ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คุยกับ “เทพชัย หย่อง” 40 ปีชีวิตคนข่าว ในวันที่สื่อเปลี่ยนแปลง


Interview

23 ต.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

คุยกับ “เทพชัย หย่อง” 40 ปีชีวิตคนข่าว ในวันที่สื่อเปลี่ยนแปลง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1766

คุยกับ “เทพชัย หย่อง” 40 ปีชีวิตคนข่าว ในวันที่สื่อเปลี่ยนแปลง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เอ่ยชื่อ “เทพชัย หย่อง” ในแวดวงคนทำข่าว ต่างคุ้นเคยกับผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดี กว่า 40 ปีมาแล้ว ที่เทพชัยเดินทางอยู่บนถนนวิชาชีพสื่อ จนได้ชื่อถึงความเป็นสื่อมวลชนคุณภาพคนหนึ่งของวงการ

แม้ในวันที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กระแสออนไลน์เดินหน้าเข้ามาครองพื้นที่ “สื่อเดิม” แต่เราก็ยังพบเห็นเทพชัย ยังคงทำหน้าที่ “สื่อกระแสหลัก” ท่ามกลางสื่อเล็กสื่อน้อย และสื่อใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมามากมายนับไม่ถ้วน

อะไรที่ทำให้เขายังคงยืนหยัดและพร้อมก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ และล่าสุด เจ้าตัวร่วมเดินหน้านำพา “Thai PBS WORLD เว็บไซต์ข่าวภาคภาษาอังกฤษของสื่อ Thai PBS ด้วยการปรับปรุงโฉมเว็บไซต์ใหม่ นี่ถือเป็นวาระสำคัญเช่นกันในการ “เปลี่ยน” เพื่อเข้าสู่สื่อยุคใหม่อย่างเต็มตัว

เรามีโอกาสพูดคุยกับ “คนข่าวตัวจริง” ที่เดินทางผ่านห้วงเวลาการทำงานมายาวนาน สาระแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีเรื่องราวใดที่น่าสนใจบ้าง ไปติดตามกัน

มอง “ภูมิทัศน์สื่อ” ในวันนี้กับเทพชัย

เริ่มต้นการพูดคุย กับภูมิทัศน์สื่อยุคปัจจุบัน เทพชัยบอกว่า สื่อมีจำนวนมาก และสังคมมีทางเลือก แต่บางครั้ง จำนวนที่เยอะ ก็ทำเอาเลือกไม่ถูก

“ต้องยอมรับว่า คนในสังคมมีทางเลือกเยอะมาก จนเลือกไม่ค่อยถูกแล้วว่า จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งไหนบ้าง เมื่อก่อนคนอยากรู้ข่าวสาร ต้องไปเสาะแสวงหาเอง แต่ตอนนี้ข่าวสารวิ่งไปหาประชาชน หรือผู้บริโภคตลอดเวลา ทุก ๆ นาทีก็ว่าได้”

“ผมว่าตรงนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ข้อมูลสามารถเข้าถึงคนได้ตลอดเวลา แต่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ล้นบ่าแบบนี้ แน่นอนอย่างที่ทราบกัน มันก็มีข้อมูลที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพื่อหวังผลบางอย่าง ทั้งด้านการเมือง หรือการสร้างความรู้สึกโกรธแค้น”

เทพชัยบอกอีกว่า ด้วยความที่ข่าวสารมีจำนวนมาก แต่กลับกลายเป็นว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าวลวง ข่าวหลอก หรือข่าวสร้างอารมณ์ ซ้ำร้ายสิ่งที่นำเสนอในหน้าฟีดมือถือของแต่ละคน ก็เป็นเรื่องราวที่เขาสนใจแต่เพียงอย่างเดียว

“ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้คนนิยมเสพข้อมูลข่าวสารในรูปแบบสั้น กระชับ ตามสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ความเข้าใจที่มีต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างจำกัด แล้วส่วนใหญ่ยัเป็นข่าวที่เน้นเรื่องอารมณ์อีก นอกจากนี้ระบบที่นำเสนอข่าวสาร ยังนำเสนอสิ่งที่เขาอยากรู้แต่เพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก”

ทางออกของสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เทพชัยมองว่า สื่อกระแสหลักคือตัวแปรที่จะทำหน้าที่รายงานข้อมูลอย่างครอบคลุมและครบถ้วน รวมทั้งต้องถูกต้องตามหลักการทำงานของสื่อให้มากที่สุด 

“ที่ผ่านมาเคยมีการพูดถึงสื่อกระแสหลัก ว่ายังมีความจำเป็นอยู่ไหม ในวันที่ใครก็สามารถเป็นสื่อรายงานข้อมูลข่าวสารได้ ซึ่งผมคิดว่าสื่อกระแสหลักยังมีความจำเป็น”

“การมีแหล่งข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ที่เป็นองค์กรสื่อ ที่มีประวัติการทำงานที่ยาวนาน ที่มีบุคลากรที่ผ่านการอบรม และเข้าใจหลักการการทำสื่อ ยังมีความจำเป็นต่อสังคมอย่างมาก ในยุคที่ข้อมูลท่วมท้นแบบนี้"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สื่อกระแสหลักต้องมีบทบาทหน้าที่มากกว่ารายงานข้อมูลข่าวสารแต่เพียงอย่างเดียว ต้องสร้างความเข้าใจแก่คนในสังคม แล้วมีบทบาทในการต้านทานกับข่าวลือ ข่าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างกระแสบางอย่าง ผมว่านี่เป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก ที่ท้าทายสื่อกระแสหลัก

ไม่ว่าสิ่งใดจะเปลี่ยนแปลง แต่ “สื่อ” ต้องไม่เปลี่ยนความน่าเชื่อถือ

เทพชัยบอกว่า เมื่อสื่อกระแสหลักมีความจำเป็น เรื่องสำคัญที่สื่อเอง จำเป็นต้องยึดถือไว้ ไม่ว่าจะเกิดกระแสอะไรเปลี่ยนแปลงไปก็ตามที นั่นคือ ความน่าเชื่อถือ 

“คือถ้าจะมีคำสักคำที่เชื่อมโยงความเป็นสื่อกระแสหลักได้ ผมคิดว่ามันคือคำว่า ความน่าเชื่อถือ ส่วนเรื่องความเร็ว ความหวือหวานั้น ไม่ต้องแข่งกันหรอก เพราะมีคนแข่งกันเยอะพออยู่แล้ว สิ่งที่คนต้องการที่สุดคือ ข่าวที่อ่านแล้วเขาเชื่อว่ามันจริง มีเหตุมีผล คือนอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว ยังต้องการเสียงที่มีเหตุมีผลมากขึ้น”

“ทุกวันนี้มันมีแต่กระแสข่าวที่ทำให้คนชอบ หรือคนไม่ชอบ หรือทำให้เกลียดกัน แต่สิ่งสำคัญคือความมีเหตุมีผล สิ่งที่ทำให้คนฟังแล้วรู้สึกว่าต้องคิดให้มากขึ้น ต้องประมวลเหตุการณ์ให้มากขึ้น ซึ่งสื่อกระแสหลักอยู่ในฐานะที่ควรจะมีบทบาทนี้มากที่สุด”

อีกโจทย์สำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ เนื่องจากสื่อในวันนี้ ต้องอยู่รอดได้ด้วยธุรกิจ ด้วยเหตุผลสำคัญนี้ ส่งผลให้สื่อต้องมี “เงื่อนไข” ในการทำงานเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้เรื่องความน่าเชื่อถือถูกลดความสำคัญลงไป

“ผมคิดว่าคนคาดหวังต่อสื่อ มากกว่าแค่ให้มีการรายงานข้อมูลข่าวสาร แต่เขาต้องการให้สื่อเป็นปากเสียงแทนเขา รวมทั้งช่วยตรวจสอบสังคม ตรวจสอบการเมือง แต่สื่อจะทำอย่างนั้นได้ สื่อต้องปลอดจากผลประโยชน์ ในมุมกลับกัน ถ้าสื่อปลอดจากทางธุรกิจ ปลอดจากทางการเมือง ถามว่าจะอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เส้นความพอดีตรงนี้ เป็นโจทย์ท้าทาย”

ผมจึงคิดว่า สื่อที่ดี ต้องสร้างความสมดุลตรงนี้ให้ได้ ระหว่างความอยู่รอดทางธุรกิจ กับการมีบทบาทในการเป็นตัวแทนสังคม ในการถ่วงอำนาจ ในการตรวจสอบอำนาจทางการเมือง และอำนาจทางกลุ่มผลประโยชน์ด้วย

“สื่อที่ดี สามารถเป็นธุรกิจที่ดีได้ และในคราวเดียวกัน สังคมก็ต้องช่วยให้สื่อที่ดี อยู่รอดทางธุรกิจด้วยนะ ไม่ใช่เรียกร้องว่าสื่อต้องเป็นปากเสียงแทนประชาชน แต่ว่าโฆษณาไม่ลง ไปลงที่ที่มีคนดูเยอะ ๆ”

“ในมุมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าต้องมีหน้าที่ช่วยให้สื่อที่ดี ให้อยู่ได้ ไม่ใช่คอยจับผิด หรือคอยตรวจสอบว่าผิดกฎหมายข้อนั้นข้อนี้ ผมว่าเรื่องการกำกับดูแล สังคมวันนี้มีบทบาทค่อนข้างเยอะมาก เวลาคุณทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง มีคนพร้อมตรวจสอบ พร้อมโวยอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องการสนับสนุนเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าการจับผิด คุณควรจะสนับสนุนให้สื่อที่ดีอยู่ให้ได้”

เทพชัยกับภารกิจล่าสุด ปรับปรุงโฉม Thai PBS WORLD ใหม่

นอกจากจะยังคงทำหน้าที่สื่อ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อีกหนึ่งภารกิจของเทพชัยในวันนี้ คือการทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภาคภาษาอังกฤษ ในนาม Thai PBS WORLD โดยล่าสุด เขาและทีมงานได้ปรับปรุงเปลี่ยนโฉมเว็บไซต์ใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัย และตอบรับกับเทคโนโลยีด้านสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

“สิ่งที่เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงโฉมเว็บไซต์ Thai PBS WORLD ครั้งนี้ คือเรื่องการออกแบบ เป็นดีไซน์ที่เสริมจุดเด่นให้กับเว็บ มีการแบ่งเซกชันที่ชัดเจนขึ้น มีไฮไลต์ข่าวประจำวัน นอกจากนั้นยังมีคอลัมน์ที่ได้นักเขียนรับเชิญที่มากประสบการณ์ คนเหล่านี้จะมาถ่ายทอดเรื่องราว มุมมอง สาระประโยชน์ ที่เชื่อว่าที่อื่นคงไม่มีแน่นอน”

“นอกจากข่าว เรายังมีเซกชันอินโฟกราฟิก เซกชันแกลเลอรีภาพข่าวที่น่าสนใจ และโปรแกรมรายการดี ๆ ที่ผลิตขึ้น รวมทั้งมีบริการเสริม เช็กสภาพภูมิอากาศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาทองคำ ส่วนเสริมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้คนได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเขามากขึ้น ในอนาคตเราจะยังคงเสริมฟีเจอร์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ให้มากขึ้นอีก”

เทพชัยบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ Thai PBS WORLD ครั้งนี้ เขาต้องการให้มีความหลากหลาย เพื่อทำให้สื่อภาคภาษาอังกฤษของ Thai PBS มีเสน่ห์และสร้างฐานการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น

“เราอยากทำให้มันมีเสน่ห์มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของหน้าตาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเนื้อหาด้วย ที่เราอยากให้มีความหลากหลายขึ้น หลักการพื้นฐานของ Thai PBS WORLD คือการนำเรื่องราวเกี่ยวกับประทศไทย ในทุก ๆ ด้าน ไปสู่โลกภายนอก เพราะเราเชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลง หรือปรากฎการณ์ การพัฒนาประเทศไทย ในหลาย ๆ ด้าน เป็นสิ่งที่คนนอกประเทศไทยจะต้องได้รับรู้ด้วย”

เราคาดหวังว่า การปรับหน้าตา จะทำให้เรามีพื้นที่ที่จะสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ ได้มากยิ่งขึ้น ในรูปแบบที่มีเสน่ห์ขึ้น แล้วก็เข้าถึงฐานคนดู คนอ่าน ที่กว้างมากกว่าที่เป็นอยู่

หากเปรียบ Thai PBS WORLD เป็นคนสักคนหนึ่ง เทพชัยบอกว่า คือคนที่รอบรู้และมีประโยชน์

Thai PBS WORLD คือคนที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง คนที่แคร์สังคม และเป็นคนใฝ่รู้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นรอบโลก แล้วก็มีผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย ซึ่งแน่นอนว่า คนเหล่านี้ยังมีจำนวนไม่สูง อาจจะมีจำนวนที่ยังไม่เยอะ แต่เราเชื่อว่าอยู่ในฐานะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีได้”

40 ปีกับวิชาชีพสื่อมวลชน กับการก้าวเดินบนเส้นทางที่รักต่อไป

กว่า 40 ปีที่สั่งสมประสบการณ์บนเส้นทางความเป็นสื่อสารมวลชน เทพชัยบอกว่า เขาไม่เคยนึกเบื่อ กลับกัน ยังเป็นความสนุกที่ได้ทำงานที่รัก และได้ทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคมอีกด้วย

“ผมทำงานตั้งแต่อายุ 19 ตำแหน่งแรกของผมคือ นักพิสูจน์อักษร (ยิ้ม) ข้อดีของตำแหน่งนี้คือ ทำให้เรามีความละเอียด และจับผิดทุกอย่าง (หัวเราะ) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป็นนักข่าวที่ดี”

สำหรับผม อาชีพนักข่าว เป็นอาชีพที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามาทำงาน เหมือนชาวนาที่ตื่นเช้าไปทำนา เขาไม่คิดว่ามันเป็นงานหรอก แต่มันคือวิถีชีวิต

"อาชีพคนทำสื่อ เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใหม่ ๆ และเกี่ยวกับผู้คน ที่ไม่ซ้ำหน้ากันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าคนที่ชอบอาชีพนี้ จะรู้สึกว่านี่เป็นเสน่ห์ที่สำคัญมาก เพราะมันมีความไม่ซ้ำซาก ไม่จำเจ”

“แต่มันก็ต้องแลกกับเวลาส่วนตัวที่เหลือน้อยลงหน่อย (ยิ้ม) เพราะข่าวไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า จะมากี่โมง กี่ยาม มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และข่าวใหญ่ ๆ ก็มักจะเกิดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้น วันหยุดก็ต้องทำใจไว้เลย อย่าคิดว่าจะตื่นมากินกาแฟชิล ๆ เพราะเดี๋ยวเราก็มักจะได้เจอเรื่องตู้มต้ามขึ้นมาเสมอ (หัวเราะ)”

ในฐานะ “รุ่นพี่” ที่คลุกคลีในแวดวงข่าวมา 40 ปี เทพชัยมองว่า บรรยากาศคนทำสื่อทุกวันนี้มีความคึกคัก ขอเพียงแค่ให้ทุกคนตระหนักถึงวิชาชีพ และซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ทำ มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

“ในภาพรวมของวงการตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่มีคนมาทำหน้าที่สื่อสารเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น หลายสื่อทำหน้าที่ได้อย่างดี แม้ว่าในบางส่วนจะมีปัญหาในเรื่องของวิชาชีพ หรือความเข้าใจในหลักการการทำสื่อบ้าง”

ถ้าจะมีคำแนะนำ ต้องเข้าใจบทบาทของคนทำสื่อก่อนว่า เรามาทำสื่อเพื่อให้ผลอะไร ถ้ามาทำเพื่อจะหาเงิน หรือผลประโยชน์บางอย่าง ก็ไม่ควรจะเรียกตัวเองว่าคนทำสื่อ เรียกว่าเป็นอาชีพใช้สื่อหากิน

“ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำสื่อบนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักการที่ควรจะเป็น อาจจะแยกแยะไม่ออกถึงวิธีการทำงานของตัวเอง การใกล้ชิดกับแหล่งข่าว หรือการเป็นพวกเดียวกับแหล่งข่าว แล้วก็ไปรายงานข่าวที่เอียงข้าง เลือกข้างที่สร้างกระแสขึ้นมา มันก็ทำให้ภาพรวมของสื่อ ถูกมองในเชิงลบไปด้วย” 

“ทุกวันนี้เวลาคนด่าสื่อ เปิดดูสิ เขาไม่แยกแยะหรอกว่า สื่อไหนคือสื่อกระแสหลัก สื่อไหนคือสื่อใหม่ หรือแม้แต่เป็นสื่อปัจเจก เขาไม่รู้หรอก ตรงนี้ถึงย้อนกลับไปตอนต้นที่คุยว่า สื่อกระแสหลักมีความจำเป็น ในการทำให้มีความชัดเจนในการรายงานข่าวสาร การตรวจสอบแทนสังคม รวมทั้งมีความแตกต่างในวิธีการนำเสนอเนื้อหา คือต้องอิงกับหลักการของการทำสื่ออย่างถูกต้อง อย่างเป็นธรรม และน่าเชื่อถือ”

ปิดท้าย ถามเทพชัยว่า ระหว่าง “นักข่าวที่เก่ง” กับ “นักข่าวที่ดีมีจริยธรรม” แบบไหนจำเป็นมากกว่ากันในสื่อวันนี้ ?

“มันอาจไม่ต้องเลือกอย่างนั้นก็ได้ไหม (หัวเราะ) ผมว่ามันต้องผสมผสานกันมากกว่า คือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญทั้งสองอย่างนั่นแหละ เริ่มต้นต้องเป็นคนที่ดีก่อน ดีในความหมายที่ว่า เข้าใจหลักการการทำสื่อ ไม่ได้มุ่งเข้ามาทำสื่อเพื่อหวังที่จะได้ผลประโยชน์ ส่วนความเก่ง มันพัฒนาได้ แต่การเป็นคนดี มันต้องอยู่ที่ตัวเขาเอง เพราะฉะนั้น คุณเป็นคนดี แล้วก็พัฒนาความเก่งในวิชาชีพของตัวเองไปด้วย ผมว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด”

ผู้ชายคนนี้ยังคงเดินทางบนเส้นทาง “สื่อมวลชน” ต่อไป มากกว่าความรัก คือการยืนหยัดทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อมอบประสบการณ์ดี ๆ ให้กับ “คนรุ่นหลัง” ต่อไป...

  • ติดตามข่าวสารภาคภาษาอังกฤษ Thai PBS WORLD ได้ที่ www.thaipbsworld.com

ถ่ายภาพโดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เทพชัย หย่องข่าวนักข่าวสื่อThai PBS WORLD
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด