ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Thai PBS On This Day | พฤศจิกายน 2567


วันสำคัญ

29 ต.ค. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | พฤศจิกายน 2567

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1774

Thai PBS On This Day | พฤศจิกายน 2567
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567

1 พฤศจิกายน : วันเกิด Hello Kitty

“Hello Kitty” (ญี่ปุ่น : ハローキティ/ ไทย : เฮลโลคิตตี) มีชื่อเต็มว่า “Kitty White” (ญี่ปุ่น : キティ・ホワイト / ไทย : คิตตีไวท์) เธอคือตัวละครที่ถูกสร้างโดย “ซานริโอ (Sanrio)” บริษัทในญี่ปุ่น ออกแบบครั้งแรกโดย “ยูโกะ ชิมิซุ” โดยวาดออกมาเป็นภาพแมวญี่ปุ่นหางสั้น เพศเมีย สีขาว ที่ติดโบว์สีแดง

จากข้อมูลตัวละครอย่างเป็นทางการ “Hello Kitty” เกิดในเขตชานเมืองของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน มีความสูงเท่ากับแอปเปิ้ล 5 ผล และน้ำหนักเท่ากับแอปเปิ้ล 3 ผล ติดโบว์สีแดงที่หูซ้าย สดใสและใจดี อบคุกกี้เก่ง ชอบทานพายแอปเปิ้ลที่แม่ทำให้

“Hello Kitty” ปรากฏตัวครั้งแรกในรายการ “A vinyl coin purse” เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นในปี 1974 และถูกนำไปออกอากาศที่สหรัฐอเมริกาในปี 1976 โดยมีบุคลิกที่แสดงออกถึงความน่ารักของวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของญี่ปุ่น

มีหลายคนที่แอบสงสัยว่า ทำไม “Hello Kitty” ไม่มีปาก ? เรื่องนี้บริษัทผู้สร้างอย่าง “ซานริโอ (Sanrio)” ได้เคยให้คำตอบไว้ว่า เป็นเพราะพวกเขาอยากให้ “Hello Kitty” พูดออกมาจากหัวใจ!

3 พฤศจิกายน : วันแมงกะพรุนโลก (World Jellyfish Day)

“วันแมงกะพรุนโลก (World Jellyfish Day)” ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่สิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกนี้นานกว่ามนุษย์หลายล้านปี และยังเป็นศูนย์รวมของความลึกลับแห่งท้องทะเล แม้ว่า “วันแมงกะพรุนโลก (World Jellyfish Day)” อาจยังไม่มีที่มาแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมาจากกลุ่มนักชีววิทยาทางทะเล ที่เคารพในความเรียบง่ายของสิ่งมีชีวิตที่แปลกแต่สวยงามนี้

แมงกะพรุนจำนวนมากที่สุดพบได้ทางซีกโลกใต้ ในออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า “วันแมงกะพรุนโลก (World Jellyfish Day)” ถูกกำหนดให้ตรงกับฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกใต้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่แมงกะพรุนจะเริ่มอพยพไปยังชายฝั่งของซีกโลกเหนือ

3 พฤศจิกายน 2500 : “ไลก้า” สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

“ไลก้า” หรือ “Leika” ที่แปลว่า “เห่า” เป็นสุนัขอวกาศตัวแรกของโลกที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลกด้วย “ยานสปุตนิก 2” ของสหภาพโซเวียต ภายใต้โครงการสปุตนิก

เชื่อหรือไม่ว่า “ไลก้า (Leika)” เป็นสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี เพศเมีย ที่ถูกจับมาจากข้างถนนในกรุงมอสโก และวันหนึ่งโชคชะตาก็พาให้มันได้โดยสารไปกับยานสปุตนิก 2 ที่ไม่ได้ออกแบบให้กลับสู่โลกอย่างสมบูรณ์ เรื่องเศร้าจึงเกิดขึ้นพร้อมโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า “ไลก้า (Leika)” มีชีวิตอยู่ได้ 4 - 10 วันในวงโคจร บางคนก็บอกว่า อาหารมื้อท้าย ๆ มีภาวะเป็นพิษ บางส่วนก็อ้างว่า “ไลก้า (Leika)” ขาดออกซิเจน เมื่อแบตเตอรี่ของระบบเกื้อชีวิตหมด

“ยานสปุตนิก 2” อยู่ในวงโคจรนาน 163 วัน โคจรรอบโลกครบรอบในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที รวม 2,370 รอบ ในท้ายที่สุด โลงศพของ “ไลก้า (Leika)” ก็ตกลงสู่โลก และไหม้สลายหมดไปในอากาศ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2501 แล้วอีก 40 ปีให้หลัง อนุสาวรีย์ของสุสานอวกาศก็ได้มีการสร้างขึ้นนอกกรุงมอสโก โดยมีรูปของ “ไลก้า (Leika)” กำลังเห่าขณะสวมชุดนักบินอวกาศ

3 พฤศจิกายน 2516 : องค์การนาซาส่ง “ยานมารีเนอร์ 10” ไปยังดาวพุธ

“องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration)” หรือ “องค์การนาซา (NAZA)” ได้ทำการส่ง “ยานมารีเนอร์ 10 (Mariner 10)” ไปยังดาวพุธ ซึ่งถือเป็นยานอวกาศลำเดียวที่เคยไปสำรวจดาวพุธ และเป็นยานอวกาศลำแรกที่สำรวจดาวเคราะห์มากกว่าหนึ่งดวง

ระหว่างทางไปดาวพุธ “ยานมารีเนอร์ 10 (Mariner 10)” ได้ถ่ายภาพเมฆบนดาวศุกร์ หลังจากนั้นไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถผ่านใกล้ดาวพุธถึง 3 ครั้ง สามารถถ่ายภาพส่งกลับมายังโลกได้ 2,700 ภาพ ครอบคลุมพื้นผิว 1 ใน 3 ของดาวพุธ นอกจากนี้ ยังได้ตรวจวัดสนามแม่เหล็กและอุณหภูมิพื้นผิวของดาวพุธด้วย

7 พฤศจิกายน 2510 : องค์การนาซาส่ง “ยานเซอร์เวเยอร์ 6” ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อสำรวจดวงจันทร์

“องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration)” หรือ “องค์การนาซา (NAZA)” ได้ทำการส่ง “ยานเซอร์เวเยอร์ 6 (Surveyor 6)” ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อสำรวจดวงจันทร์ ก่อนจะถ่ายภาพพื้นผิวของดวงจันทร์กว่า 30,000 ภาพ และส่งข้อมูลกลับมายังโลก

“ยานเซอร์เวเยอร์ 6 (Surveyor 6)” เป็นยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์บังคับ เป็นโครงการศึกษาอวกาศที่สหรัฐอเมริกาแข่งขันกับสหภาพโซเวียต โดยยานอวกาศเซอร์เวเยอร์ลำสุดท้ายคือ “ยานเซอร์เวเยอร์ 7 (Surveyor 7)” ซึ่ง “องค์การนาซา (NAZA)” ส่งไปสำรวจบนดวงจันทร์ โดยความสำเร็จของ “โครงการเซอร์เวเยอร์ (The Surveyor Program)” ส่งผลให้สหรัฐอเมริกานำไปพัฒนาต่อในโครงการอพอลโล (The Apollo Program)

8 พฤศจิกายน : วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day)

ในวันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day)” เพื่อรำลึกถึงการวางแผนเมืองที่สำคัญ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2492 โดย “ศาสตราจารย์คาร์ลอส มารีอา เดลล่า เปาเลร่า” แห่งมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ผู้ล่วงลับ ที่พยายามสนับสนุนให้การวางแผนเมืองและชุมชนต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเมือง

วัตถุประสงค์ของการกำหนด “วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day)” ก็เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทของนักวางผัง พร้อมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้ในการวางแผนเมืองและชุมชนที่มีคุณภาพ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผัง และผู้ที่มีบทบาทด้านการพัฒนาเมืองและชุมชน ก็จะมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในมิติต่าง ๆ ของการพัฒนาเมืองด้วย

ปัจจุบันกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ได้จัดงานเฉลิมฉลองในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานประชุม กิจกรรมระดมทุน กิจกรรมการกุศล การจัดประกวดการวางแผนชุมชนเมือง หรืองานเทศกาลตามท้องถนน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงแนวคิดการวางแผนเมืองที่ดี น่าอยู่และเปิดกว้างสำหรับทุกคน

9 พฤศจิกายน 2567 : วันคนพิการแห่งชาติ

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดให้วันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน เป็น “วันคนพิการแห่งชาติ” เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงการให้ความสำคัญและช่วยเหลือหรือสนับสนุน ให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้น เล็งเห็นถึงศักยภาพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนพิการ

อีกทั้งผู้พิการจำเป็นต้องปรับตัว เรียนรู้และฟื้นฟู ให้อยู่ในสังคมได้ด้วยตนเอง จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะ สังสรรค์ แสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ และเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการบำบัด รักษา การป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพ

11 พฤศจิกายน : วันคนโสด (Singles’ Day)

“วันคนโสด” หรือ “วันโสดแห่งชาติ” (ประเทศจีน) ตรงกับวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนในปี 1993 โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากนักศึกษาชายจำนวน 4 คน ของมหาวิทยาลัยหนานจิง ที่ได้มีการพูดคุยในทำนองทีเล่นทีจริงว่า ไหน ๆ คนมีคู่เค้าก็มีวันวาเลนไทน์เป็นของตัวเองกันแล้ว เรามาสร้างวันของหนุ่มโสดกันไหม ?

จากแนวคิดขำขันนั้น ถูกต่อยอดสู่การจัดงานภายในมหาวิทยาลัย และเริ่มเข้าสู่สื่อออนไลน์ จนกลายเป็นเทศกาลที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้รับความนิยมมากขึ้นทุกปี เกิดเป็น “วันแห่งการช้อปปิ้ง” โดยเฉพาะ Online Sales 11.11 กับโปรโมชันจำหน่ายสินค้าลดราคาสุดพิเศษเอาใจคนโสด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Double Day ในเดือนอื่น ๆ อีกด้วย

11 พฤศจิกายน 2451 : รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด “พระบรมรูปทรงม้า”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด “พระบรมรูปทรงม้า” และทรงประกอบพิธีวางศิลาพระฤกษ์สร้าง “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ณ พลับพลาในสวนแป๊ะเต๋ง บริเวณสนามหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร.ศ. 112 (ปี พ.ศ. 2436) ซึ่งจัดขึ้นในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลา 40 ปี ซึ่งถือได้ว่ายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ขณะนั้น

“พระบรมรูปทรงม้า” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงนำแบบอย่างมาจากพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ปั้นโดยช่างชาวฝรั่งเศสชื่อ “จอร์จ เซาโล (Georges Saulo)” โดยหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ เป็นที่ม้ายืน หนาประมาณ 25 เซนติเมตร ประดิษฐานบนแท่นรอง ทำด้วยหินอ่อน สูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุนกัน

ส่วน “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ออกแบบโดย “มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno)” สถาปนิกชาวอิตาเลียน นายช่างฝรั่งของกรมโยธาธิการ และ “คาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri)” เป็นวิศวกร และ “เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)” เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง เสร็จสมบูรณ์ในปี 2485 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 15 ล้านบาท จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียน สมัยเรเนซองส์ มีลักษณะรูปโดมแบบเดียวกับมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในกรุงโรม

11 พฤศจิกายน 2547 : “ยัสเซอร์ อาราฟัต” อดีตผู้นำองค์การ PLO เสียชีวิต

“ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat)” อดีตผู้นำปาเลสไตน์ เกิดที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ (อาราฟัตระบุว่าเขาเกิดวันที่ 4 สิงหาคม ที่เยรูซาเล็ม) มีชื่อเดิมว่า “โมฮัมหมัด อับดุล ราห์มาน อัลดุล ราอูฟ อาราฟัต อัล กุดวา อัล ฮุสเซนี” ด้วยบุคลิกที่เข้มแข็ง อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ และสัญชาติญาณทางการเมืองที่เฉียบแหลม ทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากชาวปาเลสไตน์ รวมถึงนานาชาติ

ในปี 2512 เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ต่อมาในปี 2515 เขาหันมาใช้วิธีทางการทูต โดยเจรจาผ่านสหประชาชาติ นำไปสู่การประกาศความเป็นอธิปไตยของรัฐปาเลสไตน์ในปี 2531

“ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat)” ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2537 อีกสองปีต่อจากนั้น คือปี 2539 เขาก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิปดีปาเลสไตน์ จนเมื่อปี 2544 เขาถูกกองกำลังอิสราเอลกักตัวอยู่ในเมืองรอมัลเลาะห์ จนป่วยหนักและเสียชีวิตในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 ที่เมืองคลามอร์ท ประเทศฝรั่งเศส

14 พฤศจิกายน : วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)

“สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation)” และ “องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)” โดยเริ่มขึ้นในปี 2534 เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงโรคเบาหวาน ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก พร้อมทั้งเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วโลกร่วมกันตรวจสุขภาพโรคเบาหวานประจำปี เพื่อตรวจเช็กร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

14 พฤศจิกายน : วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงพบว่าราษฎรกำลังประสบความเดือดร้อนด้วยปัญหาพืชผลทางการเกษตรเสียหาย จากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎร อันเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน

15 พฤศจิกายน 2476 : “คณะราษฎร” จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“คณะราษฎร” จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม และรวมเขต โดยให้ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลในจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ต่อไป การเลือกตั้งครั้งนี้ มีอัตราส่วนพลเมือง 2 แสนคน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน มีสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 1 ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 78 คน ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์สูงถึง 78.82%

15 พฤศจิกายน 2567 : วันลอยกระทง

“วันลอยกระทง” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ไม่มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัดว่าเริ่มต้นในยุคสมัยใด

แต่เทศกาลนี้ไม่ได้มีแค่ในวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังปรากฏในหลายวัฒนธรรมแถบเอเชียที่มีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะคติพุทธและพราหมณ์ที่ลอยกระทงเพื่อเป็นพุทธบูชาต่อสิ่งที่ให้ความเคารพนับถือ

เช่น ลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาท ลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าสูงสุดของพราหมณ์ ลอยกระทงเพื่อรำลึกการปกป้องศาสนาของพญานาค รวมถึงลอยกระทงเพื่อสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคาซึ่งเป็นเทวดาในคติฮินดู

16 พฤศจิกายน 2446 : กองทัพบกได้จัดทำ “คทาจอมพล” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5

กองทัพบกได้จัดทำ “คทาจอมพล” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในฐานะองค์จอมทัพไทย ในพระราชพิธีทวีธาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นับเป็นครั้งแรกที่มีคทาจอมพลขึ้นในประเทศไทย

พระราชพิธีทวีธาภิเษก เป็นพระพิธีการสมโภช ที่รัชกาลที่ 5 ได้ครองราชย์สมบัติยืนนาน มาเป็นสองเท่า ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบรมชนกนาถ

พระคทาจอมพลองค์แรกนี้ มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 35 เซนติเมตร ยอดคทาเป็นรูปหัวช้างสามเศียรลงยาสีขาว เหนือหัวช้างเป็นรูปพระเกี้ยว ตอนท้ายคทาเป็นรูปทรงกระบอกตัด องค์พระคทาทำด้วยทองคำหนัก 40 บาท ใต้หัวช้างลงมาเป็นลายนูนรูปหม้อกลศ พระคทาองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นประจำตลอดรัชกาล

17 พฤศจิกายน 2513 : กำเนิด “Mouse (เมาส์)” ตัวแรกของโลก

“Mouse (เมาส์)” ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1963 โดยผู้ประดิษฐ์คิดค้นคือ “ดร.ดักลาส คาร์ล อิงเกิลบาร์ต (Douglas Carl Engelbart)” ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) เป็นหนึ่งในการทดลองอุปกรณ์ชี้ (Pointing Device) สำหรับ Engelbart's oN-Line System (NLS) ส่วนอุปกรณ์ชี้อื่น ๆ นั้น ออกแบบมาเพื่อการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ติดกับคางหรือจมูก เป็นต้น ท้ายที่สุด “Mouse (เมาส์)” ก็ได้รับการคัดเลือก เพราะง่ายต่อการใช้งานที่สุด

“Bug (บัก)” เคยเป็นชื่อในยุคเริ่มแรกของ “Mouse (เมาส์)” ก่อนที่ชื่ออย่างหลังนี้จะได้รับความนิยมมากกว่า สำหรับ “Mouse (เมาส์)” ตัวแรกนั้น มีขนาดใหญ่ ใช้เฟือง 2 ตัว วางในลักษณะตั้งฉากกัน โดยการหมุนของแต่ละเฟือง จะถูกแปรไปเป็นการเคลื่อนที่บนแกนในปริภูมิ 2 มิติ

“ดร.ดักลาส คาร์ล อิงเกิลบาร์ต (Douglas Carl Engelbart)” ได้รับสิทธิบัตรเลขที่ US3541541 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2513 ชื่อ X-Y Position Indicator (ตัวระบุตำแหน่ง X-Y สำหรับระบบแสดงผล) ในตอนนั้น ตั้งใจจะพัฒนาจนสามารถใช้เมาส์ได้ด้วยมือเดียว

“Mouse (เมาส์)” แบบต่อมา ถูกประดิษฐ์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 โดย “บิล อิงลิช (Bill English)” ที่ศูนย์วิจัยของบริษัท ซีรอกส์ (Xerox PARC) โดยการแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอล ซึ่งสามารถหมุนไปได้ทุกทิศทาง การเคลื่อนไหวของลูกบอลจะถูกตรวจจับโดยล้อเล็ก ๆ ภายในอีกทีหนึ่ง เมาส์ชนิดนี้จะคล้าย ๆ กับแทร็กบอล และนิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตลอดทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้การใช้เมาส์และคีย์บอร์ดในเวลาเดียวกันสามารถเป็นจริงได้

สำหรับ “Mouse (เมาส์)” ในปัจจุบัน ได้รับรูปแบบมาจาก École polytechnique fédérale de Lausanne (EPFL) ภายใต้แรงบันดาลใจของ “ศาสตราจารย์ Jean-Daniel Nicoud” ร่วมกับวิศวกรและช่างนาฬิกาชื่อ “André Guignard” ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ ทำให้เกิดบริษัท โลจิเทค (Logitech) ผลิตเมาส์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นยี่ห้อแรก

18 พฤศจิกายน 2471 : วันเกิด “Mickey Mouse”

“Mickey Mouse (มิกกี้ เมาส์)” เป็นตัวการ์ตูนยอดนิยมของเด็ก ๆ ทั่วโลก สร้างโดย ”The Walt Disney Company (เดอะ วอลต์ ดิสนีย์)” เจ้าหนูสีดำ สวมกางเกงเอี๊ยมสีแดง รองเท้าสีเหลือง ตัวนี้ ให้เสียงพากย์โดย ”วอลต์ ดิสนีย์” มีชื่อเริ่มแรกว่า ”มอร์ติเมอร์ เมาส์” ก่อนที่ ”วอลต์ ดิสนีย์” จะเปลี่ยนชื่อจากการแนะนำของภรรยา เนื่องจากเธอเห็นว่ามันเป็นชื่อที่ดูจริงจังจนเกินไป

“Mickey Mouse (มิกกี้ เมาส์)” มีบุคลิกที่มีความอดทน อดกลั้น ฉลาดหลักแหลม มองโลกในแง่ดี มีความกระตือรือร้น ถ่อมตัวและเรียบง่าย ซื่อสัตย์ กล้าหาญ ชอบอ่านหนังสือ มีสัญชาตญาณพิเศษในเรื่องการสืบสวนสอบสวน ชอบใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าสู้ จนสามารถเอาชนะศัตรูที่มีร่างกายที่แข็งแรงกว่าได้ ทำให้ “Mickey Mouse (มิกกี้ เมาส์)” เป็นตัวการ์ตูนยอดนิยมของเด็กทั่วโลกได้เป็นเวลาหลายทศวรรษ

18 พฤศจิกายน 2505 : “นีลส์ โบร์” เจ้าของรางวัลปรมาณูเพื่อสันติภาพคนแรกของโลก เสียชีวิต

“นีลส์ โบร์” (Niels Henrik David Bohr)” นักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2428 ที่กรุงโคเปนเฮเกน หลังจากจบการศึกษาด้านฟิสิกส์ เขาก็เริ่มค้นคว้าและทำการทดลองมาโดยตลอด จนในปี 2465 เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จากผลงานทฤษฎีอะตอมแนวใหม่

เขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อปรึกษากับ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพ พวกเขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับอะตอม ซึ่งต่อมาทฤษฎีของเขาได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างระเบิดปรมาณู ทั้ง ๆ ที่เขาพยายามจะคัดค้าน แต่ในที่สุดระเบิดปรมาณูก็ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน และเสียชีวิตภายหลังด้วยโรคมะเร็งอีกมากมาย

หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาเดินทางกลับเดนมาร์กและเริ่มการรณรงค์หยุดการใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อการทำลายล้างทุกวิธีทาง ทำให้เขาเป็นคนแรกของโลกที่ได้รับ “รางวัลปรมาณูเพื่อสันติภาพ (Atom for Peace Award)” ในปี 2490

“นีลส์ โบร์” (Niels Henrik David Bohr)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2505 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ขณะมีอายุได้ 77 ปี

19 พฤศจิกายน : วันส้วมโลก (World Toilet Day)

“องค์การส้วมโลก (World Toilet Organization : WTO)” ได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันส้วมโลก (World Toilet Day)” เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นการรณรงค์กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ให้ผู้คนตระหนักถึงสุขอนามัยและความสำคัญของความสะอาดในการใช้ห้องน้ำให้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนพยายามปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตด้านการขับถ่ายให้มีอนามัยมากขึ้น

20 พฤศจิกายน : วันเด็กสากล (World Children’s Day)

ย้อนไปเมื่อปี 2497 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันเด็กสากล (World Children’s Day)” เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิด้านการมีส่วนร่วมของเด็ก อีกทั้งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการปรับปรุงสวัสดิภาพในชีวิตของเด็กทั่วโลก

21 พฤศจิกายน : วันโทรทัศน์โลก (World Television Day)

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 21 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันโทรทัศน์โลก (World Television Day)” สืบเนื่องจากการประชุม World Television Forum ที่สหประชาชาติ เมื่อปี 2539 ที่ต้องการให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความสำคัญและบทบาทของโทรทัศน์ ที่เคยมีคุณประโยชน์ต่อโลกมาหลายช่วงยุคสมัย

21 พฤศจิกายน 2326 : “โจเซฟ และ ฌาค มงต์กอลฟิเออร์” สร้างบอลลูนลมร้อนสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

“โจเซฟ และ ฌาค มงต์กอลฟิเออร์ (Joseph Michel and Jacques Etienne Montgolfier : The Montgolfier Brothers)” พี่น้องชาวฝรั่งเศส ได้สร้าง “บอลลูนลมร้อน (Hot-Air Balloon)” สำเร็จและได้บรรทุกคนขึ้นไปในอากาศเป็นครั้งแรก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยบินได้สูง 3,000 ฟุต ระยะทาง 16 กิโลเมตร เป็นเวลา 23 นาที และลงจอดอย่างปลอดภัย

บอลลูนของสองพี่น้องมงต์กอลฟิเออร์ (The Montgolfier Brothers) จึงเป็นอากาศยานแรกที่นำมนุษย์ขึ้นสู่ท้องฟ้า ก่อนที่พี่น้องตระกูลไรท์ (Wright Brothers) จะสร้างเครื่องบินได้สำเร็จ

21 พฤศจิกายน 2410 : “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” หนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตีพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรก

“หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” คือหนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และศาสนาอย่างทันสมัยที่สุด จัดพิมพ์โดย “เจ้าพระยาทิพากรวงษมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)” เหตุที่ท่านจัดทำหนังสือเล่มนี้ เพราะเห็นว่าตำราไทยสมัยนั้นไม่มีสาระแก่นสาร ไม่ทำให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อ รวมถึงความรู้ในหนังสือไม่ทันสมัย ท่านจึงรวบรวมเอาสิ่งที่ขณะนั้นยังไม่ทราบกันมาตีพิมพ์

