“หมอลำ” แนวดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งประกอบไปด้วยท่วงทำนอง เนื้อหา จังหวะที่โดดเด่น แสดงความเป็นตัวตนของแผ่นดินอีสานได้อย่างชัดเจน ซึ่งเพลงหมอลำถือเป็นหนึ่งในมรดกชิ้นสำคัญของดนตรีพื้นบ้านของภาคอีสาน ที่อยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันเพลงหมอลำได้ถูกประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น มีการปรับตัวเพื่อให้คนฟังเข้าถึงได้ง่าย นั่นจึงทำให้ทุกวันนี้แนวเพลงหมอลำยังคงได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วบ้านทั่วเมือง
รายการนักผจญเพลง REPLAY ในตอนที่มีชื่อว่า “หมอลำ ชีวิต จิตวิญญาณ” ได้เชิญศิลปินที่มีความเป็นหมอลำโดยแท้จริงอย่าง ‘แม่นกน้อย อุไรพร’ มาร่วมแชร์เรื่องราวที่เป็นประสบการณ์ตรงของแม่นกน้อย กับความเป็นหมอลำมาแล้วกว่าครึ่งชีวิต
ซึ่งการที่จะมีเส้นทางที่ยาวนาน และยังคงเป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้ นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย การสืบสานศิลปะพื้นบ้านของภาคอีสานอย่างเพลงหมอลำนั้น มีความพิเศษอย่างไร ถึงทำให้แม่นกน้อยยืนหยัดอยู่ในวงการนี้ได้อย่างยาวนาน บทความนี้จะบอกเล่าให้ทุกคนได้รับรู้ไปพร้อม ๆ กัน
“หมอลำ” เพลงพื้นบ้านที่เป็นรากเหง้าของคนอีสาน
แม่นกน้อย อุไรพร ได้แชร์เรื่องราวความเป็นหมอลำเอาไว้ว่า ความเป็นหมอลำนั้นจะมีความโดดเด่นในด้านทำนอง ที่แค่ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีขึ้นมา ก็รับรู้ได้เลยว่านี่คือเพลงหมอลำ ซึ่งเอกลักษณ์นั้นก็ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง พิณ, แคน, โหวต เป็นหลัก และที่สำคัญคือเนื้อหาในเพลง ที่ส่วนใหญ่จะพูดถึงวิถีชีวิต ท้องไร่ท้องนา รวมไปถึงความรักความผูกพันของผู้คนในชนบทของแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน
โดยหมอลำก็จะแบ่งแยกประเภทแตกต่างกันออกไปอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น “หมอลำพื้น”, “หมอลำกลอน”, “หมอลำกลอนประยุกต์”, “หมอลำซิ่ง”, “หมอลำเพลิน”, “หมอลำเต้ย” รวมไปถึงประเภทอื่น ๆ ที่แตกแขนงย่อยออกมาอีกมากมาย ให้ผู้คนได้ศึกษา แต่ละประเภทก็จะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป เช่น “หมอลำพื้น” จะเป็นแนวหมอลำแบบโบราณ ต่อมาจะเป็น “หมอลำกลอน” ซึ่งจังหวะดนตรี จะเริ่มมีแคนเข้ามา บวกกับมีการร้องเป็นคู่ ที่เหมือนกับการต่อกลอนกันซึ่งกันและกัน
และอีกประเภทที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ “หมอลำซิ่ง” แนวดนตรีรวมไปถึงจังหวะจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการนำเครื่องดนตรีมาใส่เข้ามาประกอบแบบเป็นชุดมากยิ่งขึ้น ทำให้แนวดนตรีแนวนี้มีจังหวะที่สนุกสนาน ฟังแล้ว ต้องโยกตามกันอย่างแน่นอน ซึ่งตัวของแม่นกน้อย จะเป็นหมอลำประยุกต์กับดนตรีสากล ซึ่งจะมีสำเนียงที่เฉพาะตัวในแบบของแม่นกน้อยนั่นเอง
“หมอลำ” แนวดนตรีที่เข้าได้กับทุกแนวเพลง
เพลงหมอลำ ถือเป็นเสียงดนตรีที่มีความวิเศษตรงที่ว่า แม้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ก็ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ว่าแนวเพลงหมอลำจะถูกนำไปผสมกับดนตรีแนวไหน ก็ให้อรรถรสที่ดีให้กับคนฟังได้อยู่เสมอ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนก็คงหนีไม่พ้นเพลงดังอย่าง “คิดฮอด” เพลงของวงร็อกระดับแถวหน้าของประเทศอย่างวง Bodyslam ซึ่งได้ “พี่นาง-ศิริพร อำไพพงษ์” มาร่วมแจมความเป็นหมอลำลงไปในเพลงนี้ด้วย ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเพลงนี้เป็นกระแสโด่งดังไปทั่วประเทศ
หรือแม้แต่เพลง “อย่าขอหมอลำ” ของศิลปินอย่าง “พี่ต้อย หมวกแดง” เพลงหมอลำจังหวะสนุก ๆ ที่มีการผสมท่อน Rap เข้าไปประกอบด้วย จนทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมจากคนฟังเป็นอย่างดี และไม่ว่าจะนำเพลงนี้ไปร้องหรือเล่นที่ไหน รับประกันได้เลยว่าทุกคนต้องสนุกนานไปกับเพลงนี้อย่างแน่นอน
วิวัฒนาการของเพลงหมอลำ ที่ทำให้ยังคงเป็นตำนาน
จากวิวัฒนาการของเพลงหมอลำ ที่มักจะมีการปรับตัวให้เข้าเข้าสู่ดนตรียุคใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้หมอลำเป็นแนวเพลงที่ไม่ได้เข้าถึงยาก คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้เพลงหมอลำยังคงไม่หายจากวงการ แต่ถึงแม้ว่าจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นนักร้องหมอลำได้ เพราะบุคคลที่จะมาเป็นนักร้องหมอลำนั้น ต้องมีความจำที่ดีและมีไหวพริบ
ผู้ที่จะเป็นหมอลำได้นั้นต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ไม่ใช่ใครจะมาร้องก็ได้ ซึ่งเราก็ได้มีตัวอย่างของหมอลำที่เป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นหลัง ๆ ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ “แม่นกน้อย อุไรพร” ซึ่งแม่นกน้อยไม่เพียงแต่เป็นนักร้องหมอลำเพื่อเลี้ยงชีพตนเองเท่านั้น แต่แม่นกน้อยได้บอกไว้ว่า ความเป็นหมอลำคือ “จิตวิญญาณ” ที่แม่นกน้อยตั้งใจที่จะสืบสาน และสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านของภาคอีสาน เพื่อไม่ให้บทเพลงหมอลำสูญหายไป
ซึ่งทุกวันนี้ครอบครัวเสียงอีสานของแม่นกน้อย อุไรพร ได้มีสมาชิกมากกว่าร้อยชีวิตที่แฟน ๆ ต่างให้การยอมรับ นั่นได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า เพลงหมอลำจะอยู่คู่กับเมืองไทย และยังคงเป็นตำนานตราบจนชั่วลูกชั่วหลานอย่างแน่นอน
ทุกคนสามารถไปติดตามเรื่องราวของหมอลำแบบเต็ม ๆ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่แม่นกน้อย อุไรพร เท่านั้น แต่ยังมีศิลปินท่านอื่น ๆ ที่ได้มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของเพลงหมอลำ ไม่ว่าจะเป็น “ต้อย หมวกแดง” รวมไปหมอลำรุ่นใหม่อย่าง “ลำเพลิน วงศกร” ซึ่งสามารถดูได้ในตอนที่มีชื่อว่า “หมอลำ ชีวิต จิตวิญญาณ” ติดตามชมได้ทาง YouTube Thai PBS และ เว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/SongHunterTV/episodes/104281