ถ้าพูดถึงศิลปินดูโอ้ที่มีผลงานเพลงดังหลายเพลงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา วง LIPTA ที่นำทีมโดย คัตโตะ- อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล และ แทน-ธารณ ลิปตพัลลภ ก็น่าจะเป็นอีกวงหนึ่งที่ต้องนึกถึง เพราะฝีมือการทำเพลงได้ทำให้พวกเขามีผลงานต่อเนื่อง และหลายเพลงได้กลายเป็นปรากฏการณ์ความฮิตด้วย
อย่างเช่นเพลง “ทักครับ” ที่พวกเขาปล่อยออกมาในปี พ.ศ. 2565 แล้วประสบความสำเร็จในแง่ยอดชมบนเว็บไซต์ YouTube และยอดฟังตามแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งการที่ LIPTA มีเพลงฮิตในวันที่อายุวงเข้าใกล้ปีที่ 20 ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาเป็นวงหนึ่งที่มีความสามารถในการทำผลงานได้โดดเด่นและปรับตัวได้เข้ากับทุกยุค
ที่ผ่านมานอกจากฝีมือในด้านการทำเพลงแล้ว อีกด้านหนึ่งของวง LIPTA คือการทำธุรกิจด้านคอนเทนต์ของคัตโตะและค่ายเพลง Kicks Records ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้พวกเขายืนหยัดในวงการบันเทิงได้อย่างประสบความสำเร็จ และการมารายการนักผจญเพลง Replay ครั้งนี้ ตัวของ คัตโตะ และ แทน ได้พา ข้าว-ปณิธิ เลิศอุดมธนา (ร้องนำ) และ ที-พิษณุ หทัยพัธลักษณ์ (ร้อง, กีตาร์) สมาชิกวง fellow fellow มาเล่าประสบการณ์การทำงานด้วย จนทำให้รายการนักผจญเพลง Replay ตอนนี้มีเรื่องราวและแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานที่น่าสนใจมาก
ประสบการณ์และการรู้จักเนื้องานเป็นสิ่งสำคัญของ “เจ้าของกิจการ”
การทำงานของ LIPTA นั้นมีความน่าสนใจตั้งแต่การทำงานค่าย เพราะพวกเขาเคยอยู่ค่าย LOVEiS เป็นเวลา 9 ปี ก่อนจะออกมาทำผลงานเพลง โดยตัวของแทนได้เล่าว่าการทำงานในรูปแบบการดูแลตัวเองไม่ใช่เรื่องยากในแง่มุมที่ว่าตัววง LIPTA เองเป็นวงที่ทำเพลงเองและคิดเรื่องมิวสิกวิดีโอเอง ซึ่งหลังจากที่ LIPTA ได้ทำงานในฐานะศิลปินอิสระหลายปี พวกเขาก็ได้เติบโตไปอีกขั้นและทำค่ายเพลง Kicks Records ของตัวเอง และต้องดูแลทั้งงานของ LIPTA กับศิลปินในสังกัดไปพร้อมกัน
สิ่งที่ทำให้ LIPTA สามารถทำงานได้ทุกขั้นตอน มาจากจุดเริ่มต้นของวงที่เริ่มจากการเรียนดนตรีและได้ใช้ความสามารถทางดนตรีในการทำเพลงแรก ๆ ของวง ซึ่งผลงานแรกของวงก็โดดเด่นจนได้เข้าชาร์ต Fat Radio และทำให้ บอย โกสิยพงษ์ ได้ชักชวนให้วง LIPTA เป็นศิลปินเบอร์แรก ๆ ในค่าย LOVEiS และได้เรียนรู้การทำงานเบื้องหลังเพิ่ม แต่ถ้าวง LIPTA ไม่ได้ผ่านประสบการณ์การทำงานด้วยตัวเองมาก่อน การทำงานของพวกเขาอาจจะไม่ราบรื่น และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เริ่มทำผลงานในฐานะศิลปินอิสระ
เพื่อนร่วมงานดีคือสิ่งที่ทุกธุรกิจตามหา
แม้ว่าจะเคยทำเพลงด้วยกันมาก่อน แต่ว่าหลาย ๆ ศิลปินที่เปิดค่ายเพลงนั้นก็ไม่ได้ทำกับเพื่อนร่วมวงดนตรีตัวเองเสมอไป แต่ว่าคัตโตะได้เล่าว่าเขาตัดสินใจเปิดค่ายเพลงกับแทนเพราะว่าที่ผ่านมาเขาสนุกกับการทำเพลงร่วมกับเพื่อนร่วมวง LIPTA อย่างแทนมาตลอด และมองว่าอยากทำงานกับแทนในโปรเจกต์อื่น ๆ ด้วย
พอมาถึงในวันที่ LIPTA ทำค่าย Kicks Records ศิลปินที่ตัวของคัตโตะ และ แทน เลือกมาก็คือคนที่แนวทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกับค่าย จนศิลปินที่พวกเขาปลุกปั้นอย่าง จีเนียส-โนวา มาคูก์เลีย, เบนท์-กิตติธัช พรดอนก่อ และ guncharlie หรือ กัน-เสฐพงษ์ เอวสุข มีผลงานที่เริ่มติดหูคนฟัง
และขณะเดียวกันวง fellow fellow ที่มีผลงานอยู่แล้วก็ได้ย้ายมาอยู่ Kicks Records หลังเคยร่วมงานกับ แทน LIPTA ในฐานะคนแต่งเพลงให้กับหลายศิลปินในวงการเพลงไทย ซึ่งเหตุผลที่ fellow fellow เลือกทำงานกับ Kicks Records ก็เป็นเพราะวิธีการทำงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน
โดยคัตโตะได้เผยว่าปัจจุบันนี้เขาก็เหมือนพ่อกับแม่ของศิลปิน ต้องช่วยเหลือทั้งการทำงานและขณะเดียวกันต้องทำงานตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องในค่าย และวันหนึ่งก็อยากให้ศิลปินในค่ายเข้ามามีส่วนในการบริหารด้วย
โดยนอกจากจะเล่าถึงการทำงานปัจจุบัน ตัวของคัตโตะ และ แทน ก็ได้ยกตัวอย่างการทำงานของค่าย LOVEiS ที่ผู้ก่อตั้งค่ายอย่าง บอย โกสิยพงษ์ ที่มักจะเลือกศิลปินที่วิธีการทำงานไปในทิศทางเดียวกันมาอยู่ในสังกัดด้วย ซึ่งเป็นอีกเครื่องยืนยันว่าการทำงานกับคนที่มีวิธีการทำงานใกล้เคียงกันนั้นเป็นอีกหนึ่งหลักการที่หลายค่ายเพลงใช้ในการทำงานกับการขยายธุรกิจ และน่าจะเป็นแนวคิดที่ใช้กับหลาย ๆ ธุรกิจเช่นกัน
การเป็นตัวเองให้ดีที่สุด คือจุดเริ่มต้นความสำเร็จ
เมื่อวง fellow fellow มาร่วมพูดคุยในรายการนักผจญเพลง Replay ก็มีอีกประเด็นที่น่าสนใจที่ถูกเล่าอย่างเรื่องการโปรโมตศิลปิน เพราะในยุคนี้ตัวของศิลปินต้องทำงานเพิ่มขึ้นในพาร์ทการเสนอตัวตนและโปรโมตผลงานให้เป็นที่รู้จักเนื่องจากสื่อได้มีการเติบโต โดยแทนได้แนะนำในรายการว่าศิลปินควรจะเน้นไปที่จุดเด่นของตัวเองและหาคนมาช่วยในงานที่ไม่ถนัด รวมถึงต้องพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองขาดไปพร้อมกันแบบไม่ยึดติดความสำเร็จในอดีต
พร้อมยกตัวอย่างของ fellow fellow ที่ลุกขึ้นมาเล่นดนตรีและลงคลิปการแสดงสด รวมถึงเล่นดนตรีโชว์แล้วถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการทำงานที่ตัวเองถนัดกับเทรนด์ธุรกิจออนไลน์ของช่วงปี พ.ศ. 2563-2566 ที่ศิลปินหลาย ๆ คนหันมาจริงจังกับการโปรโมตงานตัวเองในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และวง fellow fellow ก็ทำสิ่งนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยทางวงเล่าว่าในบางสัปดาห์พวกเขาลงวิดีโอการร้องเพลงเล่นดนตรี 3 คลิป
โดยข้าวกับทีในฐานะสมาชิกวง fellow fellow ได้เล่าพร้อมสรุปว่าการลงคลิปการร้องเพลงเล่นดนตรีอย่างสม่ำเสมอเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เพลง “ดาวหางฮัลเลย์” ประสบความสำเร็จ เพราะการร้องเพลงและเล่นดนตรีพร้อมลงวิดีโอบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้พวกเขามีฐานแฟนเพลงมากขึ้น ซึ่งใครที่ติดตาม fellow fellow ก็อาจจะสังเกตได้ว่าพวกเขาทำคลิปการแสดงเพลงตัวเองและเพลงคัฟเวอร์ออกมาให้เราได้ฟังกันอย่างสม่ำเสมอก่อนที่เพลง “ดาวหางฮัลเลย์” จะถูกปล่อยออกมาในที่สุด
บทสรุป
จากเรื่องราวของวง LIPTA และ fellow fellow ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการมีประสบการณ์การทำงานเบื้องหลัง และการเลือกเพื่อนร่วมงานหรือหุ้นส่วนการทำงานที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาตัวเองในทางที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง คือสิ่งที่ช่วยให้ศิลปินประสบความสำเร็จในการทำงาน หรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับวงการเพลง แต่อีกมุมหนึ่งแนวคิดที่ทั้งสองวงพูดถึงก็สามารถนำไปปรับใช้ได้กับสายอาชีพอื่นเช่นกัน จนเราเชื่อว่าใครที่ได้ชมการพูดคุยของ LIPTA และ fellow fellow ในรายการนักผจญเพลง Replay น่าจะได้แนวคิดดี ๆ เรื่องการทำงานแน่นอน
และนอกจากแนวคิดการทำงานแล้ว LIPTA กับ fellow fellow ยังนำบทเพลงสำคัญบนเส้นทางสายดนตรีของพวกเขามาแสดงสดพร้อมเรียบเรียงดนตรีด้วย โดยทุกคนสามารถฟังเพลงแบบสด ๆ และฟังแนวคิดการทำงานของทั้งสองศิลปินได้ทาง YouTube Thai PBS และเว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/SongHunterTV/episodes/102617