อย่าหลงเชื่อ ! คลิปเฮอร์ริเคนมิลตัน พบเป็นคลิปคนละที่


Verify

17 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

อย่าหลงเชื่อ ! คลิปเฮอร์ริเคนมิลตัน พบเป็นคลิปคนละที่

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1739

อย่าหลงเชื่อ ! คลิปเฮอร์ริเคนมิลตัน พบเป็นคลิปคนละที่
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอรวมคลิปหลายเหตุการณ์ โดยอ้างว่าเป็นวิดีโอที่แสดงอิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน ที่พัดถล่มรัฐฟลอริดาในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ เนื่องจากคลิปส่วนใหญ่เป็นคลิปเก่าและไม่มีความเกี่ยวข้องกับเฮอร์ริเคนมิลตันในเดือนตุลาคม 2567 นอกจากนี้ยังมีคลิปหนึ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น (CGI) ด้วย

"วีดีโอเพิ่มเติมการทำลายล้างของพายุเฮอริเคน 'มิลตัน' ทางตอนใต้ของฟลอริดา พายุทอร์นาโดกำลังก่อตัวทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอความยาว 1 นาที ที่รวบรวมคลิปจำนวนหลายคลิปเข้าด้วยกัน โดยเป็นวิดีโอที่แสดงผลกระทบของพายุในสถานที่ต่าง ๆ

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์โดยบัญชี X ที่เคยเผยแพร่ข้อมูลเท็จมาก่อน เช่น ที่นี่ และ นี่

โพสต์ที่แชร์คลิปเดียวกันนี้พร้อมคำกล่าวอ้างภาษาไทยยังปรากฏที่นี่ และ นี่ และยังมีโพสต์ภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่

รัฐฟลอริดาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากพายุเฮอร์ริเคนมิลตันที่พัดถล่มขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 เฮอร์ริเคนมิลตันมีความรุนแรงระดับ 3 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย และยังทำให้ประชาชนอีกหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังเฮอร์ริเคนเฮลีนพัดถล่มพื้นที่ดังกล่าวไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม คลิปทั้งหมดในวิดีโอรวมภาพเหตุการณ์นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเฮอร์ริเคนมิลตัน และยังมีคลิปหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์ (CGI)

คลิปที่สร้างภาพจากคอมพิวเตอร์

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่าคลิปแรกนั้นปรากฏในช่องยูทูบของบัญชีที่มักเผยแพร่ภาพ CGI ของพายุทอร์นาโด โดยเผยแพร่คลิปดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายในวิดีโอระบุว่าคลิปทั้งหมด "เกิดขึ้นในสถานที่สมมติที่ชื่อว่าหุบเขาลี้ลับ"

ช่องดังกล่าวยังระบุด้วยว่า "คลิปทอร์นาโดทั้งหมดเป็นคลิป CGI ที่ฉันสร้างขึ้นด้วยตัวเอง"

รัฐแคนซัส ปี 2565

คลิปที่ 2 เป็นคลิปพายุทอร์นาโดที่ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวปี 2565

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคลิปเดียวกัน และพบว่าคลิปดังกล่าวมาจากเหตุการณ์พายุทอร์นาโดถล่มเมืองแอนโดเวอร์ รัฐแคนซัส ในเดือนเมษายน 2565

นิวยอร์กในเดือนกรกฎาคม 2567

ส่วนคลิปที่ 3 นั้นแสดงให้เห็นหลังคาบ้านที่ถูกทำลายระหว่างเกิดพายุทอร์นาโด ในเมืองอาร์คไรต์ รัฐนิวยอร์ก เดือนกรกฎาคม 2567

รายงานข่าวท้องถิ่นระบุว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดจากพายุทอร์นาโดลูกหนึ่ง โดยคลิปวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวท้องถิ่นหลายแห่งเช่นที่นี่ และ นี่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

รัฐจอร์เจีย ปี 2565

คลิปที่ 4 แสดงภาพลมแรงที่พัดเศษใบไม้และวัตถุอื่น ๆ ตรงระเบียงบ้านแห่งหนึ่ง โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองเอลลาเบลล์ รัฐจอร์เจีย ตั้งแต่ปี 2565

ผู้ที่ถ่ายคลิปดังกล่าวคือสมาชิกของสโมสรกอล์ฟแห่งหนึ่ง ก่อนคลิปของเขาจะถูกผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นำไปสลับด้านและแชร์ต่อพร้อมคำกล่าวอ้างบิดเบือน

AFP เคยตรวจสอบคลิปเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว สามารถอ่านรายงานได้ที่นี่

รัฐหลุยเซียนา ปี 2564

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่าคลิปที่ 5 นั้นเป็นคลิปเก่าปี 2564

คำบรรยายในโพสต์ติ๊กตอกที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม 2564 ระบุว่า คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นพายุเฮอร์ริเคนไอดาพัดถล่มรัฐหลุยเซียนา (ลิงก์บันทึก)

รัฐอลาบามา เดือนสิงหาคม 2567

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่า คลิปที่ 6 แสดงเหตุการณ์ในเมืองออเบิร์น รัฐแอละแบมา ก่อนจะถูกสลับด้านและแชร์ต่อพร้อมคำกล่าวอ้างบิดเบือน

เจมส์ สแปนน์ นักอุตุนิยมวิทยาของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในรัฐแอละแบมา ได้เผยแพร่คลิปนี้ใน X และช่องทางอื่น ๆ ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยเขียนคำบรรยายว่า "ลมแรงโดยมีอิทธิพลมาจากพายุที่พัดผ่านเมืองออเบิร์น … วิดีโอจากรัสติน โรเบิร์ตส์" (ลิงก์บันทึก)

รัฐฟลอริดา ปี 2565

การค้นหาภาพย้อนหลังและค้นหาด้วยคำสำคัญพบว่า คลิปที่ 7 นั้นถูกเผยแพร่ครั้งแรกในช่องยูทูบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 (ลิงก์บันทึก)

คำอธิบายระบุว่า เกิดพายุโซนร้อนนิโคล ซึ่งส่งผลให้เกิดลมแรงและฝนตกกระหน่ำในเมืองเซนต์ออกัสติน รัฐฟลอริดา

รัฐฟลอริดา ปี 2566

ส่วนคลิปที่ 8 แสดงเหตุการณ์ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในเมืองเพอร์รี รัฐฟลอริดา ขณะเกิดพายุเฮอร์ริเคนไอดาในเดือนสิงหาคม 2566

การค้นหาภาพแบบย้อนหลังพบว่า เดวิด แบ็กซ์เตอร์ที่ 3 ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของเว็บไซต์ StormChasingVideo.com ได้เผยแพร่คลิปต้นฉบับลงในอินสตาแกรมและ X (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนที่นี่

ข้อมูลจาก AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

พายุข่าวปลอมหลอกลวงโดนหลอกคลิปตัดต่อเพจปลอมข้อมูลเท็จ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด