“ดวงจันทร์” ที่เราเห็นอยู่บนท้องฟ้าทุกคืน เมื่อเรามองเห็นแล้วมันมีสีที่ขาวนวล บ้างก็มีสีออกเหลืองนวลตา ซึ่งเมื่อเราเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์กลับมาก็กลับพบว่าดินดวงจันทร์มีสีดำ แล้วสรุปดวงจันทร์บริวารของเรามีสีอะไรกันแน่
คำตอบของเรื่องนี้อาจจะตอบได้ว่าดวงจันทร์จริง ๆ มีสีเทาออกโทนไปทางสีดำ เพราะทั้งตัวอย่างดินดวงจันทร์ที่ถูกเก็บมาจากทั้งฝั่งอเมริกาในโครงการอะพอลโล จากฝั่งโซเวียต และฝั่งจีน ก็ล้วนพบว่าตัวอย่างดินดวงจันทร์นั้นมีสีที่ค่อนข้างเทาเข้มและดำเนื่องมาจากมีส่วนประกอบหลักคือ “บะซอลต์” (Basalt) และ “เรโกลิธ” (Regolith) ที่มีสีเข้ม
ดวงจันทร์นั้นมีค่าการสะท้อนแสงหรืออัลเบโด (Albedo) ที่ 0.12 หรือ สะท้อนแสงได้เพียง 12% เท่านั้นเมื่อเทียบกับวัตถุอื่นในระบบสุริยะของเราอย่างดาวศุกร์ที่มีค่าอัลเบโด 0.77 หรือดวงจันทร์ยูโรปาที่ 0.67 เมื่อเทียบกันแล้ว ดวงจันทร์ของเรานั้นมีค่าการสะท้อนแสงที่ต่ำมาก ๆ แล้วทำไมเราจึงเห็นดวงจันทร์ของเราสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืนอยู่ดี
เหตุผลก็เป็นเพราะว่าดวงจันทร์นั้นอยู่ใกล้โลกมากเมื่อเทียบกับวัตถุอื่น ๆ และไม่มีวัตถุอื่นที่อยู่ใกล้กับโลกมากเท่ากับดวงจันทร์ทำให้เราเห็นดวงจันทร์นั้นสว่างที่สุดบนท้องฟ้าเมื่อเทียบกับวัตถุอื่น ๆ ในระบบสุริยะ
ที่เราเห็นดวงจันทร์มีสีที่ขาวและสว่างทั้งที่ความจริงพื้นผิวนั้นมีสีเทาคล้ำก็เป็นเพราะว่าพื้นที่บนท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้นไม่มีแสงสว่างอื่นเลย เมื่อดวงจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้า มันจึงกลายเป็นจุดสังเกตเดียวบนท้องฟ้าที่สว่างที่สุดและดวงตาของเราปรับค่าความสว่างและสีที่มองเห็น ตีความว่าดวงจันทร์นั้นสว่างและมีสีของพื้นผิวที่เป็นสีขาว
อีกทั้งชั้นบรรยากาศของโลกก็มีส่วนที่ทำหน้าที่ในการกระเจิงแสง ทำให้แสงสว่างที่มาจากดวงจันทร์นั้นฟุ้งทำให้เหมือนดวงจันทร์นั้นสว่างขึ้นกว่าความเป็นจริง และนั้นคือเหตุผลที่เราเห็นแสงของดวงจันทร์ออกไปทางนวล ขาว และบางครั้งเห็นแสงของดวงจันทร์ออกไปในโทนสีเหลืองด้วย
เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าพื้นผิวของดวงจันทร์นั้นมีสีเข้ม เทา และดำ หากไม่มีการสำรวจอวกาศและการเก็บตัวอย่างของดินจากดวงจันทร์เดินทางกลับมายังโลก นี่คือหนึ่งในข้อสำคัญของการเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์กลับมา และยังมีอีกหลายปริศนาบนดวงจันทร์ที่รอคอยการค้นพบอีกมากมายรออยู่บนนั้น
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech