วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เป็นวันที่พรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่และเป็นพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลโดยได้ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด้วยมติเอกฉันท์ของตุลาการ ทั้ง 9 ท่าน และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิทางการเมืองทุกคนเป็นระยะเวลา 5 ปี
คำวินิจฉัยเพิกถอนสิทธินี้ แม้ไม่เป็นเอกฉันท์แต่มติ 6 ต่อ 3 เสียง เพียงพอที่จะทำให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน หมดสิทธิทางการเมืองในทันที ปรากฏในคำสั่งดังนี้
“คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2524...กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 จำนวน 111 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องตอบรับการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2549...”
ในวันที่มีคำวินิจฉัยนั้น พรรคไทยรักไทยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค และมีนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เป็นรักษาการเลขาธิการพรรค ถ้านับจากวันที่พรรคไทยรักไทยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 พรรคการเมืองนี้ก็อยู่มาได้ประมาณเกือบ 8 ปี และที่บอกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง
พรรคไทยรักไทยตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2541 ลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 ก็ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้มีการยุบพรรคการเมืองอื่นเข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อเป็นรัฐบาลครบ 4 ปี ได้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 ก็ชนะอย่างมากได้เสียงในสภาเกินกว่า 2 ใน 3 ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 และได้เป็นรัฐบาลแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองกลับไม่ดีนัก รัฐบาลถูกคัดค้านในสภาและถูกชุมนุมประท้วงนอกสภา จนนำไปสู่การที่รัฐบาลเสนอยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และมีเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 แต่การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนั้นถูกประท้วงจากพรรคฝ่ายค้านเดิมที่มีอยู่ 3 พรรคโดยการไม่ร่วมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง และต่อมามีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ แต่ยังไม่ทันจะมีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้ก็มีการยึดอำนาจโดยคณะทหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ส่วนการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทยนี้ก็มาจากเรื่องที่พรรคได้ทำในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นั่นเอง และในคำวินิจฉัยยุบพรรคของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญครั้งเดียวกันนี้ก็มีพรรคการเมืองอื่นอีก 2 พรรค คือพรรคพัฒนาชาติไทย กับพรรคแผ่นดินไทย ถูกยุบด้วย
ที่มา :
- เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน สถาบันพระปกเกล้า
- 30 พ.ค. 2550 ยุบพรรคไทยรักไทย ทำลายพรรคการเมืองประชาชน
- ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง