4 สาเหตุด้านสรีรวิทยา “ผู้สูงอายุ” กับภาวะอยากอาหารลดลง


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

22 ต.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

4 สาเหตุด้านสรีรวิทยา “ผู้สูงอายุ” กับภาวะอยากอาหารลดลง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1758

4 สาเหตุด้านสรีรวิทยา “ผู้สูงอายุ” กับภาวะอยากอาหารลดลง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ผู้สูงอายุ” จำนวนไม่น้อยอาจจะเคยหรือกำลังเผชิญกับอาการเบื่อไม่อยากรับประทานอาหารและรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม ซึ่งอาการแสดงดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารลดลง น้ำหนักลด และเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวลในผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสาเหตุการนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมากมาย เช่น ภาวะเสื่อมถอยของอวัยวะและสมรรถภาพของบุคคล การหกล้ม แผลกดทับ แผลหายช้า การอยู่ในโรงพยาบาลที่ยาวนานขึ้น ภาวะเนื้อกระดูกอ่อน กระดูกพรุน ข้อสะโพกหัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น และหากภาวะขาดสารอาหารไม่ได้รับการแก้ไข้ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้

old-woman-looking-away

รู้จักสาเหตุของความอยากอาหารที่ลดลงใน “ผู้สูงอายุ”

สำหรับสาเหตุของความอยากอาหารที่ลดลงใน “ผู้สูงอายุ” นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้โดยเน้นไปที่ปัจจัยทางด้านสรีรวิทยาของร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะสูงวัย ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราทุกคน การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาดังกล่าว ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร การทำงานของฮอร์โมน การรับความรู้สึก รวมถึงความต้องการพลังงานของร่างกายที่ลดลง

1. “ผู้สูงอายุ” กับการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร

พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ร่างกายจะมีการผลิตน้ำลายที่ลดลง ส่งผลให้การบดเคี้ยวอาหารและการกลืนลำบากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาด้านสุขภาพฟัน ช่องปาก การใส่ฟันปลอม ล้วนส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร และการรับรู้รสชาติของอาหารได้ทั้งสิ้น การบีบตัวของกระเพาะจนอาหารออกไปยังลำไส้เล็กจนหมดเกลี้ยงใช้ระยะเวลานานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกอิ่มนานขึ้น แน่นท้อง นำไปสู่ความไม่อยากอาหาร ภาวะท้องผูกเป็นอีกปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากอุจจาระที่สะสมอยู่ในลำไส้ใหญ่นั้นจะไปดันให้กระเพาะเกิดการยืดขยาย รวมถึงส่งเสริมให้แบคทีเรียสามารถย่อยของเสียได้นานขึ้น ก่อให้เกิดแก๊สอันเป็นสาเหตุของท้องอืด และปวดท้อง

2. “ผู้สูงอายุ” กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

พบว่าฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหารมีปริมาณและการทำงานที่ลดลงเมื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัย โดยในภาวะทั่วไป ช่วงวัยอื่น ๆ ในช่วงอดอาหารฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในวัยสูงอายุกลับมีระดับที่ลดลง เช่นเดียวกับฮอร์โมนที่ลดความอยากอาหาร และทำให้รู้สึกอิ่ม  เช่น ฮอร์โมน CCK (cholecystokinin) และ ฮอร์โมนเลปติน (leptin) ซึ่งโดยปกติจะสูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร กลับมีระดับตั้งต้นที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความอยากอาหารที่ลดลง แม้จะเป็นช่วงที่ร่างกายอดอาหาร

elderly-man-drinking-tea

3. “ผู้สูงอายุ” กับการเปลี่ยนแปลงของระบบรับความรู้สึก

รสชาติ กลิ่น การมองเห็น ล้วนแต่เป็นระบบรับความรู้สึกที่ช่วยให้มนุษย์เราเพลิดเพลินไปกับการรับประทานอาหาร การรับความรู้สึกที่ลดลงเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะสูงวัย การรับกลิ่นที่ลดลงเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทที่เสื่อมถอย และการผลิตสารคัดหลั่งในโพรงจมูกที่มีปริมาณลดลง ส่งผลให้การละลายของโมเลกุลกลิ่น รวมถึงการรับรู้ของตัวรับกลิ่นแย่ลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุจะมีการรับรสเค็มและรสหวานที่แย่ลง อาจทำให้การปรุงอาหารมีการเติมเกลือและน้ำตาลเพิ่มอาจขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใช้อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

4. “ผู้สูงอายุ” กับการเปลี่ยนแปลงความต้องการพลังงานของร่างกาย

ความต้องการพลังงานของร่างกายจะขึ้นกับอัตราการเผาผลาญพื้นฐานของร่างกาย การสร้างความร้อนจากอาหาร รวมถึงการสร้างความร้อนจากกิจกรรม เป็นต้น พบว่าในภาวะสูงวัยจะมีการใช้พลังงานที่ลดลง เนื่องจากร่างกายมีการลดลงของมวลไขมัน และมวลกล้ามเนื้อ รวมถึงการทำกิจกรรมทางกายที่ลดลง ร่างกายจึงมีความต้องการพลังงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานของร่างกายจะแตกต่างกันไปขึ้นกับปริมาณของสารชีวโมเลกุลอันเป็นองค์ประกอบของร่างกาย และวิถีทางการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลร่วมด้วย

นอกจากปัจจัยทางสรีรวิทยาที่กล่าวมาแล้วนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยากอาหารที่ลดลง ยังมีอีกหลากหลายปัจจัย อาทิเช่น สภาพจิตใจ ภาวะโรคภัย รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยา การรู้ถึงสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาให้ตรงจุด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มความอยากอาหารของผู้สูงอายุได้


ติดตามประเด็นสังคมสูงวัย กับความมั่นคงหลังเกษียณ กับ #TheVisual : Series Retirement Crisis 4 EP.

EP.1 ทางรอดวิกฤต “สังคมสูงวัย

EP.2 ขยายอายุเกษียณ แก้ปัญหาสังคมสูงวัยไทย

EP.3 โจทย์ท้าทาย สุขภาพจิตผู้สูงอายุไทย ใครดูแล

EP.4 คุย 3 ผู้สูงอายุ รอยยิ้มไม่เท่ากัน เพราะสวัสดิการไม่เท่าเทียม


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, pmc.ncbi.nlm.nih, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ผู้สูงอายุภาวะอยากอาหารลดลงอยากอาหารลดลงเบื่ออาหารวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้) เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด