...ลองนึกภาพก๊อกน้ำในบ้านเราหยุดไหล ไม่ใช่แค่ชั่วโมงหรือวัน แต่เป็นเดือนเป็นปี และลองจินตนาการภาพแผ่นดินที่ครั้งหนึ่งเคยเขียวขจีด้วยพืชพรรณนานาชนิด แต่วันนี้กลับกลายเป็นทะเลทรายแห้งแล้งสุดลูกหาลูกตา...
นี่คือความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนีย รัฐที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันกลับต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ร้ายกาจคือมันไม่ใช่การกระทำของธรรมชาติ แต่เป็นผลพวงจากการตัดสินใจอันผิดพลาดของมนุษย์เรานี่เอง
สาเหตุหลักของวิกฤตนี้เกิดจากการสูบน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อส่งไปหล่อเลี้ยงมหานครลอสแอนเจลิสซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายร้อยไมล์ ท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ที่ทอดยาวผ่านภูมิประเทศอันแห้งแล้งจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการจัดการทรัพยากรน้ำที่ไม่สนใจความยั่งยืน ทะเลสาบโอเวนส์ที่เคยมีขนาดใหญ่ถึง 110 ตารางไมล์เหือดหายไปจนหมดสิ้น ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การขาดน้ำ แต่มันส่งผลอย่างหนักหน่วงต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง ไฟป่าลุกลาม และระบบนิเวศทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ท่ามกลางวิกฤตนี้ มีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือองค์กรชื่อ Walking Water ซึ่งริเริ่มโครงการ “เดินกับน้ำ” หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “การจาริกแสวงบุญเพื่อน้ำ” ซึ่งคือการชักชวนผู้คนมาร่วมกันเดินเท้าจากแหล่งน้ำในเทือกเขาเซียร์ราไปยังใจกลางลอสแอนเจลิสระยะทางรวมกว่า 200 ไมล์ (ราว 322 กิโลเมตร) โดยวัตถุประสงค์ของพวกเขาไม่ใช่แค่การรณรงค์ธรรมดา แต่เป็นการพยายามสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับน้ำ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเดินทางอย่างช้า ๆ ตามเส้นทางของน้ำจะช่วยให้เราได้ฟังเสียงของธรรมชาติและเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ นอกจากนั้นการได้พบปะกับผู้คนหลากหลายระหว่างเส้นทาง ทั้งชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายพันปี เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เกษตรกร และนักอนุรักษ์ ก็ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับมุมมองที่รอบด้านเกี่ยวกับปัญหาและทางออกที่เป็นไปได้ด้วย
เอมเมตต์ เบรนแนน ผู้กำกับหนุ่มไฟแรงก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วยจุดประสงค์เริ่มแรกเพียงเพื่อจะบันทึกภาพไว้ แต่แล้วสิ่งที่ได้พบกลับเปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างไม่คาดฝัน เบรนแนนเล่าว่า "การเดินช้า ๆ ทำให้ผมได้สัมผัสกับเรื่องราวเก่าแก่ของหุบเขาโอเวนส์ ผมได้ยินเสียงของผู้คนและน้ำที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้าน ถูกส่งผ่านท่อไปยังที่ห่างไกล มันทำให้ผมเข้าใจรูปแบบการเคลื่อนที่โบราณของน้ำที่เคยหล่อหลอมและรักษาหุบเขาแห่งนี้มาช้านาน"
ประสบการณ์นี้เองที่จุดประกายให้เบรนแนนลงมือทำสารคดีเรื่อง Reflection: A Walk with Water ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปีในการผลิต โดยเขาลงทุนสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นในป่าเพื่อใช้เป็นสตูดิโอตัดต่อหนังไปด้วย ความเก๋คือบ้านหลังนี้ใช้น้ำจากบ่อน้ำในพื้นที่และมีระบบหมุนเวียนน้ำที่ใช้แล้วกลับคืนสู่ธรรมชาติ อันทำให้เบรนแนนยิ่งได้สัมผัสกับวงจรของน้ำอย่างใกล้ชิด
การต้องถ่ายทำระหว่างการเดินทาง 200 ไมล์ไปด้วยก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง เบรนแนนจึงเลือกใช้กล้อง DSLR ขนาดเล็กเพื่อความสะดวก บวกด้วยแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดอยู่กับกระเป๋าเป้เพื่อใช้ชาร์จแบตเตอรี่ระหว่างทาง โดยทีมงานต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีพลังงานพอสำหรับการถ่ายทำตลอดวัน ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนด้วย บางวันพวกเขาต้องถ่ายท่ามกลางพายุทราย บางวันก็ร้อนจนกล้องแทบจะหลอมเหลวคามือ แต่ทั้งมวลก็ทำให้พวกเขาได้ภาพที่สะท้อนความจริงของสภาพแวดล้อมบนเส้นทางหฤโหดนั้นได้อย่างชัดเจน
สาระสำคัญที่เบรนแนนต้องการสื่อผ่านสารคดีเรื่องนี้ก็คือ การตระหนักถึงความสำคัญของ "วงจรน้ำขนาดเล็ก" ซึ่งเป็นกระบวนการที่พืชดึงน้ำจากพื้นดินและระเหยกลับสู่ชั้นบรรยากาศ อันมีผลต่ออุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำฝน เขาชี้ให้เห็นว่าเมื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งสูญเสียความสามารถในการถ่ายเทน้ำแบบนี้ไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ในสภาพอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบสภาพอากาศทั่วโลก
นอกจากบอกเล่าให้เห็นปัญหาแล้ว สารคดีเรื่องนี้ยังพาเราไปเรียนรู้ทางออกที่เป็นไปได้ ผ่านการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์หลายคน เช่น แอนดี้ ลิปคิส ผู้ก่อตั้ง TreePeople องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในลอสแอนเจลิสที่ทำงานเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้และการจัดการน้ำในเมือง หรือ รามิส เคนต์ นักนิเวศเกษตรและนักออกแบบซึ่งมาอธิบายให้เราฟังเรื่องความสำคัญของจุลินทรีย์ในดินต่อการอนุรักษ์น้ำ และหนังก็ยังนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบเมืองที่คำนึงถึงวงจรของน้ำมากขึ้น เช่น การสร้างพื้นที่รับน้ำฝนในเมือง การใช้ประโยชน์จากน้ำฝนแทนที่จะปล่อยให้ไหลทิ้งลงทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมให้กลับมาทำหน้าที่เก็บกักน้ำตามธรรมชาติได้ เป็นต้น
แน่นอนว่าความคาดหวังที่เบรนแนนมีต่อ Reflection: A Walk with Water ก็คือ มันจะไม่ได้เป็นเพียงสารคดีบันทึกสถานการณ์ แต่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วย เขาบอกว่า “เมื่อเราเห็นว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน เราจะเริ่มคิดและทำอะไรต่างไปจากเดิม และผมอยากให้คนดูได้เห็นว่าเรามีทางเลือก เราสามารถออกแบบโลกของเราใหม่ให้สอดคล้องกับวงจรของน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท
“เพราะน้ำไม่ใช่แค่ทรัพยากรที่เราใช้แล้วทิ้ง แต่มันเป็นส่วนสำคัญของระบบที่หล่อเลี้ยงชีวิตทั้งหมดบนโลกนี้"
▶ ติดตามสารคดี Reflection : A Walk With Water สิ่งที่เคยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนชีวิตมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ "เอ็มเม็ตต์ เบรนแนน" รับรู้อย่างชัดเจน เมื่อชุมชนที่เขาอยู่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำแล้งอย่างรุนแรง เขาตัดสินใจออกเดินเป็นระยะทางไกลถึง 200 ไมล์ เพื่อค้นหาความหวัง
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application