ช่วงนี้ มีข่าวคราวเกี่ยวกับคดีความทาง “ทรัพย์” อยู่มากมาย ทั้งลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ตบทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ และอีกสารพัดความผิดเกี่ยวกับ “ทรัพย์สิน” Thai PBS รวมลักษณะของความผิดเหล่านี้มาบอกกัน
ลักทรัพย์
การลักทรัพย์ คือ การเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของ ไปโดยทุจริต ทั้งนี้ทรัพย์ที่เอาไปต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่พาไปได้ ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่ไม่เคลื่อนที่
ความผิดฐานลักทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท
กรรโชกทรัพย์
การกรรโชกทรัพย์ คือ การข่มขู่ให้ผู้อื่นยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทั้งนี้เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ
ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ตบทรัพย์
การตบทรัพย์ จัดเป็นกรณีเดียวกับ การกรรโชกทรัพย์ แต่เป็นภาษาปาก ลักษณะเป็นคำกริยา โดยให้ความหมายถึงการข่มขู่ เป็นการข่มขู่ให้ผู้อื่นยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินเช่นกัน
ความผิดฐานตบทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
รีดเอาทรัพย์
การรีดเอาทรัพย์ เป็นความผิดที่มีองค์ประกอบเหมือนกับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เช่นกัน แตกต่างกันเพียง เป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้ยอมให้หรือรับปากว่าจะยอมให้ทรัพย์สิน
ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000 – 200,000 บาท
ยักยอกทรัพย์
การยักยอกทรัพย์ คือ การเบียดบังเอาของที่อยู่กับเรา เห็นอยู่ต่อหน้า หรือถืออยู่กับมือ แต่ของนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่น หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราแต่มีคนอื่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย ถ้าเอาของมาเป็นของเราผู้เดียว จะเข้าข่ายความผิดฐานยักยอกทรัพย์
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉ้อโกงทรัพย์
การฉ้อโกงทรัพย์ คือ การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกแต่ไม่ยอมบอก เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากผู้ที่ถูกหลอกหรือจากบุคคลที่สาม
ความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่กิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้ถูกหลอกลวงเป็นเด็ก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ระบุต้องระวางโทษจำคุกไม่กิน 5 ปี หรือปรับไม่กิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ชิงทรัพย์
การชิงทรัพย์ คือ การลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยการใช้กำลังเข้าทำร้ายหรือขู่เข็ญ เพื่อให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์ยินยอมให้ทรัพย์ไป
ความผิดฐานชิงทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ระวางโทษจำคุก 5 – 10 ปี และปรับ 100,000 – 200,000 บาท
ปล้นทรัพย์
การปล้นทรัพย์ มีลักษณะเช่นเดียวกับการชิงทรัพย์ ต่างกันเพียงว่า มีผู้ร่วมชิงทรัพย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
ความผิดฐานปล้นทรัพย์: ผู้ที่กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์จะต้องถูกระวางโทษตั้งแต่ 10 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 300,000 บาท แต่หากการปล้นทรัพย์ ผู้ปล้นคนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไปด้วย หรือในการปล้นเป็นเหตุให้เจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่นถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต ผู้กระทำความผิดทุกคนแม้จะไม่ได้พกอาวุธหรือร่วมทำร้ายเจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่น กฎหมายถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด มีผลให้จะต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการปล้นทรัพย์โดยไม่มีอาวุธหรือไม่ได้มีการทำร้ายผู้ใด
ทรัพย์ของคนอื่น ไม่ใช่ทรัพย์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นความผิดลักษณะไหน “ติดคุก” ทั้งสิ้น
อ้างอิง
- ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์