับบทนี้จริง ๆ ไหม เพราะฟิล์มมีการเข้าไปแคสต์ มีการทำเทป เรารู้ว่าต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหลาย ๆ ท่าน ในการคัดเลือกว่า เราเหมาะสมกับการที่จะมาเล่นตัวละครนี้ไหม”

“กระทั่งวันที่ได้รับการตอบตกลง เราดีใจมาก ต้องขอบคุณไทยพีบีเอสนะคะ ขอบคุณพี่ถา (สถาพร นาควิไลโรจน์ ผู้กำกับการแสดง) ที่ให้โอกาส พอรู้ว่าได้รับบทนี้ ฟิล์มพยายามวางตัวให้สบายที่สุด เพราะการที่เราเครียดเกินไป หรือตั้งใจเกินไป ฟิล์มว่ามันไม่ส่งผลดีต่อการแสดงเท่าที่ควร"

“แต่ตอนแรก ๆ ก็ยังมีความกังวลอยู่บ้าง ทั้งเรื่องของภาษา เรื่องของบท แต่ตอนที่ฟิตติง ฟิล์มรู้สึกว่าเคมีของเรากับตัวละครมันเริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น เราได้แต่งตัวเป็นคุณสุด ได้เริ่มใส่ชุด ใส่วิก ความรู้สึกมันมาเองโดยธรรมชาติ เรารู้สึกว่า มันดีกว่าที่เราคาดไว้"

ฟิล์มเล่าต่อว่า ถึงจะพยายาม “อิน” ไปกับบทบาทความเป็น “หม่อมสุด” แต่ช่วงแรก ๆ ของการทำงาน เธอก็ยังต้องปรับจังหวะการเล่น รวมทั้งต้องปรับจูนหาความลงตัวให้กับตัวละครอยู่พอสมควร

“คือในเรื่อง คุณสุดเขาเป็นนักกวี โชคดีที่ตัวฟิล์มเองแต่งกลอนเป็น อย่างกลอนสี่ กลอนแปด แต่ที่ถนัดสุดคือแต่งโคลง ซึ่งทำให้เราปรับตัวได้ค่อนข้างมาก ส่วนเรื่องของบุคลิกภาพ ฟิล์มรู้สึกว่าฟิล์มไม่ใช่คนหวานมาก ไม่ใช่คนแบบผู้หญิงจ๋า ซึ่งตัวคุณสุดในเรื่องจะเป็นอย่างนั้น”

“อีกเรื่องที่อาจเรียกว่าเป็นความพ้องกัน คือฟิล์มเติบโตมาในสังคมของการเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนในรั้วในวัง สมัยเรียนมีคาบเรียนกุลสตรีไทย ที่เราต้องไปฝึกหมอบกราบ ฝึกตั้งแต่เด็กเลยค่ะ ดังนั้น ฟิล์มรู้สึกว่า ฟิล์มมีความเข้าใจ มีไอของมวลอะไรบางอย่างของเรื่องในรั้วในวัง ที่มันซึมซับมาตั้งแต่เด็ก พอมาอ่านบทเรื่องนี้ เห็นตัวละครคุณสุด ทำให้เราสามารถเข้าไปสู่ตัวละครได้ง่ายขึ้น”

บทบาท “หญิงรักหญิง” เรื่องแรก และการเข้าบทเลิฟซีน

แม้จะเคยผ่านงานละครพีเรียดมาก่อนหน้านี้ อาทิ สกาวเดือน หรือวนิดา แต่สำหรับละครพีเรียดที่มีกลิ่นอายความเป็น LGBT ฟิล์มบอกว่า นี่เป็นครั้งแรก แถมการเข้าฉากเลิฟซีนแนว “หญิงรักหญิง” ก็ยังเป็นเรื่องแรกอีกเช่นกัน

“ถามว่ากังวลไหม สำหรับฟิล์มไม่ได้กังวลขนาดนั้น ฟิล์มรู้สึกว่า ด้วยความที่มันเริ่มมาจากการที่เราอินกับบทก่อน หมายความว่า เราอินกับตัวคุณสุด พอถึงเวลาที่เข้าฉาก ความรู้สึกต่าง ๆ จึงค่อย ๆ มาเอง”

“ส่วนฉากเลิฟซีน เลิฟซีนโบราณเขาเรียกว่า การเล่นเพื่อน (หัวเราะ) สมัยก่อน ผู้ชายกับผู้ชาย เขาจะเรียกว่า ลูกสวาท ส่วนผู้หญิงกับผู้หญิงเขาจะเรียกว่า เล่นเพื่อน อันนี้เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ ถ้าลองไปสังเกตภาพในฝาผนังโบราณ จะมีเรื่องเหล่านี้อยู่ ซึ่งฟิล์มเชื่อว่า เรื่องรสนิยมความหลากหลาย มีมานาน และมีมาตลอด เพียงแต่เรื่องการยอมรับ อาจจะไม่เท่ากันในแต่ละยุคสมัย”

“กลับมาที่ฉากเลิฟซีน (ยิ้ม) ทีแรกเลย ฟิล์มรู้ว่ายังไงก็ต้องมี เพราะว่าชื่อของคุณสุดอีกชื่อหนึ่งที่เป็นฉายาก็คือ คุณโม่ง ซึ่งมาจากการคลุมโปงเล่นเพื่อนกันนี่แหละ ด้วยความที่เราอินกับเรื่องนี้มาก ตอนถ่ายทำทุกอย่างจึงผ่านไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมกล้อง เรื่องของภาพ ที่ถ่ายทอดมาอย่างละเมียดละไม เพราะจุดประสงค์ของทีมงาน คืออยากทำให้ออกมาสวยงามที่สุด”

“ความรักมันไม่มีผิดถูก สำหรับฟิล์ม love is love ความรักก็คือความรัก มันมีได้หลายรูปแบบ แล้วความหลากหลายทางเพศก็มีหลายเฉด เหมือนธง pride month ที่มีถึง 7 สี ซึ่งในความจริงยังมีเฉดสีมากกว่านั้นอีก”

มุมมองสังคมไทยกับความหลากหลายทางเพศ

นอกจากจะอินกับบทบาทหม่อมสุด ใน ละครหม่อมเป็ดสวรรค์ ฟิล์มยังมีเข้าใจในเรื่องราวความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากเธอเรียนจบระดับปริญญาโท ในสาขาจิตวิทยาสังคม และทำงานวิจัยเรื่องความหลากหลายทางเพศมาก่อนอีกด้วย

ฟิล์มเรียนจบปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เอกภาษาอังกฤษกับจิตวิทยา จากนั้นเราเริ่มรู้ตัวว่าเราชอบเรื่องจิตวิทยา พอมาถึงตอนเรียนระดับปริญญาโท จึงมาเลือกเรียนด้านจิตวิทยาโดยเฉพาะ"

"โดยเป็นการเรียนด้านจิตวิทยาสังคม เกี่ยวกับรื่องพฤติกรรมของคน อะไรที่ทำให้คนนั้นทำแบบนี้ คนนี้ทำแบบนั้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า พอมาเล่นละคร ทำให้ได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาเยอะมาก เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น”

“ส่วนงานวิจัยที่ทำตอนเรียนปริญญาโท เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ working prejudice หรือเจตคติเชิงลบ อาจจะใกล้เคียงกับคำว่า เหยียด เป็นเจตคติเชิงลบในการทำงาน ระหว่างกลุ่ม LGBT เทียบกับกลุ่ม Straight หรือชายจริงหญิงแท้"

"ถามว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เลือกทำงานวิจัยเรื่องเหล่านี้ คือการทำวิจัย เราต้องอยู่กับมันเป็นเวลานาน ดังนั้น เราต้องเลือกเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ซึ่งฟิล์มสนใจเรื่องเหล่านี้เป็นทุนเดิม เราจึงตัดสินใจเลือกทำหัวข้อนี้”

ฟิล์มอยู่กับานวิจัยชิ้นนี้เป็นปี เริ่มตั้งแต่หาแรงบันดาลใจ โทรไปสัมภาษณ์ผู้คนในหลาย ๆ วงการ เก็บข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล ลงมือเขียน ไปจนนำเสนอเป็นบทความทางวิชาการ ซึ่งฟิล์มเชื่อว่า การที่ฟิล์มได้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ มันอาจจะเป็นข้อมูล หรือเป็นแหล่งอ้างอิง หรือเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่ดีกว่านี้ ลึกกว่านี้ และสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากกว่านี้ เพราะในทุก ๆ งานวิจัย อย่างน้อยมันจะเป็นข้อมูลให้กับนักวิจัยรุ่นต่อ ๆ ไป”

ฟิล์มบอกว่า การเรียนจิตวิทยา ทำให้เธอเปิดใจ และเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย

“เคยมีอาจารย์ที่สอนพูดประโยคหนึ่งว่า อย่าเอาสิ่งที่เราให้ค่า ไปตัดสินคนอื่น เช่น การที่เด็กคนหนึ่งด่าพ่อแม่ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า เบื้องหลังของเด็กคนนี้เคยเจออะไรมาก่อน ถึงทำให้เขาด่าพ่อแม่ตัวเองได้ คือการเรียนจิตวิทยา ทำให้เรามองอะไรกว้างขึ้น ที่สำคัญ ทำให้มองคนเป็นคนมากขึ้น มีความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ที่มากขึ้น”

กับมุมมองของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ฟิล์มบอกว่า ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการยอมรับในกันและกันมากขึ้น

“เมื่อก่อนพอเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ จะต้องนึกถึงเรื่องตลก แต่ช่วง 10 ปีหลังมานี้ ฟิล์มเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัด สื่อนำเสนอในมุมมองอื่น ๆ นอกจากความตลก ซึ่งการที่คนในสังคมเริ่มเปิดใจยอมรับมากขึ้น ทำให้มีผลด้านกฎหมาย"

“ยกตัวอย่างเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านจากสภา ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้คนในสังคมตระหนักรู้และตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญ เรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำมาซึ่งสิทธิต่าง ๆ ที่เท่าเทียมในอนาคต ” 

ฟิล์มรู้สึกว่าสังคมไทยโชคดีอย่างหนึ่ง ถ้าไม่นับเรื่องกฎหมาย ฟิล์มคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้การยอมรับ น่าจะมากกว่าหลาย ๆ ประเทศด้วยซ้ำ บางประเทศยังมีเรื่องของการเหยียดกันอยู่ แต่ว่าประเทศไทย ในเชิงปฏิบัติ ฟิล์มว่าส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อกันน่ารัก รู้สึกว่าดีขึ้นมาก ๆ และเชื่อว่าในอนาคตจะดีขึ้นกว่านี้”

“หม่อมเป็ดสวรรค์” มากกว่าความสนุก คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ปิดท้ายกันที่เรื่องละครฟอร์มใหญ่ “หม่อมเป็ดสวรรค์” ที่คนดูจะได้เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ฟิล์มบอกว่า ถ้าข้ามจากเรื่องความหลากหลายทางเพศไปแล้ว หม่อมเป็ดสวรรค์ ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะแง่คิดในเชิงบวก ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับคนดู

“คีย์หลักของหม่อมเป็ดสวรรค์คือ ความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียม แต่นอกหนือไปจากนั้น ฟิล์มว่าละครเรื่องนี้ยังสะท้อนแง่มุมของสังคม ครอบครัว การเห็นค่าในสิ่งที่เรามีอยู่ รวมทั้งในเชิงของวัฒนธรรมที่เป็นองค์ความรู้ด้วย”

“ละครเรื่องนี้ทำรีเสิร์ชกันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม เราอยากให้ละครเรื่องนี้มีความทรงคุณค่า เช่นเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี พอพูดถึงละครที่นำเสนอเรื่องความเท่าเทียมในเชิงบวกมาก ๆ อยากให้ทุกคนนึกถึงเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์"

"อยากให้ชื่อหม่อมเป็ดสวรรค์อยู่ในใจของผู้คน เหมือนที่หลายๆ เรื่องอยู่ในใจเราสมัยเด็ก ๆ และหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นงานมาสเตอร์พีซของเรา ที่ได้เล่นเป็นคุณสุดในเวลานี้”

‘ดูละครแล้วย้อนดูตัว’ ประโยคคุ้นหูที่หลายคนมักได้ยินกันเป็นประจำ หากละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” จะทำให้ผู้คนในสังคมได้ฉุกคิดเรื่องราวใดสักเรื่องหนึ่ง ความหมายของคำว่า “ความเท่าเทียม” คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้สร้างสรรค์ละครเรื่องนี้อยากส่งไปถึงผู้ชม

ฟิล์มอยากเห็นทุกคนเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ อยากให้สังคมใจดีกันมากขึ้น อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของเพศสภาพอย่างเดียว แต่เป็นความเคารพในกันและกัน”

“คำว่า respect มีความสำคัญ ถ้าเราไม่รู้จักที่จะให้เกียรติคนอื่นเลย มัวคิดถึงแต่ตัวเอง อะไรก็ฉัน ฉัน ฉัน นั่นคือความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเรามีคำว่า respect ในความคิดของเรา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย มันจะทำให้เราคิดถึงคนอื่น และทำดีกับคนอื่นมากขึ้น”

นอกจากความสนุกของละคร ยังมีเรื่องราวดี ๆ ที่พร้อมมอบให้กับคนดูอย่างมากมาย ติดตามละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” ได้ทุกช่องทางของ Thai PBS ออกอากาศตอนแรก วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เวลา 20.30 น. เป็นของขวัญดี ๆ ส่งท้ายปีให้กับคุณผู้ชม

  • ตัวอย่างละคร
  • บรรยากาศงานเปิดตัว ละครหม่อมเป็ดสวรรค์ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฟิล์ม เฌอร์ลิษาเฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจหม่อมเป็ดสวรรค์หม่อมสุดLGBT
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด