ท่ามกลางความเขียวขจีของป่าดิบชื้นในภาคใต้ของไทย มีเสียงหนึ่งที่ดังก้องกว่าเสียงใด ๆ นั่นคือเสียงร้องของนกเงือก และเสียงของหญิงสาวผู้อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องพวกมัน...
เธอคือเจ้าของฉายา "The Hornbill Lady" ผู้กล้าท้าทายขนบธรรมเนียมและความเชื่อดั้งเดิมเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นนักอนุรักษ์ในพื้นที่ที่แทบไม่มีใครกล้าย่างกราย เรื่องราวของเธอไม่เพียงน่าทึ่ง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อโลกใบนี้ด้วย
นูรีฮัน ดะอูลี คือชื่อของหญิงสาวชาวไทยมุสลิมวัย 32 ปีที่เรากำลังพูดถึง เธอเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านปาโจ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส นูรีฮันผูกพันกับป่าไม้และธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กจากการเดินตามปู่และพ่อเข้าป่าเป็นประจำ แม้ว่าเธอจะเดินทางไปเรียนต่อและทำงานในกรุงเทพฯ แต่ความวุ่นวายของเมืองหลวงก็ทำให้เธอยิ่งคิดถึงความสงบของธรรมชาติที่บ้านเกิด ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่างแล้วกลับมาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก "บูโดโมเดล" ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
และด้วยทางเลือกอันมุ่งมั่นนี้เองที่ทำให้วิถีชีวิตของนูรีฮันแตกต่างจากสตรีมุสลิมทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทุกวันของเธอเต็มไปด้วยความท้าทาย เธอต้องทำงานร่วมกับชุมชน เข้าป่าลึก ใช้ชีวิตอยู่ในป่าหลายวัน และที่น่าทึ่งที่สุดคือการปีนต้นไม้สูง 20-40 เมตรเพื่อสำรวจดูแลและซ่อมแซมโพรงรังของนกเงือก เพราะเป้าหมายของเธอคือ การให้นกเงือกได้ทำรัง ออกไข่ เลี้ยงลูก ขยายพันธุ์ พร้อม ๆ กับทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจด้วยว่านกเงือกนั้นสำคัญมากเพียงใดต่อระบบนิเวศ
เรื่องราวที่แสนจะบันดาลใจของนูรีฮันนี่แหละที่กลายมาเป็นสารคดีชื่อ The Hornbill Lady ซึ่งทีมงานบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่นใช้เวลาถึง 2 ปีในการบันทึกทั้งภาพอันงดงามของป่าบูโด การทำงานของทีมอนุรักษ์ และภาพนกเงือกหายากในทุกระยะ ตั้งแต่การจับคู่เกี้ยวพาราสี การปิดรังเพื่อฟักไข่ การเลี้ยงลูกของตัวผู้ จนถึงการที่ตัวเมียและลูกบินออกจากโพรงไม้ คู่ขนานไปกับการติดตามชีวิตของนูรีฮัน
อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีที่นูรีฮันทำงานอยู่นั้น เป็นบ้านของนกเงือกหายากหลากหลายชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ นกเหล่านี้ไม่ใช่แค่นกธรรมดา แต่พวกมันคือ "เกษตรกรแห่งป่า" ที่แท้จริงเพราะมันมีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 200 ชนิด ด้วยพฤติกรรมการกินผลไม้สุกและนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ หรือเราอาจพูดได้ว่า พวกมันนี่แหละคือผู้ช่วยปลูกป่าและผู้รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
มีข้อมูลว่า สถานการณ์นกเงือกในพื้นที่อุทยานแห่งนี้มีแนวโน้มเป็นไปในทางบวก โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีลูกนกเงือกเกิดใหม่กว่า 600 ตัว ปัจจุบันในอุทยานมีทีมวิจัยกว่า 40 ชีวิตซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคนในพื้นที่ แบ่งตามเขตของแต่ละหมู่บ้าน และทั้งหมดร่วมกันดูแลโพรงนกเงือกกว่า 100 โพรง
การทำงานของนูรีฮันกับทีมไม่เพียงช่วยอนุรักษ์นกเงือก แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในชุมชนและคนทั่วไปได้อย่างดี เธอทำให้เราได้เห็นว่าการอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และสารคดีเรื่องนี้ก็เปรียบดังเสียงเรียกร้องจากป่าลึกที่กำลังบอกเราว่า ยังไม่สายเกินไปที่เราจะตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติที่เรามีอยู่และลุกขึ้นมาปกป้องมันเอาไว้เพื่อคนรุ่นต่อไป
▶ ติดตามสารคดี The Hornbill Lady ภารกิจอนุรักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโดของ "นูรีฮัน" ผู้หญิงคนเดียวที่ทำหน้าที่ซ่อมโพรงรังนกเงือก และติดตั้งโพรงเทียม เธอทำงานอยู่ในพื้นที่เปราะบางทั้งทางธรรมชาติ ศาสนาและการเมืองของสามจังหวัดชายแดนใต้
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application