วันนี้ (17 เม.ย.2568) เครือข่ายสหกรณ์ฯ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย ได้แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร อยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท โดยปรับ ขึ้น 20 สตางค์ จากราคาก่อนหน้านี้อยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท หรือแผงละ 6 บาท มีผลวันนี้ เช่นเดียวกับ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี ที่แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละให้กับสมาชิกสหกรณ์ ที่ฟองละ 3.40 บาท มีผลวันนี้เช่นกัน
อ่านข่าว : ข่าวดี! รัฐบาลขยายเวลา "คุณสู้ เราช่วย" ถึง 30 เม.ย.นี้
นายปรีชา เอมอิ่ม นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงโรงเรียนปิดเทอมที่ทำให้ความต้องการบริโภคไข่ไก่น้อยลง แต่สาเหตุที่ไข่ไก่ปรับราคาขายขึ้น เกิดจากในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนทำให้แม่ไก่ออกไข่ได้น้อย ประกอบกับมีการปลดไก่ยืนกรงทำให้ไข่ไก่ไม่ล้นตลาด ราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาด การปรับขึ้นครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบปี แต่จะมีโอกาสปรับเพิ่มอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝั่งผู้ผลิตไข่ไก่จะพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขึ้นราคาไข่ไก่ก่อนหน้านี้ มีการประกาศขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ในวันเดียวกันนี้เมื่อปี 2567 (17 เม.ย.) โดยเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด
ประกาศปรับราคาขึ้น ฟองละ 20 สตางค์ จาก 3.40 เป็น 3.60 บาท หรือแผงละ 6 บาท มีผล 17 เม.ย.2567
อ่านข่าว : 17 เม.ย.นี้ “ไข่ไก่” ปรับราคาแผงละ 6 บาท

ผู้เลี้ยงโคเนื้อเตรียมยื่นค้านนำเข้าจากสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทยจะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงโคจาก 60 กลุ่มทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ คัดค้านนโยบายการเปิดนำเข้าเนื้อโคและเครื่องในโคจากสหรัฐฯ หวั่นกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 1,400,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ
จากที่ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาราคาโคตกต่ำจากการแข่งขันในตลาด โดยเคยได้รับผลกระทบมาแล้วจากการนำเข้าโคตามข้อตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวลด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ซึ่งสารดังกล่าวจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามข้อมูลทางวิชาการ หากมีการนำเข้าเนื้อจากสหรัฐฯ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคภายในประเทศ และส่งผลกระทบต่อการส่งออกโคและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรฐาน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และจีน
อ่านข่าว : ปิดตำนานตลกดัง "อาฉี เสียงหล่อ" เจ้าของวลี "บัดซบจริงๆ เลย"
ปชช.ทยอยกลับจากสงกรานต์ "หมอชิต 2" หนาแน่น - พบปัญหาแท็กซี่ขาดระยะ