กล่าวถึง ‘วงการกีฬา’ เรามักจะนึกถึงแมตช์ในตำนาน นักกีฬาในดวงใจ หรือสุดยอดโค้ชที่ประสบความสำเร็จในการพานักกีฬาคว้าชัยชนะ แต่หากพูดถึง ‘นักพากย์’ คงเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่ง ที่คอกีฬาอาจไม่ได้ถูกนึกถึงเป็นสิ่งแรก ทั้งที่นักพากย์มีบทบาทในฐานะผู้ให้ข้อมูล และผู้เชื่อมต่อคนดูกับเกมกีฬาเข้าด้วยกัน
นักพากย์กีฬาที่คนวัยพ่อแม่ หรือปู่ยาตายายรู้จักกันดี คงเป็น ‘น้าติง` หรือ ‘สุวัฒน์ กลิ่นเกษร’ นักพากย์กีฬามวยปล้ำในตำนาน ที่ครบเครื่องไปด้วยลีลาและเอกลักษณ์ในการบรรยาย ทำให้กีฬามวยปล้ำเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากขึ้นในยุคสมัยนั้น นอกจากบทบาทนักพากย์แล้ว น้าติงยังเป็น ‘อาจารย์’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นที่รักของนิสิตทั้งหลาย ผ่านการเรียนการสอนที่ปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย และเข้าใจเด็กเจนเนอเรชัน Z (เจน Z) มากยิ่งขึ้น ผ่านมุมมองการทำงานของคนวัย Baby Boomer แบบน้าติง
สถานการณ์ในสังคมปัจจุบัน กลุ่มคนวัย ‘Baby Boomer’ และ ‘เจน Z’ เริ่มผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะสังคมการเรียนการสอน หรือสังคมในที่ทำงาน คนสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างในการมองโลก ประสบการณ์การทำงาน และการเติบโต ผลที่ตามมาอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง (confict) ผ่านความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน หรืออาจเปรียบได้กับคำว่า ‘มวยคนละรุ่น’ วลีที่ไว้เปรียบถึง ความห่างชั้น ความต่างประสบการณ์ของคนสองคน
และเมื่อเทียบข้อมูลความแตกต่างของคน 2 ยุคสมัย พบว่า..
- Generation Baby Boomer (เจน B) กลุ่มคนวัย 60 ปีขึ้นไปในสังคม ที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ต้องฟื้นฟูประเทศหลังภาวะสงคราม กลุ่มคนเจเนอเรชันนี้มีลักษณะนิสัยที่เคร่งครัด จริงจัง ทุ่มเทให้กับการทำงาน มีความอดทน อาจไม่ถนัดในการเรียนรู้เทคโนโลยี และมักถูกมองว่าเป็น ‘อนุรักษ์นิยม’
- Generation Z (เจน Z) หรือเด็กที่เกิดตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เป็นกลุ่มคนที่เกิดในยุคที่มีเทคโนโลยีรอบด้าน เพียบพร้อมด้วยความสะดวกสบาย มีความเป็น ‘สมัยนิยม’ เชื่อมั่นในตัวเอง พร้อมเรียนรู้และค้นหาสิ่งใหม่ด้วยตนเอง แต่ความอดทนอาจไม่สูงเท่าคนเจนเนอเรชันอื่น
จากข้อมูลเห็นได้ว่า มีหลายสิ่งที่แตกต่างกันของกลุ่มคน 2 ยุคสมัย โดยเฉพาะประเด็นเทคโนโลยี การมองโลก ‘อนุรักษ์นิยม’ กับ ‘สมัยนิยม’ และความอดทน หากคนวัย Baby Boomer อยากจะเข้าหา เข้าใจ หรือเอาใจเด็กเจน Z ควรมีวิธีในการปรับตัว ตามต่อไปนี้
- ให้ความสนใจ โดยเฉพาะในสิ่งที่เหล่าเจน Z กำลังคิดหรือทำ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นให้เขาอยากจะนำเสนอหรือพัฒนาตัวเองต่อไป
- เปิดใจรับฟัง ผ่านที่ประชุมหรือข้อเสนอที่เจน Z ได้พูดออกไป โดยต้องเป็นการรับฟังที่ปราศจากอคติ และรับฟังอย่างตั้งใจในประเด็นนั้น ๆ
- เสริมสร้างบรรยากาศที่ดี เช่น การลดกำแพงระหว่างผู้อาวุโสและผู้น้อยในที่ทำงาน การพัฒนาบริษัทเพื่อมุ่งสู่ Happy Workplace ผ่านการมีสวัสดิการที่ครอบคลุม กิจกรรมให้พนักงานทำระหว่างวันเพื่อลดความตึงเครียดหรือเหนื่อยล้า
- เน้นโครงสร้างการทำงานแบบไม่เป็นลำดับขั้น (Non-hierarchical sturture) กล่าวคือ เป็นกระบวนการทำงานที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการตัดสินใจอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่รูปแบบการทำงานที่ต้องรอรับคำสั่งและรอการตัดสินใจจากผู้อาวุโสเท่านั้น
- มีความยืดหยุ่น ทั้งในระยะเวลาการทำงานที่ไม่เร่งรัดเกินไป หรือเวลาการเข้า-ออกงานที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดเวลา
ข้อแนะนำเบื้องต้น แม้จะเป็นข้อแนะนำเพื่อกลุ่มคน Baby Boomer ที่อยากจะปรับตัวเข้าหาเด็กเจน Z แต่ในขณะเดียวกันเด็กเจน Z ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนรุ่น Baby Boomer ผ่าน ‘การเคารพ’ และ ‘การให้เกียรติ’ และเชื่อว่า ‘ความขัดแย้ง’ ในสังคมของคนสองกลุ่มที่ต่างความคิด และต่างประสบการณ์จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน
วลีที่ว่า ‘มวยคนละรุ่น’ คงใช้ไม่ได้กับน้าติงและลูกศิษย์มหาวิทยาลัยของเขา ที่แม้จะต่างวัย ต่างประสบการณ์ แต่ไร้กำแพงของการเข้าถึงและการสอน ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย เพราะน้าติงเข้าใจและเรียนรู้ที่จะปรับตัว พร้อมสนุกไปกับเด็กรุ่นใหม่ ไม่ยึดรูปแบบการสอนไปตามขนบเดิม
ตามไปดูเรื่องราวของ ‘น้าติง’ หนุ่มวัย (รุ่น) เจน B ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay/episodes/104394 หรือ https://vipa.me/
อ้างอิง
-FDMgroup