ระบบสาธารณสุขไทยได้รับการชื่นชมจากชาวโลกมาโดยตลอด อย่างในรายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Index หรือ GHS Index) ฉบับปี 2021 (รายงานออกทุก 2-3 ปี) ได้รวบรวมข้อมูลจาก 195 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO)
จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพอันดับที่ 5 ของโลก โดยเฉพาะในหมวด 2 ด้านการตรวจและรายงาน ไทยมีคะแนนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกด้วยซ้ำ ด้านการรับมือและตอบสนองอย่างรวดเร็ว ก็ครองอันดับที่ 2 ของโลกอย่างภาคภูมิใจ
ไหนจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีคณะแห่มาดูงานตลอดทั้งปี เบื้องหลังความแข็งแกร่งและภาคภูมิใจเหล่านี้ เบื้องหลังก็มีปัญหาแก้ไม่ตกคือ “หมอลาออก” จริงอยู่ว่าปัญหา “สมองไหล” เกิดขึ้นได้ในทุกวิชาชีพ แต่ในวิชาชีพแพทย์ ปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด
3 ปัจจัยทำให้ หมอตัดสินใจลาออกจากราชการ
ปรากฏการณ์แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ทยอยลาออกจากราชการไม่ใช่เรื่องใหม่ ยืนยันโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ที่เห็นภาพเหล่านี้มาตลอด ก่อนวิเคราะห์และสรุปออกมาว่า
มี 3 ปัจจัยทำให้หมอลาออก คือ
1.ภาระงานมากขึ้น
2.ทัศนคติของบุคลากรรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เรื่องค่าตอบแทน ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน โอกาสการศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตัวเอง รวมถึงการฟ้องร้อง เพราะการรักษาคนไข้ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนในอดีต
3.หลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคเอกชนไทยหรือต่างประเทศ มีความต้องการบุคลากรมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยทำให้คนออกนอกระบบ
ไม่เพียงแพทย์ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ยังสะท้อนว่าปัญหานี้ ยังเกิดขึ้นกับวิชาชีพพยาบาลและเภสัชกรที่เป็นบุคลากรของรัฐด้วย
หมอในโรงพยาบาลรัฐ งานหนักจนแอบร้องไห้
กรณีหมอปุยเมฆซึ่งเป็นนักร้องนักแสดงด้วย ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความการตัดสินใจลาออกจากราชการ เธอได้สะท้อนความเหนื่อยล้าและสิ้นหวังออกมา ร้องไห้และระบายออกมาจากหัวใจ
“วินาทีที่ตัดสินใจลาออกคือ ตอนนั้นวน Med อยู่เวรทั้งคืน มาราวน์เช้าต่อ ชาร์ตกองตรงหน้าเกือบ 40 คนไข้นอนล้นวอร์ด เสริมเตียงไปถึงหน้าลิฟต์ ภาพหดหู่มาก แถมเหนื่อยและง่วง ราวน์คนเดียวทั้งสาย สต๊าฟมา 10 โมง เดินมาถาม “น้องยังราวน์ไม่เสร็จเหรอ ต้องเร็วกว่านี้นะ” วินาทีนั้นตัดสินใจเลย ดอบบี้ขอลา”
ก่อนตัดสินใจลบข้อความออกไป เพราะเกรงผลกระทบที่จะตามมา แต่โพสต์ดังกล่าวได้นำไปสู่การพูดคุยในสังคม โดยเฉพาะประเด็นการทำงานหนักของหมอ Intern และนำไปสู่การลาออก
รู้จัก “หมอ Intern” ด่านหน้ารับมือคนไข้
“หมอ Intern” หรือหมอฝึกงาน จริง ๆ ก็เป็นหมอเต็มตัวคนหนึ่ง มีใบประกอบวิชาชีพแล้ว หลังเรียนจบ 6 ปี แต่มีเกณฑ์กำกับว่าหากจบจากโรงเรียนแพทย์ด้วยทุนรัฐ จะต้องออกมาใช้ทุน 3 ปี หากจบเอกชนจะต้องฝึกเพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ซึ่งหากไม่ฝึกก็อาจจะมีผลต่อการเรียนต่อ หรือเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น นิสิตแพทย์ จุฬาฯ ไม่ทำงานชดใช้ทุนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ต้องจ่ายเงินชดใช้ 4 แสนบาททันที
หมอ Intern จึงเป็นด่านหน้า ที่ต้องรับมือคนไข้ หากมีเคสยาก ๆ ก็จะปรึกษากับ Staff หรืออาจารย์แพทย์ ปัจจุบันมีภาระงานหนักพอสมควร เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ความต้องการบริการสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐกระจุกตัว ขณะที่ระบบยังไม่ได้เอื้อให้การรับบริการ กระจายตัวไปอยู่ในสถานบริการที่เหมาะสม
ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หมอ Intern ต้องอยู่ร่วมวัฒนธรรมองค์กร ด้วยความแตกต่างของช่วงวัย หมอรุ่นพี่เติบโตมาด้วยทรัพยากรจำกัด มองว่างานที่มาก ต้องช่วย ๆ กันไป เป็นคนหนุ่มสาวต้องเสียสละ
แต่ได้ทำให้เกิดคำถามกับหมอ Intern ที่เติบโตมาด้วยแนวคิดและความคาดหวังต่อวิชาชีพและองค์กรแบบ Work life balance ว่าถ้าเสียสละมานาน แล้วปัญหาไม่ได้แก้ สุดท้ายก็ลาออกไปอยู่ต่างประเทศ หรืองานเอกชน
ปรากฏการณ์ “หมอลาออก” มีมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
เรื่องหมอลาออกยังถูกยืนยันด้วยงานวิจัยของ รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองหัวหน้าศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกว่าสถานการณ์นี้ คือ ภาวะ The Great Resignation หรือ การลาออกครั้งใหญ่ของบุคลากรสาธารณสุข เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
อีกทั้งได้เสนอทางออกคือ ต้องสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ที่คนป่วยต้องได้รับบริการที่เพียงพอ มีมาตรฐาน จากทีมบุคลากรครบถ้วน ขณะที่ทีมบุคลากร ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ผู้บริหารต้องกล้ายอมรับว่า นี่คือวิกฤติที่มีอยู่จริง จัดการปัญหาด้วยแนวคิดเชิงคุณภาพ คือไม่ได้ดูแค่ตัวเลขจำนวนหมอ พยาบาลที่ผลิต ปัญหาในการทำงานจริง ๆ ของบุคลากรคืออะไร เพราะภาระงานที่ล้นมือ หมายถึง ความไม่ปลอดภัยของคนไข้ และทรัพยากรที่กระจุกตัว ก็คือ ความเหลื่อมล้ำในระบบที่มี”
“คน คงไม่ใช่คำตอบเดียว แต่อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ เงิน ที่จะก่อให้เกิดคุณภาพในการบริหารจัดการ” รศ.นพ.บวรศม กล่าว
ไทยมีหมอเกือบ 7 หมื่นคนทั่วประเทศ
ไทยพีบีเอส ค้นข้อมูลจำนวนแพทย์จากแพทยสภา เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 66
พบแพทย์ที่ยังมีชีวิต มีจำนวนทั้งสิ้น 68,725 คน
• แบ่งเป็น ชาย 36,401 คน หญิง 32,324 คน
ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ทำงานอยู่ใน กทม. จำนวน 32,198 คน
• แบ่งเป็นชาย 17,039 คน หญิง 15,159 คน
แพทย์ทำงานอยู่ใน ต่างจังหวัด จำนวน 34,487 คน
• แบ่งเป็นชาย 17,914 คน หญิง 16,573 คน
จำแนกตามช่วงอายุ
• อายุระหว่าง 20-30 ปี จำนวน 14,174 คน ชาย 6,601 คน หญิง 7,573 คน
• อายุระหว่าง 31-40 ปี จำนวน 21,509 คน ชาย 9,573 คน หญิง 11,936 คน
• อายุระหว่าง 41-50 ปี จำนวน 13,562 คน ชาย 6,553 คน หญิง 7,009 คน
• อายุระหว่าง 51-60 ปี จำนวน 7,789 คน ชาย 5,130 คน หญิง 2,659 คน
• อายุระหว่าง 61-70 ปี รวม 5,422 คน ชาย 4,186 คน หญิง 1,236 คน
• อายุ 70 ปีขึ้นไป รวม 4,229 คน ชาย 2,910 คน หญิง 1,319 คน
• แพทย์ที่อยู่ต่างประเทศ รวม 434 คน ชาย 359 คน หญิง 75 คน
หมอ 1 คนแบกคนไข้ 2,000 คน-ทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 65 แห่ง
ประเด็นนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน คณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณฯ 2561-2565 (5 ปีย้อนหลัง) พบว่าสำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น 13,141 คน
• ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน
• ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,054 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,044 คน
• ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน
• ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน
• ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน
“ตัวเลขหมอที่ผลิตได้เพียงปีละ 2,000-3,000 คน ทำให้สัดส่วนของหมอ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้ 2,000 คน”
นพ.ทวีศิลป์ยังยกข้อมูลผลสำรวจในช่วงวันที่ 15-30 พ.ย. ที่ผ่านมา จากโรงพยาบาลที่หมอต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีถึง 65 แห่ง
หมอลาออกเฉลี่ยปีละ 665 คนรวมอัตราเกษียณ
ข้อมูลการลาออกของแพทย์ ปี 56-65 (10 ปีย้อนหลัง) (ข้อมูลวันที่ 1 พ.ย. 65) ภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน+เกษียณปีละ 150-200 คน หรือรวมปีละ 655 คน
มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน
• แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน (1.2%) เฉลี่ยปีละ 23 คน
• แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน (9.69%) เฉลี่ยปีละ 188 คน
• แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน (4.4%) เฉลี่ยปีละ 86 คน
• แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน (8.1%) เฉลี่ยปีละ 158 คน
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ยังพบว่า ในปี 2565 จากตัวเลขในสังกัด สธ. 24,668 อัตรานั้น มีการลาศึกษา 4,040 คน
สธ. เพิ่มจำนวนแพทย์-ค่าตอบแทน แก้ปัญหาหมอลาออก
เรื่องนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของ สธ.
“ขณะนี้ก็ได้มีการใช้บุคลากร และงบที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องขอบคุณหมอพยาบาลที่เสียสละทุ่มเท เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี”
อย่างไรก็ตาม สธ. จะมีมาตรการเพื่อรักษาจำนวนบุคลากรไว้ ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในอาชีพ และภาระงาน ซึ่งขณะนี้ สธ. ได้เพิ่มค่าตอบแทนในส่วนที่ทำได้ และปรับเปลี่ยนภาระงานให้เกิดความสมดุล โดยเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างโรงพยาบาลได้ เป็นต้น
เสนอแก้ “หมอลาออก” ทำได้ทันที
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สะท้อนน่าสนใจว่า
"แต่ก่อนเป็นหมอสถานะทางสังคมสูง รายได้ถือว่าสูงมาก เดี๋ยวนี้ถือว่าแย่กว่าเพื่อน ในหลาย ๆ อาชีพ ศักดิ์ศรีก็น้อยกว่า พูดตรงไปตรงมาจะรวยกว่าเพื่อนที่เล่นหุ้น หรือทำธุรกิจ บางทีสู้ไม่ได้"
ก่อนร่วมเสนอทางออกเรื่องนี้ว่า หากแพทย์งานหนักมาก ต้องจ้างคนเพิ่ม หากจ้างคนเพิ่มไม่ได้ ต้องมาคิดระบบงานดูว่าเขาทำงานบางอย่างที่ไม่จำเป็นมากไปหรือเปล่า ทั้งนี้ ในระดับโรงพยาบาลสามารถทำได้ทันที ผู้บริหารโรงพยาบาลสามารถทำให้แฟร์ เหมาะสม ได้รับการดูแลในการทำงาน
นพ.สมศักดิ์ เล่าว่า ปัญหาหมอลาออกไม่ได้เกิดขึ้นเพียงโรงพยาบาลรัฐ แต่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชนด้วย แต่เขามีวิธีจัดการ เชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่แคร์แพทย์ โรงพยาบาลของรัฐก็ต้องแคร์แพทย์เช่นกัน แต่แคร์แล้วทำอะไรได้หรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะความคล่องตัวการใช้งบประมาณ
“ยกตัวอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว พอออกนอกระบบราชการ เขามีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมาก เขาทำให้คนทำงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น จ้างคนอื่นมาทำงานได้ จ้างผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลอื่นมาช่วยก็ได้ แต่ระบบราชการมีกฎระเบียบ ต้องไปตามแก้ ผู้บริหารคนเดียวไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แต่สามารถเริ่มแก้ไขได้ แต่ สธ. ต้องแก้ระบบด้วย” นพ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
แพทยสภา ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา “หมอ Intern” ลาออก
ทางด้านวิชาชีพแพทย์ โดยแพทยสภา ได้มีมติตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอ Intern ลาออก 2 ชุด คือ
1. อนุกรรมการตรวจสอบหมอ Intern เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมปัญหา
2.คณะกรรมการนโยบาย ซึ่งจะมีหมอจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางและระเบียบ เช่น การเรียนหมอ 6 ปี การใช้ทุนในปีที่ 7 เหมาะสมหรือไม่
ส่วนเรื่องค่าตอบแทน เตรียมเสนอภาครัฐให้ทบทวน ทั้งนี้ แพทยสภาเห็นด้วยว่าปัจจุบันมีช่องว่างเรื่องค่าตอบแทน ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทำให้หมอที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐที่มีภาระครอบครัวต้องลาออก แต่จำนวนหมอที่ลาออกมีไม่มาก
ข้อมูล : แพทยสภา, รายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส วันที่ 6 มิ.ย. 66, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
📖 อ่านเพิ่มเติม :
• เปิดสถิติแพทย์ล่าสุด ปี 66 ไทยมีแพทย์ทั้งสิ้น 6.8 หมื่นคน อยู่ใน กทม. 3.2 หมื่นคน
• กางตัวเลขผลิตหมอ เท่าไหร่ไม่พอ "หมอลาออก-ลาศึกษา"