นอกจากนี้ “เจ้าพระยาทิพากรวงษมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)” ยังนำเสนอแก่นของพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการลบล้างการโจมตีของหมอสอนศาสนาที่พยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในหมู่คนไทยและต่างชาติ และมีผู้สนใจนำบางตอนไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2413 โดยใช้ชื่อว่า “The Modern Buddhist (เดอะ โมเดิน บุดดิสท์)”

หนังสือเล่มนี้ ได้รับการยกย่องในต่างประเทศ ว่าเป็นหนังสือสำคัญที่ให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาและเกือบจะนับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่ได้มีการนำออกไปแปลและพิมพ์จำหน่ายในต่างประเทศด้วย

22 พฤศจิกายน 2506 : “จอห์น เอฟ. เคเนดี้” ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ถูกลอบสังหารเสียชีวิต

“จอห์น เอฟ. เคเนดี้ (John Federic Kennedy หรือ JFK.)” ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา เขาคือประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุด มีบทบาทสำคัญที่ประทับใจคนอเมริกัน คือยื่นคำขาดให้สหภาพโซเวียตถอนอาวุธนิวเคลียร์ออกไปจากประเทศคิวบาได้สำเร็จ

เขาถูกลอบสังหารด้วยกระสุนปืน ระหว่างการเยือนเมืองดัลลัส ในมลรัฐเท็กซัส ระหว่างทักทายประชาชนบนรถเปิดประทุน เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอีก 25 นาทีต่อมา

“จอห์น เอฟ. เคเนดี้ (John Federic Kennedy หรือ JFK.)” เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2503 และได้เป็นประธานาธิบดีที่หนุ่มที่สุดของสหรัฐอเมริกา ด้วยวัยเพียง 43 ปี และเป็นคริสตังคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ เขาบริหารประเทศด้วยพลังหนุ่ม และมองโลกในแง่ดี อีกทั้งเขาคือเจ้าของวาทะที่เปี่ยมไปด้วยจิตสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบของพลเมือง

จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน

แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ

25 พฤศจิกายน : วันประถมศึกษาแห่งชาติ

วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีต่อการศึกษาของไทย

เนื่องจากทั้งสองพระองค์ทรงวางรากฐานให้กับการศึกษาของชาติ ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษา และพระราชทานตราพระราชบัญญัติด้านการประถมศึกษาเอาไว้ ทำให้เกิดเสรีภาพทางการศึกษา และเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย จวบจนถึงทุกวันนี้

25 พฤศจิกายน : วันวชิราวุธ (วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2424 ภายในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทรงมีคุณูปการต่อประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งด้านการคมนาคม การแพทย์และสาธารณสุข ด้านการปกครอง กิจการเสือป่าและลูกเสือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปและวัฒนธรรมไทย ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์

ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย 27 มีนาคม 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการช่างจากกระทรวงโยธาธิการ และกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ มารวมเป็นกรมใหม่ พระราชทานนามว่า “กรมศิลปากร”

ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ 1 พฤษภาคม 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ต่อมาทรงจัดตั้ง “กองลูกเสือ” ขึ้นในไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ถือเป็นประเทศที่สามของโลก ต่อจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ด้านการปกครอง 22 มีนาคม 2455 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” ให้คนไทยมีชื่อตัว-ชื่อสกุล สามารถจัดทำทะเบียนคนเกิด-ตาย และจดทะเบียนสมรสได้

ด้านการปกครอง 21 กรกฎาคม 2461 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ดุสิตธานี” เมืองจำลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดัดแปลงจากธรรมนูญการปกครองเทศบาลของอังกฤษ โดยพระองค์และข้าราชบริพารทดลองเป็นพลเมืองของดุสิตธานี

ด้านการศึกษา 1 กันยายน 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464” เด็กที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถม ให้สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาภาคบังคับของไทย

ด้านการแพทย์ 27 พฤศจิกายน 2461 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กรมสาธารณสุข” มุ่งเน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขอนามัยของประชาชน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสาธารณสุขยุคใหม่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระอันตะ (ลำไส้) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 เวลา 01.45 น. ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สิริพระชนมายุได้ 44 พรรษา

ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” หรือ “วันวชิราวุธ” และจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์บริเวณหน้าสวนลุมพินี กทม. เป็นประจำทุกปี

25 พฤศจิกายน : วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)” จาก 2 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์สังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นสตรีชาวโดมินิกัน 3 คน คือ แพทริเซีย มาเรีย และมิเนอร์วา ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2504 จากเหตุผลทางการเมือง และเหตุสังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา จำนวน 14 คน ในปี 2534

เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้กลุ่มผู้ชายกว่า 1,000,000 คน ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงรณรงค์ให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ หมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ

27 พฤศจิกายน : วันสาธารณสุขแห่งชาติ

วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันสาธารณสุขแห่งชาติ” สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “กรมสาธารณสุข” โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร (พระยศในขณะนั้น) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461

นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า “สาธารณสุข” และทำให้กรมสาธารณสุข อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมา จนถึงปี 2485 ก็ได้มีการสถาปนาขึ้นเป็น “กระทรวงสาธารณสุข” โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา “กระทรวงสาธารณสุข”

ใน “วันสาธารณสุขแห่งชาติ” จะมีการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการสาธารณสุข ตลอดจนการจัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับสาธารณสุขให้แก่ประชาชน

29 พฤศจิกายน : Black Friday

“Black Friday” คือเทศกาลช้อปปิงประจำปี ที่ร้านค้าต่าง ๆ จะออกโปรโมชันลดราคาสินค้าเกือบทุกประเภท และจะเปิดให้บริการเร็วกว่าปกติ โดยจัดขึ้นทุกวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี หลังจากวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางครั้งเทศกาลนี้ก็จะจัดยาวไปจนถึงวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วย

ความเป็นมาของเทศกาล “Black Friday” หรือในชื่อไทยว่า “ศุกร์มืดมน” เริ่มมาจากเมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังจากวันขอบคุณพระเจ้าของทุกปี จะมีประชาชนออกมาช้อปปิงกันอย่างคับคั่ง จนบางครั้งถึงขั้นเกิดการจราจล ทำให้ตำรวจหลายนายเรียกวันนี้ว่า “Black Friday” เพราะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อระงับเหตุต่าง ๆ ในเมือง เรื่องราวนี้กลายเป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนกล่าวถึง ในที่สุดจึงถูกเรียกว่า “Black Friday”

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day 

▶️ 2566

▶️ 2567

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBSThai PBS Digital MediaThai PBS On This Dayไทยพีบีเอสวันสำคัญวันนี้ในอดีตHello Kittyเฮลโล คิตตี้วันแมงกะพรุนโลกWorld Jellyfish Dayไลก้าLeikaสุนัขอวกาศตัวแรกยานมารีเนอร์ 10Mariner 10ยานเซอร์เวเยอร์ 6Surveyor 6วันผังเมืองโลกWorld Town Planning Dayวันคนพิการแห่งชาติวันคนโสดSingles’ Dayพระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งอนันตสมาคมยัสเซอร์ อาราฟัตYasser ArafatวันเบาหวานโลกWorld Diabetes Dayวันพระบิดาแห่งฝนหลวงโครงการฝนหลวงเลือกตั้งครั้งแรกในไทยวันลอยกระทงคทาจอมพลMouseเมาส์ตัวแรกของโลกMickey Mouseมิกกี้ เมาส์วันส้วมโลกWorld Toilet Dayวันเด็กสากลWorld Children’s Dayวันโทรทัศน์โลกWorld Television Dayบอลลูนลมร้อนThe Montgolfier Brothersหนังสือแสดงกิจจานุกิจจอห์น เอฟ. เคเนดี้John Federic KennedyJFK.วันประถมศึกษาแห่งชาติวันวชิราวุธวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลวันสาธารณสุขแห่งชาติBlack Friday
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด