ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพราะ ‘คนพิการ’ ก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง


Lifestyle

10 พ.ย. 67

บุรพัชร์ สุขเนียม

Logo Thai PBS
แชร์

เพราะ ‘คนพิการ’ ก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1870

เพราะ ‘คนพิการ’ ก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ปี 2024 เป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญและมหกรรมระดับโลกมากมาย หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจดจำ คงไม่พ้น พาราลิมปิกเกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่นักกีฬาทีมชาติไทยสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะ ‘แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ ราชินีวีลแชร์ฟันดาบหญิงทีมชาติไทย ที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยจำนวน 3 เหรียญทอง และ 1 ทองแดง 

รายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุดได้รับเกียรติจากพี่แวว มาร่วมเป็นแขกรับเชิญ พร้อม ‘โค้ชปุ๊ย นันทา จันทสุวรรณสิน’ สุดยอดโค้ชคู่ใจพี่แวว ผู้เป็นหนึ่งในเบื้องหลังของความสำเร็จครั้งนี้

แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ และโค้ชปุ๊ย นันทา จันทสุวรรณสิน

ผลตอบรับที่มากกว่าความสำเร็จและการสร้างความภูมิใจของมหกรรมกีฬาครั้งนี้ คือ การที่เราได้เห็น ‘ศักยภาพของคนพิการ’ ไม่เพียงแต่พี่แวว สายสุนีย์ แต่รวมถึงนักกีฬาพาราลิมปิกส์ทีมชาติไทยทุกคน และทุกชาติ ที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขาก็มีหัวใจหนึ่งดวง มีความพยายาม และสามารถเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาตัวเองสู่จุดสูงสุดได้

แน่นอนว่า ‘ชีวิต’ ไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เมื่อขึ้นชื่อว่า ‘คนพิการ’ หากมองในบริบทของสังคมไทย คนพิการยังเป็นกลุ่ม ‘คนชายขอบ’ ที่ยังไม่ได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างทั่วถึงหรือไม่ ?  

เมื่อพูดถึง ‘คนชายขอบ (Marginal people)’ คือ คนที่อยู่ห่างไกลจากสังคม มักหมายถึงผู้ที่ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับบริการหรือความคุ้มครองจากรัฐอย่างที่คนอื่น ๆ ได้รับ ส่งผลให้คนชายขอบต้องปรับตัวหรือดิ้นรน เพื่อเอาชีวิตรอด และนำไปสู่กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ (Marginalization) คือ การถูกมองเป็นส่วนเกินของสังคม หรืออยู่นอกเหนือความสนใจของคนในสังคม

สำหรับประเทศไทย มีหน่วยงานระดับภาครัฐอย่าง ‘กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ’ เป็นองค์กรที่คอยสนับสนุนและให้การช่วยเหลือที่ครอบคลุมสิทธิที่คนพิการพึงได้รับ 12 ด้าน ได้แก่ 

  • เบี้ยความพิการ 
  • การกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ 
  • การช่วยเหลือทางกฎหมาย 
  • การขจัดการเลือกปฏิบัติ 
  • บริการล่ามภาษามือไทย 
  • การปรับสภาพที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก ผู้ช่วยคนพิการ 
  • สิทธิทางการแพทย์ 
  • สิทธิทางการศึกษา 
  • สิทธิทางอาชีพ อย่างมาตรา 33 กับมาตรา 35
  • การลดหย่อนค่าขนส่งสาธารณะ 

หรือในระดับประชาชน มีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่มุมมองที่มีต่อคนพิการ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้หลายคนเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนพิการ เช่น การรณรงค์ไม่ใช้บทคนพิการเป็นตัวตลกในภาพยนตร์หรือละคร การปฏิบัติตนกับคนพิการอย่างเท่าเทียม หรือการสนับสนุนคนที่เป็นออทิสติกผ่านการจ้างงานในร้านกาแฟ เป็นต้น

ภาพ 2.jpg

ขณะเดียวกันความเป็นสังคมเมือง ที่มีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสถาปัตยกรรมอยู่ตลอด ‘แนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design)’ จึงมีความสำคัญ และเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้สร้าง ว่าจะออกแบบอย่างไรให้รองรับทุกคนในสังคม หนึ่งในโจทย์นั้นคือ คนพิการ 

ปัจจุบันพบว่า หลายสถานที่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หรือขนส่งสาธารณะ มีการปรับรูปแบบเพื่อรองรับคนพิการมากขึ้น เช่น การที่ขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้บริการรถโดยสารชานต่ำรองรับผู้ใช้วีลแชร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับชานชาลาเป็นชานชาลาสูงและมีตู้โดยสารสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ หรือการสร้างทางเท้ารองรับคนพิการทางการมองเห็น

ภาพจากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

จากที่กล่าวมา แม้เราสัมผัสได้ผ่านการมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในเรื่องของการใช้งานได้จริงหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งสำหรับคนพิการ ทำให้เกิดประโยคที่ว่า ‘คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ’ ที่เห็นได้จากภาพข่าวทางอินเทอร์เน็ต อย่างกรณีทางเท้าเพื่อคนพิการทางการมองเห็นที่มีเสาไฟฟ้า ป้ายข้างทาง หรือสิ่งปลูกสร้างกีดขวาง หรือกรณีทางลาดที่มีความชันมากเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้วีลแชร์

เพราะคนพิการไม่ได้ต้องการอะไรที่พิเศษหรือการดูแลพิเศษ เพียงแต่สิ่งที่เขาต้องการคือ ‘สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตเขา’ ตามปรัชญางานสังคมสงเคราะห์ที่ว่า ‘ช่วยเหลือเขา ให้เขาพึ่งพาตนเองได้ (help them to help themselves)’ และมองพวกเขาว่า มีศักยภาพ มีความสามารถเหมือน ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ แล้วคุณคิดว่าคนพิการในสังคมไทย ได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐและประชาชนมากน้อยเพียงใด และคนพิการยังใช่กลุ่มคนชายขอบในความคิดของคุณหรือไม่ ?

รับชมเรื่องราว ‘พี่แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ และ ‘โค้ชปุ๊ย นันทา จันทสุวรรณสิน’ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 21:30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay  หรือ https://vipa.me/ 

อ้างอิง


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะพาราลิมปิกเกมส์คนพิการคนชายขอบรายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุด
บุรพัชร์ สุขเนียม
ผู้เขียน: บุรพัชร์ สุขเนียม

Content Creator Online สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา “เต็มที่ ปล่อยใจ ไปให้สุด” รักการเดินทาง คลั่งไคล้รถไฟ ฟีเวอร์ K-POP

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด