ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จาก "ปอบ" เป็น "ป่วย"


Lifestyle

8 พ.ย. 67

Nutthun Bunpongsai

Logo Thai PBS
แชร์

จาก "ปอบ" เป็น "ป่วย"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1857

จาก "ปอบ" เป็น "ป่วย"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เลือด ของสด ๆ ดิบ ๆ ถูกกินตับไตไส้พุง และไหลตายอย่างปริศนา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของคนที่ถูก “ผีปอบ” …สิง

 

ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน “ปอบ” คือ ผีชนิดหนึ่ง ที่เชื่อกันว่าสิงอยู่ในตัวคน กินตับไตไส้พุงจนหมดแล้วออกไป คนนั้นก็จะตาย ปอบเกิดจากคนที่ทำผิดข้อห้ามวิชาอาคม คุณไสยของตัวเอง จนกลายเป็นผีร้ายเข้าตัว หรือได้รับมรดกตกทอดความเป็นปอบมาจากครอบครัว

คนที่ปอบเข้าสิงส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ มักจะหลบหน้าคนอื่น ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ชอบกินของดิบ รวมไปถึงเมื่อเสียชีวิตจะไม่เจอตับไตไส้พุง เพราะถูกปอบกิน นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่า ถ้าใครถูกผีปอบเข้าสิงจะฝันเห็นหมา หรือลิง

 

แต่เดี๋ยวก่อน ! อาการของผีปอบสามารถอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์

อาการของการถูกปอบสิงหรือการถูกผีเข้าตามความเชื่อ จัดว่าอยู่ในข่ายการป่วยเป็นโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน หรือ anti-NMDAR encephalitis ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หูแว่ว เห็นภาพหลอน รวมถึงการเคี้ยวปาก แลบลิ้น มือและเท้าขยับไปมา และมีนิสัยที่ก้าวร้าวขึ้นหรือเซื่องซึมผิดจากปกติ

ถ้าไม่ได้รับรักษาอย่างถูกต้อง คนป่วยจะเริ่มมีอาการชักเกร็ง ไม่รู้สึกตัว ไปจนถึงเสียชีวิต โดยสาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือติดเชื้อไวรัสในร่างกาย ซึ่งใคร ๆ ก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ แต่ส่วนจะใหญ่จะพบในผู้หญิงที่มีอายุน้อย

 

แล้วถ้าเกิดไม่ใช่เพราะโรคนี้ จะเกิดจากอะไรได้อีก ?

อาการของการถูกปอบสิงอาจจะอธิบายได้ด้วย Trance and possession disorders หรือ ภาวะที่สูญเสียความเป็นตัวเอง สูญเสียการรับรู้ในสิ่งรอบตัวไปชั่วขณะ คนที่อยู่ในภาวะนี้จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ท่าทางเหมือนถูกคนอื่นเข้ามาอยู่ในร่างตัวเอง หรือคล้ายกับการถูก “สิงอยู่”

มีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลเรื่องความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากการเผชิญปัญหาจากด้านต่าง ๆ ในชีวิต และอาจเชื่อมโยงไปยัง “โรคจิตอุปาทาน” หรือที่บางคนจะเรียกกันว่าโรคจิตผีเข้าที่มีอาการค่อนข้างคล้ายกัน

นอกจากนี้ยังมีอาการชัก กล้ามเนื้อกระตุก แขนขาเป็นอัมพาต โดยอาจจะเป็นคำตอบได้ว่าทำไมเวลาถูกปอบสิง คนที่ถูกเชื่อว่าเป็นปอบถึงได้จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ทำอะไรบางอย่างโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปราวกับเป็นคนละคน

อย่าง “แย้ม” ในเรื่อง “ธี่หยด” ที่อาจไม่ได้ถูกปอบสิง เพราะมีอาการคล้ายกับเรื่องที่เล่ามา ทั้งการที่อยู่ดี ๆ ก็ป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ เริ่มมีไข้ ได้ยินเสียงแปลก ๆ หูแว่ว เห็นภาพหลอนของปอบชุดดำ มีนิสัยที่ก้าวร้าวไม่เหมือนแย้มคนเดิม ควบคุมร่างกายไม่ได้ เคี้ยวปากเหมือนกินอะไรอยู่บ่อย ๆ จำเหตุการณ์ที่ตัวเองทำไม่ได้

โรคทางจิตข้างต้นอาจไม่ได้เป็นคำตอบของสาเหตุอาการปอบทั้งหมด หากมีบุคคลใกล้ชิดที่มีอาการคล้ายถูกปอบสิงควรพาไปพบหมอจริง ๆ ด้วยนะ อย่าพาไปพบแต่หมอธรรมอย่างเดียว

แล้วนอกจากสาเหตุที่ว่ามา คนรอบข้างหรือสังคมแวดล้อมยังสามารถทำให้เขาเป็นปอบได้ด้วย

 

เพราะถูกสังคมสั่งให้เป็นปอบ

ก่อนอื่นเราลองมาตั้งคำถามดูก่อนว่า คนเขารู้ได้ยังไงว่าหมู่บ้านของตัวเองมีผีปอบ ?

ถ้าดูจากคำบอกเล่าส่วนใหญ่จะมีคนฝันเห็นสุนัข หรือลิง มีสัตว์เลี้ยงตายเป็นจำนวนมาก พบเห็นเหตุการณ์ประหลาด เช่น เห็นแสงไฟ หรือเห็นสุนัขสีดำตาสีแดง รวมถึงมีคนเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ สิ่งเหล่านี้คนเชื่อว่าคือสัญญาณบ่งบอกถึงการมีอยู่ของผีปอบในหมู่บ้าน

จากนั้นก็จะเริ่มหาว่า “ใคร” คือผีปอบกันแน่

วิธีสืบหาตัวการ จะใช้วิธีการสังเกตลักษณะท่าทางที่มีความผิดปกติไปจากคนทั่วไป รวมถึงคาดเดาจากความเชื่อที่ส่งต่อกันมา เช่น ใครที่ไม่สบตาเวลาพูด ชอบออกจากบ้านตอนกลางคืน เป็นต้น หรือทำพิธีเสี่ยงทาย รวมไปถึงเชื่อมโยงเหตุการณ์ผิดปกติกับสถานที่ว่าเกิดใกล้กับบ้านใคร ซึ่งคนไหนที่มีลักษณะตรงตามนี้ ก็จะถูกชี้ตัวทันทีว่าเป็น “ผีปอบ”

จากนั้นคนในหมู่บ้านก็จะเริ่มไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย จับตามองพฤติกรรมของคน ๆ นั้น หากนานวันเข้าจากความ “หวาดกลัว” ก็จะเปลี่ยนเป็น “ความเกลียดกลัว” จนนำไปสู่การไม่พูดคุย ถูกทำร้ายร่างกาย และทรัพย์สิน ไปจนถึงการไล่ออกจากหมู่บ้าน

สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการตีตราทางสังคม ที่คนในหมู่บ้านกำลังสร้าง “ผีปอบ” ให้มีตัวตนขึ้นมา แม้อาจมองว่าเป็นการปกป้องตัวเองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบนั้น ก็ได้รับผลกระทบทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ต้องหนีออกจากสังคมที่เคยอยู่ อาจถึงขั้นต้องทิ้งบ้านหลังเดียวที่ตัวเองมี เพื่อหลบหนีไปอยู่ที่อื่น รวมไปถึงเกิดความผิดปกติทางร่างกาย อย่างป่วยเรื้อรัง และทางจิตใจ อย่างสติฟั่นเฟือน

 

สุดท้ายแล้วการที่คน ๆ หนึ่งจะกลายเป็นปอบหรือไม่ อยู่ที่สังคมปฏิบัติกับคน ๆ นั้นแบบไหน  คำว่าปอบอาจจะหายไปเลยก็ได้ถ้าผู้คนเปลี่ยนมุมมองว่า จริง ๆ แล้วคนที่เป็นปอบ ก็คือผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป เหมือนคนปกติธรรมดา ที่เมื่อป่วยก็ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ดังนั้น ความน่ากลัวของปอบ อาจไม่น่ากลัวเท่า สิ่งที่คน ๆ หนึ่งจะได้รับจากสังคมที่ตัดสินไปแล้วว่าเขาคนนั้นเป็น “ปอบ”

 

📌 สามารถรับชมคลิปเต็ม ได้ที่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ความเชื่อปอบผีปอบ
Nutthun Bunpongsai
ผู้เขียน: Nutthun Bunpongsai

ชิ้นแรกและชิ้นเดียว

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด